xs
xsm
sm
md
lg

เราจะมีสถาบันเทคโนโลยีเพื่อผู้พิการและผู้สูงอายุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิเดชขจร
ในขณะที่ผู้พิการในประเทศพัฒนาแล้วสามารถใช้ชีวิตได้อย่างคนปกติ ไม่ว่าจะหูหนวก ตาบอด แขนขาด ขาขาด พวกเขาก็ออกไปใช้ชีวิตในสังคมได้โดยไม่เป็นภาระแก่คนรอบข้าง หันหลับมาเมืองไทยถ้าไม่ขายลอตเตอรี่ เราก็นึกภาพอื่นของพวกเขาไม่ออก ทั้งที่หากได้รับโอกาสให้ดูแลตัวเองได้พวกเขาสามารถสร้างคุณค่าให้แก่สังคมได้ไม่ต่างจากผู้ที่มีร่างกายสมบูรณ์

“เทคโนโลยีเพื่อผู้พิการ” เป็นหนึ่งในทางออกของปัญหาดังกล่าว โดย ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ระบุว่า การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อคนพิการเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2539 จากโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อคนพิการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

โครงการดังกล่าวยังเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มีเป้าหมายเสริมสร้างศักยภาพคนพิการให้ดำเนินชีวิตร่วมกับคนทั่วไปในสังคมตามหลักความเสมอภาคในเรื่องโอกาสและการดำรงชีวิตอิสระ โดยเน้นให้คนพิการได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ ได้รับการศึกษา และส่งเสริมให้ประกอบอาชีพได้ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีอำนวยความสะดวก

การดำเนินโครงการเป็นไปในรูปแบบการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ ภายใต้ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กระทั่งคณะกรรมธิการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒสภา เสนอว่าควรจัดตั้ง “สถาบันเทคโนโลยีเพื่อคนพิการและผู้สุงอายุ” ที่แยกตัวออกมาเป็นองค์การมหาชน ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ความจำเป็นในการเสนอจัดตั้งเป็นองค์การมหาชนนั้น ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิเดชขจร ผู้อำนวยการเนคเทค อธิบายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เพราะเป็นรูปแบบองค์กรที่สามารถบริหารจัดการด้วยตัวเองได้ และสถาบันไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เพียงลำพัง แต่ยังมีความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร 4 กระทรวง คือ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ล่าสุดเพิ่งมีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไปเมื่อวันที่ 25 พ.ย.57 ณ โรงแรมเดอะสุโกศล ซึ่ง ดร.ศรัณย์ระบุว่า การประชุมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในขั้นตอนการตั้งสถาบันที่ต้องเปิดรับความคิดเห็น แต่ว่าจะมาถึงขั้นการเดินหน้าตั้งสถาบันดังกล่าว ผู้เกี่ยวข้องได้ทำการบ้านมาเป็นเวลาหลายปี แต่การเปิดรบฟังความคิดเป็นการทบทวนอีกรอบ ฟังความเห้นทั้งเชิงลบและเชิงบวก หากไม่มีอะไรเพิ่มเติมก็สามารถเสนอรับบาลในการจัดตั้งสถาบันได้เลย

สถาบันดังกล่าวไม่เพียงมุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผู้พิการแต่ยังมีกลุ่มเป้าหมายเพื่อผู้สูงอายุด้วย โดย น.ส.วันทนีย์ พันธชาติ ผู้อำนวยการอาวุโสสถาบันเทคโนโลยีเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ เนคเทค กล่าวว่า กลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคมมีหลายกลุ่ม และเป้าหมายของสถาบันคือเปิดโอกาสให้แก่ผู้ด้อยโอกาสที่ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสได้ สามารถเข้าสู่สังคมและใช้ชีวิตกับผู้อื่นสามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐ ซึ่งต้องออกแบบให้เป็นสากล แต่การเปลี่ยนบริการทั้งหมดของประเทศเพื่อรองรับผู้ด้อยโอกาสไม่สามารถทำได้ ดังนั้น จึงเน้นที่ผู้พิการและสูงอายุก่อน

“ถ้า 2 กลุ่มนี้เข้าถึงบริการของรัฐ กลุ่มอื่นๆ ย่อมได้” น.ส.วันทนีย์กล่าว และบอกว่าก้อนหน้านี้เน้นเฉพาะเทคโนโลยีเพื่อผู้พิการ แต่เมื่อนักวิจัยแก้โจทย์ไปเรื่อยๆ ก็พบว่าโจทย์ของผู้พิการและผู้สูงอายุ ซึ่งจะเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ในอนาคตมีรูปแบบปัญหาใกล้เคียงกัน และนอกจากพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อกลุ่มเป้าหมายทั้งสองแล้ว ทางสถาบันยังมีเป้าหมายพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่เชิงพาณิชย์เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงได้ง่ายขึ้นด้วย

