จะมีประโยชน์อะไรถ้าบอกใครๆ ว่ามีระบบที่ใช้เวลล์แสงอาทิตย์แต่ใช้งานไม่ได้ แล้วจะดีกว่าไหมถ้าเด็กๆ ที่บ้านรู้จักประโยชน์และคุณค่าของพลังงานทางเลือกผ่านการซึบซับด้วยความเข้าใจมากกว่าการท่องจำ ตามไปดู"ค่ายวิทยาศาสตร์และพลังงานบนพื้นที่ เกาะฮั่ง จ.กระบี่" ชุมชนรอบโรงไฟฟ้าที่ยังไร้ไฟฟ้าภารกิจใหม่ของเหล่านักวิจัย มจธ.
"หมู่บ้านเราแอบอาภัพเล็กๆ หมู่อื่นใกล้เคียงเขามีไฟฟ้าใช้กันมาหมดแล้วเป็น 10 ปีแล้ว แต่ที่หมู่บ้านเราไม่มี ไม่รู้สิว่าทำไม" เสียงตัดพ้อปนหัวเราะในลำคอสำเนียงทองแดง จาก มนัส เชื้อสง่า ชาวบ้านหมู่ 4 ที่บ้านเกาะฮั่ง เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ หลังถูกซักถามถึงความเป็นอยู่ก่อนหน้าที่บ้านในจะติดตั้งแผงผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เรียกว่า "ระบบโซลาร์โฮม" (Solar Home) และระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานเคลื่อนที่ได้ ที่ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นผู้ให้การสนับสนุนเข้ามาติดตั้งในหมู่บ้าน
ดร.อุสาห์ บุญบำรุง หัวหน้าทีมวิจัยห้องปฏิบัติการวิจัยบูรณาการระบบพลังงานสะอาด มจธ. กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า บ้านเกาะฮั่ง ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 ต.เกาะศรีบายอ อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ เป็นเกาะขนาดเล็กมีพื้นที่ประมาณ 15.43 ตารางกิโลเมตร เป็นชุมชนไทยพุทธ-มุสลิม มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 500 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพปลูกยางพารา และทำประมงขนาดเล็ก เป็นชุมชนรอบโรงไฟฟ้ากระบี่ที่ไม่ได้อยู่ในแผนขยายเขตบริการไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จึงไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง มีเพียงระบบโซลาร์โฮมกว่า 150 ระบบที่ภาครัฐเคยเข้ามาติดตั้งให้เพื่อเยียวยาปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าเมื่อปี 2548 ซึ่งในปัจจุบันพบว่าชำรุดเสียหายเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านเกือบทั้งหมดจึงต้องกลับไปใช้เครื่องปั่นไฟพลังงานดีเซล เพราะไม่ต้องการเสียเงินจำนวนมากไปกับการซ่อมระบบโซลาร์โฮม เพราะนอกจากจะต้องเดินทางออกจากเกาะเข้าสู่ตัวเมือง อะไหล่ของชุดอุปกรณ์ยังหาได้ยากและมีราคาค่อนข้างแพง
"เราในฐานะสถานศึกษาที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพลังงานสะอาดอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีการทำงานร่วมกับ กฟผ.อยู่บ่อยครั้ง เมื่อทราบว่าพื้นที่ชุมชนเกาะฮั่งยังไม่มีไฟฟ้าใช้โดยตรงและมีแผงโซลาร์เซลล์จำนวนมากที่ต้องการการซ่อมแซม จึงประสานงานร่วมกับทาง จ.กระบี่ เพื่อทำการศึกษาวิจัยการผลิตและใช้พลังงานทดแทนพื้นที่ และศึกษารูปแบบโรงไฟฟ้าที่เป็นไปได้ในชุมชน ซึ่งเป็นโครงการที่เพิ่งเริ่มและจำเป็นต้องใช้เวลา ในขณะที่ปัญหาการชำรุดของแผงและความไม่รู้ไม่เข้าใจของชาวบ้านยังคงอยู่ ในโอกาสนี้ มจธ. จึงจัดค่ายค่ายวิทยาศาสตร์และพลังงานขึ้นด้วย โดยมีเป้าหมายให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมและเกิดการรับรู้ตระหนักเกี่ยวกับปัญหาพลังงานในชุมชน และฝึกสอนการซ่อมบำรุงระบบโซลาร์โฮมให้กับชาวบ้านบนเกาะเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการใช้พลังงานทดแทนในชุมชน" ดร.อุสาห์ กล่าว
