มูลนิธิวิจัย “หม้อข้าวหม้อแกงลิง” เผยพบว่าหม้อข้าวหม้อแกงลิงในสงขลาที่รู้จักกันมา 30 ปีเป็นพืชสปีชีส์ใหม่ พร้อมระบุสถานการณ์พืชกินเนื้อเหล่านี้กำลังอยู่ในขั้นวิกฤตเสี่ยงสูญพันธุ์ เพราะอยู่ในพื้นที่จำกัดและถูกคุกคาม อีกทั้งบางชนิดที่เข้าใจว่ามีเพียงชนิดเดียวยังมีความแตกต่างถึง 7 สายพันธุ์และเหลืออยู่น้อย
ชอว์น มาเยส (Shawn Mayes) เลขาธิการมูลนิธิเพื่อการศึกษาและวิจัยหม้อข้าวหม้อแกงลิงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asian Nepenthes Study & Research Foundation: SEANSRF) ซึ่งมีโรงเรือนเพาะหม้อข้าวหม้อแกงลิงบน อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎรธานี เผยว่าในเดือน มี.ค.นี้หม้อข้าวหม้อแกงลิงที่นักวิจัยไทยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ค้นพบนั้นได้รับการยืนยันว่าเป็นพืชชนิดใหม่หรือสปีชีส์ใหม่
หม้อข้าวหม้อแกงดังกล่าวได้รับการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า นีเพนธีส กองกานดานา (Nepenthes kongkandana) และตีพิมพ์เผยแพร่ลงสารวิชาการ AIPC Magazine ซึ่งเป็นวารสารวิชาการของสมาคมพืชกินแมลงอิตาลี โดยมาเยสเผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า หม้อข้าวหม้อลิงชนิดนี้เป็นที่รู้จักกันมากว่า 30 ปีในชื่อ “เสือไทย” (Thai Tiger) ซึ่งมีแตกต่างกัน 7 ชนิดและเรียกชื่อตามถิ่นที่พบ เช่น เสือจากตราด เสือจากอีสาน เป็นต้น แต่เพิ่งมีการศึกษาและตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษว่าเป็นชนิดใหม่ โดยแต่ละชนิดมีลักษณะภายนอกที่มีรายละเอียดต่างกัน แต่บางครั้งแยกด้วยตาเปล่าได้ยาก
จากรายงานที่สรุปจากวารสารระบุว่า มีการสำรวจและบันทึกเกี่ยวกับนีเพนธีส กองกานดานา เมื่อปี 2550 โดยพบในพื้นที่ 9 แห่งของ 2 จังหวัด คือ จ.สงขลา และ จ.ปัตตานี แต่ตัวอย่างในปัตตานีเป็นเพียงภาพถ่ายและรายงานบันทึกการค้นพบ ขณะที่การสำรวจในพื้นที่ จ.สงขลาพบหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดนี้ไม่ถึง 600 ต้น และยังพบด้วยว่าบางพื้นที่ที่พบนั้นถูกทำลายด้วยโครงการพัฒนาที่ดิน การตัดถนนและการลักลอบขุดไปปลูกหรือจำหน่าย
อีกทั้งเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาเพิ่งมีหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่ได้รับการตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการฉบับเดียวกันว่า เป็นสปีชีส์ใหม่ คือ นีเพนธิส โรเซ (Nepenthes Rosea) ซึ่งพบที่ จ.กระบี่ และได้ตัวอย่างจากพิพิธภัณฑ์พืช ภาควิชาการพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อย่างไรก็ดี มาเยสกล่าวว่าสถานการณ์หม้อข้าวหม้อแกงลิงกำลังน่าเป็นห่วง เพราะถิ่นอาศัยของพืชกินแมลงนี้มีอยู่กำจัดและกำลังถูกคุกคาม โดยบางสปีชีส์พบอยู่ในพื้นที่ไม่กี่แห่ง อีกทั้งยังมีการลักลอบขุดออกไปขาย ซึ่งเป็นการทำลายพืชที่ใกล้สูญพันธุ์นี้ แต่มูลนิของเขาพยายามอนุรักษ์สายพันธุ์ของหม้อข้าวหม้อแกงลิง โดยการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งได้ดำเนินการอบรมและจัดค่ายวิทยาศาสตร์เพื่อให้ความรู้ในเรื่องตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศไทยรวม 55 โรงเรียน นอกจากนี้ยังมีแหล่งอนุรักษ์อีก 4 แห่งใน จ.ตรัง จ.สุราษฎร์ธานี จ.สงขลา และ จ.พังงา
สำหรับการศึกษาหม้อข้าวหม้อแกงลิงนั้นมาเยสกล่าวว่า ทางมูลนิธิมีความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยทางมูลนิจะทำให้งานโดยให้ความช่วยเหลือนักวิทยาศาสตร์และชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของพืชชนิดนี้ ซึ่งนอกจากการจำแนกสปีชีส์แล้ว ยังอาจศึกษาไปถึงเชื้อราหรือแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในหม้อข้าวหม้อแกง ที่อาจนำไปสู่การค้นพบยาปฏิชีวนะยาต้านอนุมูลอิสระหรือยาต้านมะเร็งได้
ผลงานของมูลนิธิเพื่อการศึกษาและวิจัยหม้อข้าวหม้อแกงลิงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายในงานประชุมวิชาการ สวทช.ประจำปี 2558 (NSTDA Annual Conference: NAC2015) ของสำนักงานพัมนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มี.ค.-2 เม.ย.58 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
*******************************