น้ำมันแพงไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงแค่ค่าเดินทางที่สูงขึ้นของคนเมือง แต่สำหรับคนบนเกาะ นั่นหมายถึงความยากต่อการเข้าถึงไฟฟ้าและน้ำประปา พลังงานทางเลือกอย่าง "แสงอาทิตย์" จึงเป็นสิ่งที่เข้ามาช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากเครื่องปั่นไฟดีเซล ให้ชาวบ้านชุมชนเกาะหมากน้อย จ. กระบี่ มีประปาน้ำจืดใช้ มีแสงไฟส่องสว่าง
"บนเกาะนี้ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึงหรอกครับ น้ำประปาก็ไม่มีโชคดีที่ยังมีเครื่องปั่นไฟแล้วก็แผงโซลาร์เซลล์ ที่คอยสร้างไฟฟ้าให้พวกเราไว้ใช้" ชาวบ้านชุมชนเกาะหมากน้อย จ.พังงา บอกทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ขณะลงพื้นที่พร้อมคณะนักวิจัยและทีมงานจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อศึกษาดูงานการจัดค่ายวิทยาศาสตร์ เพื่อการพลังงานแบบผสมผสานในชุมชนอย่างยั่งยืน ณ ชุมชนเกาะหมากน้อย ต.เกาะปันหยี อ.เมือง จ.พังงา
อับดลเหล๊าะ สินโต หรือ บังเลาะห์ ผู้ดูแลพลังงานแสงอาทิตย์ เล่าถึงปัญหาในพื้นที่ว่า ชุมชนบ้านเกาะหมากน้อย เป็นพื้นที่เกาะทุรกันดารไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง เพราะตั้งอยู่ไกลจากฝั่งค่อนข้างมาก ชาวบ้านในพื้นที่จึงยังไม่มีไฟฟ้าจากการไฟฟ้าใช้แบบคนบนฝั่ง อาศัยเพียงการปั่นไฟจากเครื่องปั่นไฟดีเซล ที่ทำให้ค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนค่อนข้างสูง และระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จากการเข้ามาช่วยเหลือของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในปี 2548 อันเนื่องมาจากการดำเนินโครงการเร่งรัดขยายบริการไฟฟ้าโดยระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Home System: SHS) เท่านั้น
บนหลังคาของแต่ละบ้านที่ชุมชนบ้านเกาะหมากน้อยจะมีการติดตั้งแผงผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เรียกว่า "ระบบโซลาร์โฮม" (Solar Home) อยู่ประจำแต่ละบ้าน โดยอาศัยกลไกการดูดซับความเข้มแสงมาที่แผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ ที่จะมีระบบแปลงพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าที่สามารถนำกระแสไฟฟ้ามาใช้ได้ทันที ที่ส่วนใหญ่นำมาใช้กับเครื่องไฟฟ้าเล็กๆ น้อยในครัวเรือน เช่น พัดลม หลอดไฟ โทรทัศน์ขนาด 14 นิ้วและที่สำคัญที่สุดคือ เครื่องสูบน้ำประจำบ้าน เพราะนอกจากชุมชนบ้านเกาะหมากน้อยจะไม่มีไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าใช้แล้ว น้ำประปาก็ไม่มีเช่นกัน