ดร.ศรัณย์ ระบุถึงบทบาทของสถาบันที่จะตั้งขึ้นว่า มีหน้าที่ 4 ด้านของสถาบันคือ ด้านการทำวิจัยและพัฒนา ด้านศึกษาและประเมินเทคโนโลยีกับนโยบายที่เกี่ยวข้อง ด้านทดสอบและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และด้านส่งเสิรมพัฒนาให้เกิดธุรกิจเทคโนโลยีเพื่อผู้พิการและสูงอายุ และไม่ใช่การทำงานของภาครัฐ 100% แต่ยังมีความร่วมมือกับพันธมิตรและภาคเอกชน ซึ่งการจัดตั้งสถาบันจะทำได้ครบทุกด้าน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่ผู้พิการและสูงอายุ เพราะเมื่อกลุ่มคนเหล่านั้นทำงานก็จะประกอบอาชีพได้ ซึ่งจากการประเมินของนักเศรษฐศาสตร์พบว่า การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผู้พิการและสูงอายุจะสร้างมูลค่าทางธุรกิจมากถึง 7 แสนล้านบาท
การประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ
นอกจากนี้ น.ส.วันทนีย์ยังกล่าวถึงกลไกของภาครัฐที่ส่งเสริมให้ผู้พิการสามารถประกอบอาชีพได้จากพระราชบัญญัติที่กำหนดว่า หน่วยงานที่มีพนักงานทุกๆ 100 คนต้องรับผู้พิการเข้าทำงาน 1 คน หากบริษัทใดไม่ว่าจ้างผู้พิการต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในอัตราค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท แต่ปัจจุบันกองทุนดังกล่าวมีเงินมากถึง 6 พันล้าน ซึ่งไม่เป็นเรื่องที่น่ายินดีเพราะแสดงให้เห็นว่าบริษัทต่างๆ ยินดีจ่ายเงินเข้ากองทุนมากกว่าว่าจ้างผู้พิการให้มีรายได้ อย่างไรก็ดี หน้าที่ของสถาบันคือพัฒนาเทคโนโลยีที่ส่งเสริมให้ผู้พิการและผู้สูงอายุสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้

“ต้องไม่มีคนพิการที่ต้องอยู่บ้านเพราะอับอาย หรือผู้สุงอายุที่รอลูกหลานพาออกไปข้างนอก ภาครัฐต้องจัดหาบริการและการออกแบบที่เป็นสากลเพื่อรองรับกลุ่มผู้พิการและสูงอายุ ซึ่งมีกฎหมายครอบคลุมแล้ว เหลือเพียงการนำไปปฏิบัติ และรัฐต้องสร้างการตระหนักรู้ว่ามีบริการเหล่านั้น” น.ส.วันทนีย์กล่าว

ทางด้าน ต่อพงศ์ เสลานนท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย รู้สึกยินดีต่อการจัดตั้งสถาบันดังกล่าว และมองว่าเป็นความหวังของผู้พิการ พร้อมระบุว่าที่ผ่านมาการจะพัฒนาเทคโนโลยีอะไรสักอย่างต้องทำทีละโครงการร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ ทีละโครงการ ทำให้ไปไม่ถึงฝั่ง ซึ่งเขาหวังว่าการตั้งสถาบันจะช่วยให้เทคโนโลยีที่ปกติมีราคาและต้องนำเข้ามีราคาถูกต้อง พร้อมเสนอแนวคิดว่า กลุ่มเป้าหมายของสถาบันมี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มปัจเจกหรือบุคคลที่ใช้เทคโนโลยี ภาครัฐที่ทำระบบบริการสาธารณะ และภาคเอกชน ซึ่งหากภาครัฐมีระบบที่ชัดเจน และกลุ่มปัจเจกมีกำลังซื้อ เขาเชื่อว่าเอกชนจะปรับตัวได้เอง

ส่วน วิทยุต บุนนาค นายกสมาคมคนหูหนวกแห่งกรุงเทพมหานคร รู้สึกยินดีต่อการเตรียมจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อผู้พิการและสูงอายุเช่นกัน แต่ได้ให้มุมมองว่าเทคโนโลยีของไทยยังล่าประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ ถึง 20 ปี โดยตัวเขาเองจบการศึกษาระดับ ม.ต้นในเมืองไทย แต่ไปศึกษาต่อที่สหรัฐฯ จนปริญญาโทและใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น 17 ปี ทำให้เขาเห็นชัดเจนถึงความล้าหลังของเทคโนโลยีเพื่อผู้พิการในเมืองไทย เมื่อกลับมาเมืองไทยก็ยังเห็นความล้าหลังอยู่เท่าเดิม  

พร้อมยกตัวอย่างว่าปัจจุบันสหรัฐฯ มีแอปพลิเคชันในแท็บเล็ตที่จับท่าทางภาษามือแล้วแปลงสัญญาณออกมาเป็นเสียง แต่ยังมีปัญหาเรื่องไวยากรณ์อยู่บ้าง และสหรัฐฯ ยังมีระบบเปิด-ปิดคำบรรยายทางโทรทัศน์ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับคนหูหนวกที่ต้องการอ่านคำบรรยาย และคนปกติที่ไม่ต้องการอ่านคำบรรยาย แต่สำหรับเมืองไทยคนหูหนวกส่วนใหญ่ต้องการล่ามภาษามือ เนื่องจากคนหูหนวกไม่ชอบภาษาไทยเพราะมีไวยากรณ์ต่างจากภาษามือ แต่เขาชอบทั้งภาษามือและภาษาไทย และอยากให้มีบริการคำบรรยายใต้ภาพมากกว่าเพราะสื่อสารได้ครบ

“ล่ามภาษามืออาจแปลคลาดเคลื่อน ซึ่งล่ามต้องยอมรับ และล่ามที่มีประสิทธิภาพในการแปลภาษามือได้เกิน 80% ในเมืองไทยมีไม่เกิน 20 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อย” วิทยุตแสดงความเห็นผ่านภาษามือและแปลผ่านล่าม และยังกล่าวถึงอุปสรรคในการจัดทำล่ามภาษามือทางโทรทัศน์ว่า แม้จะมีกฎหมายบังคับแล้ว แต่ผู้ประกอบการยังไม่ทำเนื่องจากมีต้นทุนสูง พร้อมทั้งเสนอความเห็นว่าควรมีสถาบันที่จัดทำคำบรรยายรายการโทรทัศน์ระดับชาติเพื่อลดภาระของผู้ประกอบการ







*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น