ดร.อุสาห์ อธิบายต่อไปว่า ค่ายวิทยาศาสตร์ที่นำมาจัดให้ความรู้แก่คนในชุมชน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ค่ายสำหรับเด็ก และค่ายสำหรับผู้ใหญ่ ค่ายสำหรับเด็กจะเป็นการให้ความรู้ควบคู่กิจกรรมสนุกสนานนอกห้องเรียน เกี่ยวกับเรื่องของโซลาร์เซลล์ ให้เด็กๆ รู้จักประโยชน์และกลไกขั้นต้นของพลังงานทางเลือก รู้วิธีการประดิษฐ์อุปกรณ์ที่ใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ เช่น เตาพลังงานแสงอาทิตย์ ที่สามารรถต้มน้ำให้ร้อน ต้มไข่ให้สุกได้จริง รู้จักการประดิษฐ์ของเล่นใบพัดหมุน ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับที่บ้านได้จริง รวมถึงการสอนให้เด็กๆ รู้จักการทำความสะอาดแผง การวางแผงโซลาร์เซลล์ในมุมที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและสามารถนำกลับไปสอนคนที่บ้านให้ใช้งานระบบโซลาร์โฮมได้อย่างยั่งยืน
"ส่วนของค่ายสำหรับผู้ใหญ่จะเป็นการนำนักศึกษาและอาจารย์จาก มจธ.ที่มีความรู้ ความสามารถทางด้านช่าง มาให้ความรู้และเทคนิคแก่ชาวบ้าน เพื่อให้สามารถซ่อมและดูแลระบบโซลาร์โฮมที่มีอยู่ในบ้านเรือนของตัวเองได้ หากเกิดการชำรุดจากการใช้เกินกำลังและการใช้แบบไม่ถูกวิธี ซึ่งหากชาวบ้านสามารถซ่อมได้เองจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ที่ต้องเดินทางนำไปเปลี่ยนหรือซ่อมในตัวเมืองได้ถึง คราวละ 500-600 บาท ซึ่งในครั้งนี้ มจธ. ได้มอบอะไหล่และเครื่องมือช่างบางส่วนไว้เป็นของใช้ส่วนกลางสำหรับคนในชุมชนด้วย" ดร.อุสาห์ เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
ด้าน อดุลย์ คลองรั้ว ชาวบ้านผู้มาเข้าร่วมฝึกทักษะช่างในค่ายครั้งนี้ เผยว่า ที่บ้านของเขามีระบบโซลาร์โฮมที่ทางภาครัฐเอามาติดตั้งให้เมื่อหลายปีก่อน แต่ตอนนี้ไม่สามารถใช้ได้เพราะระบบอินเวอร์เตอร์ชำรุดจึงปล่อยทิ้งไว้แบบเดิมเพราะไม่อยากเสียค่าใช้จ่ายเพื่อนำไปซ่อมหรือเปลี่ยนบนฝั่ง เพราะนอกจากจะต้องเดินทางเสียเวลาแล้ว อะไหล่ของโซลาร์เซลล์ยังหายาก มีราคาแพง และที่ยากไปกว่านั้นคือ ไม่ค่อยมีช่างที่ซ่อมอินเวอร์เตอร์ของโซลาร์เซลล์เป็น เมื่อทราบว่าจะมีโครงการเข้ามาสอนซ่อมจึงสมัครใจอยากมาเรียนรู้เพื่อที่จะนำไปลองใช้ซ่อมระบบโซลาร์โฮมที่บ้านของตัวเอง