"เมื่อก่อนชาวบ้านต้องไปตักน้ำจากบ่อส่วนกลางที่ได้จากตาน้ำธรรมชาติมาไว้ใช้วันละหลายๆ เที่ยว ซึ่งอยู่ค่อนข้างไกลและลำบากพอสมควร ส่วนกลางของหมู่บ้านจึงได้ดำเนินการขุดสระกักน้ำฝนและตาน้ำธรรมชาติที่ผุดขึ้นมา เพื่อแจกจ่ายให้กับชาวบ้านในระบบประปาหมู่บ้านแบบเหมาจ่าย โดยใช้เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ที่อาศัยกระแสไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟแบบดีเซล ที่ทำให้ชาวบ้านได้รับความสะดวกมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องแบกรับภาระค่าน้ำในราคาเฉลี่ยสูงถึง 500 บาทต่อเดือนเช่นกัน อีกทั้งยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลก แล้วที่น่าเสียดายยิ่งกว่า คือ ระบบโซลาร์โฮมประจำบ้านเรือนส่วนใหญ่กลับใช้ไม่ได้แล้ว เพราะมีเหตุขัดข้องหลายอย่างทำให้แผงเกิดความชำรุดเสียหาย ซึ่งชาวบ้านไม่มีความรู้ความสามารถพอที่จะซ่อมเองได้ ทำให้ต้องนำไปเปลี่ยนที่องค์การบริหารส่วนตำบล หรือส่งซ่อมภายในตัวเมืองซึ่งเสียทั้งเงินและเวลา ทำให้แผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบางบ้านกลายเป็นแผ่นสีดำๆ ที่วางทิ้งไว้อย่างไร้ประโยชน์" บังเลาะห์ เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
ดร.อุสาห์ บุญบำรุง นักวิจัย มจธ. หัวหน้าโครงการกล่าวว่า ด้วยเหตุดังกล่าว มจธ. จึงเข้ามาเป็นตัวกลางประสานงานของบประมาณสนับสนุนจากแผนสนับสนุนโครงการขนาดเล็กโดยชุมชน ของกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility's Small Grants Programme: GEF SGP) เพื่อติดตั้งระบบสูบน้ำด้วยโซลาร์เซลล์แบบผสมผสานตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างคณะกรรมการหมูบ้านและนักวิจัยจาก มจธ. โดยอาศัยแรงงานในพื้นที่ โดยมีบังเลาะห์ เป็นผู้ดูแลระบบ
"หลังจากได้รับการอบรมให้ความรู้และบำรุงรักษาจากทาง มจธ.ชุมชนสามารถบริหารจัดการระบบการจ่ายน้ำ และกำหนดราคาค่าน้ำประปาได้เอง และโครงการฟื้นฟูระบบโซลาร์โฮมเพื่อสุขภาวะที่ดีของประชากรในถิ่นทุรกันดาร กรณีพื้นที่อ่าวพังงา เพื่อพัฒนาศักยภาพช่างในหมู่บ้านให้สามารถทำการซ่อมแซมระบบโซลาร์โฮมในพื้นที่ ที่มีอยู่กว่า 1,000 ระบบได้ เพื่อให้คนในชุมชนสามารถใช้พลังงานทดแทนได้อย่างยั่งยืน" ดร.อุสาห์ระบุกล่าว
โครงการสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ มีการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ ขนาด 240 วัตต์จำนวน 12 แผง และแผงขนาด 140 วัตต์จำนวน 16 แผงนี้ ดร.อุสาห์ระบุว่า ผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อสูบน้ำจากแหล่งน้ำส่วนกลางไปยังบ้านเรือนของชาวบ้านผ่านระบบท่อได้สูงสุดถึงวันละ 120-180 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ขึ้นอยู่กับปริมาณพลังงานความเข้มแสงของดวงอาทิตย์ ที่สามารถแจกจ่ายน้ำไปใช้ในการอุปโภคบริโภคเฉลี่ยได้มากกว่า 180 ครัวเรือน
"ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์นี้จะทำงานเองโดยอัตโนมัติตั้งแต่มีแสงจนหมดแสง ทำให้ผู้ดูแลไม่ต้องแบกรับภาระมากเกินไป และเป็นการช่วยประหยัดรายจ่ายลงครึ่งต่อครึ่ง จากที่แต่ก่อนชาวบ้านต้องออกค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อน้ำมันดีเซลมาเป็นพลังงานในเครื่องปั่นไฟ อีกทั้งยังเป็นการประหยัดน้ำมันดีเซลได้มากถึง 450-500 ลิตรต่อเดือน" นักวิจัย มจธ.ระบุ
ทั้งนี้ มจธ.ทำหน้าที่ให้ความรู้และเข้ามาช่วยในการดูแลระบบให้แก่ชาวบ้าน และมีการจัดค่ายวิทยาศาสตร์เพื่อให้ความรู้ด้านช่างกับคนในชุมชน เพื่อนำมาใช้กับระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ของชุมชน แล้วสามารถกลับไปซ่อมแซมระบบโซลาร์โฮมที่บ้านเรือนของตัวเองได้หลังจากพบปัญหาว่ามีการชำรุดบ่อย เนื่องจากการใช้เกินกำลังและปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเช่น ฟ้าผ่าลงบริเวณใกล้เคียงทำให้แผงโซลาร์ได้รับความเสียหาย เป็นต้น
ในส่วนของ "บังหยัด" หรือ บังยัด หมั่นกุล ชาวบ้านในพื้นที่ผู้ได้รับประโยชน์จากระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ และผู้ได้รับการติดตั้งระบบโซลาร์โฮมที่บ้าน กล่าวว่า ตั้งแต่มีระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ การใช้ชีวิตก็ง่ายขึ้นหลายๆ ด้าน เขาไม่ต้องออกไปตักน้ำไกลๆ ไม่ต้องจุดเทียนตอนกลางคืน เพราะมีทั้งน้ำและไฟฟ้าใช้ แม้จะไม่ได้มีตลอด 24 ชั่วโมงก็ตาม เนื่องจากเมื่อใดที่แสงอาทิตย์หมด แผงเซลล์แสงอาทิตย์ก็จะใช้ไม่ได้ ทำให้ยังคงต้องใช้เครื่องปั่นไฟแบบดีเซลอยู่ดีหากจำเป็นต้องใช้ไฟตอนกลางคืน
"อย่างไรก็ดี ช่วยทุ่นค่าใช้จ่ายไปได้เยอะแทนที่จะต้องใช้เครื่องปั่นไฟอย่างเดียว ซึ่งผมเองรู้สึกพอใจ และคิดว่าชาวบ้านคนอื่นๆ ก็น่าจะยินดีและพอใจเช่นกัน ที่มีการสนับสนุนระบบโซลาร์โฮมกว่า 100 ระบบในชุมชนบ้านเกาะหมาก เพราะทุกคนที่นี่อยู่กันแบบพอเพียง ไม่ฟุ่มเฟือยจึงไม่มีการ้เครื่องใช้ไฟฟ้าเกินความจำเป็น จะใช้เพียงแค่สำหรับการเปิดพัดลม หลอดไฟ หรือโทรทัศน์เครื่องเล็กๆ เท่านั้น แต่ก็ยินดีหากในอนาคตจะมีการนำระบบไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเข้ามาในชุมชน" บังหยัดกล่าว
ด้าน รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า การที่มหาวิทยาลัยเข้ามามีบทบาทกับชุมชนในเรื่องของการพัฒนากำลังคน สืบเนื่องมาจาก มจธ. เป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งการส่งนักวิจัยและนักศึกษาเข้ามาให้ความรู้และถ่ายทอดการดูแลระบบพลังงานทดแทนให้กับคนในพื้นที่นับเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่สถานศึกษาควรเข้ามามีส่วนร่วม
"มจธ.เองก็เป็นหน่วยงานพันธมิตรกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอยู่แล้ว การเข้ามาช่วยสนับสนุนให้โครงการสามารถดำเนินไปได้อย่างยั่งยืนจะเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายโดยเฉพาะคนในพื้นที่ และนักศึกษาที่เข้ามาถ่ายทอดความรู้ก็จะได้ประสบการณ์ตรงทำให้เมื่อจบการศึกษาออกไปเด็กๆ เหล่านี้จะเป็นคนที่มีความรู้รอบ จากการลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้ปัญหาด้วยตัวเอง ซึ่งโครงการในลักษณะนี้นี้ยังมีการขยายไปในอีกหลายๆ ชุมชนในหลายๆ จังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย" อธิการบดีระบุ
*******************************