"ผมทำสวนยาง ไม่มีพื้นฐานความรู้ด้านช่างมาก่อนเลย มาเข้าค่ายที่นี่ก็ดี มีคนมาช่วยสอนตั้งแต่การดูสัญญาณไฟว่าเมื่อไรไฟเข้า เมื่อไรไฟเกิน เมื่อไรฟิวส์จะขาด ทำให้เรารู้วิธีการตรวจสอบเครื่องเบื้องต้น จากนั้นก็จะสอนการซ่อมอินเวอร์เตอร์ การเปลี่ยนอุปกรณ์ บัดกรีต่างๆ ทำให้ตอนนี้พอทำเป็นบ้างแต่ยังต้องอาศัยเวลาอีกนิดหน่อย น่าเสียดายที่เวลามาฝึกสอนให้ชาวบ้านมีจำกัด ส่วนตัวอยากให้ทางมหาวิทยาลัยเปิดคอร์สสอนนานๆ เลยยิ่งดี เพราะนอกจากชาวบ้านจะกลับไปซ่อมแผงที่บ้านของตัวเองได้ ยังอาจทำให้เกิดเป็นวิชาชีพใหม่ๆ ให้คนได้เลี้ยงตัวเอง ยิ่งปัจจุบันราคายางยิ่งตกต่ำทำให้ชาวบ้านต้องมองหาช่องทางทำมาหากินมากขึ้น แล้วก็เป็นเรื่องยากมากๆ เพราะนานๆ ทีจะมีหน่วยงานที่เป็นสถานศึกษาเข้ามาในพื้นที่สักครั้งหนึ่ง" อดุลย์กล่าว
ในส่วนของ รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า การเข้ามามีบทบาทของมหาวิทยาลัยพร้อมๆ กับหน่วยงานพันธมิตรและกับชุมชนเป็นสิ่งที่ มจธ.ทำมานานแล้วในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นที่ จ.แม่ฮ่องสอน, น่าน, เชียงใหม่, บุรีรัมย์, สกลนคร, นครศรีธรรมราช, พังงา และอีกหลายๆ จังหวัดรวมทั้งกระบี่ โดยให้ลูกศิษย์เข้าไปอยู่และให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องตามพื้นที่ศึกษากับคนในพื้นที่ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ไม่ใช่นโยบายโดยตรงของมหาวิทยาลัยแต่เป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งที่จะทำให้นักศึกษาได้รับโจทย์และฝึกฝนทักษะชีวิตจากของจริง และเป็นการทำประโยชน์แบบเห็นผลให้กับสังคมอีกด้วย
"เกาะทางภาคใต้ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ยังมีอีกเยอะ ซึ่งเราก็จะขยับตามพันธมิตรของเราก็คือ กฟผ.ไปเรื่อยๆ ซึ่งในอนาคตเดี๋ยวคงได้ทราบกันว่าเป็นที่ไหนอีก แต่ไม่ว่าจะพัฒนาอะไร สิ่งที่ต้องทำก่อนคือ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่มีอยู่ และพัฒนาคนโดยการให้ความรู้ความเข้าใจ ซึ่งนี่แหละคือสิ่งที่เราต้องเข้ามาทำให้กับชาวบ้าน ก่อนที่จะมีโรงไฟฟ้าหรือการวางสายเคเบิลใต้น้ำเข้ามาหลังจากได้ข้อสรุปจากการวิจัยที่จะสำเร็จในอนาคต" รศ.ดร.ศักรินทร์ระบุ
ทั้งนี้ คณะทีมวิจัยห้องปฏิบัติการวิจัยบูรณาการระบบพลังงานสะอาด มจธ. ยังได้ส่งมอบระบบผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานชนิดเคลื่อนย้ายได้ (Package Hybrid Power Supply Model: PHP 5-2.5s) ผลงานล่าสุดของนักวิจัย ที่เป็นระบบโซลาร์เซลล์พร้อมอินเวอร์เตอร์แบบเชื่อมต่อสายส่งขนาด 1.2 กิโลวัตต์ และแบตเตอรี่ความจุ 4.8 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง สำหรับเก็บสะสมพลังงาน มีระบบควบคุมและป้องกันฟ้าผ่า มีระบบวัดและเก็บข้อมูลอุตุนิยมวิทยา (ความเข้มรังสีแสงอาทิตย์ ความเร็วลม อุณหภูมิ) มีระบบติดตามข้อมูลการทำงานผ่านสมาร์ทโฟน ทำงานอัตโนมัติ ที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากถึง 5 กิโลวัตต์ มีขนาดเล็ก เคลื่อนที่ได้ ติดตั้งสะดวก และสามารถจ่ายไฟได้ทันทีหลังการติดตั้ง เพื่อให้ชาวบ้านในชุมชนและโรงเรียนบ้านเกาะฮั่งมีไฟฟ้าใช้สำหรับเปิดหลอดไฟส่องสว่าง โทรทัศน์และตู้เย็นขนาดเล็กได้ตลอด 24 ชั่วโมง
*******************************