“ทียูเอฟ” เอกชนสัญชาติไทยผู้ผลิตทูน่ากระป๋องอันดับหนึ่งของโลกทุ่มงบ 100 ล้านสร้างแล็บวิจัยนวัตกรรมอาหารจากทูน่า เพื่อเพิ่มมูลค่าและใช้ประโยชน์จากทูน่าได้ทั้งตัว ตั้งเป้าใช้งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสร้างรายได้ให้บริษัทไปถึง 8 พันล้านดอลลาร์ในอีก 6 ปี
บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือทียูเอฟ ผู้ผลิตปลาทูน่าบรรจุกระป๋องอันดับหนึ่งของโลก เปิดศูนย์นวัตกรรมแห่งแรก (Global Innovation Incubator) หรือจีไอไอ (GII) ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท โดย ธีรพงษ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยนกว่าการลงทุนวิจัยและพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมทูน่าซึ่งสร้างรายได้หลักให้แก่บริษัทมากกว่า 50% จะช่วยผลักดันรายได้ของกลุ่มให้ไปถึง 8 พันล้านเหรียญสหรัฐในอีก 6 ปีข้างหน้าตามเป้าหมาย
“ที่ผ่านมางานวิจัยและพัฒนาของกลุ่มทียูเอฟที่มีผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกกว่า 100 คนนั้นจะเน้นไปเรื่องการปรับปรุงรสชาติและบรรจุภัณฑ์ แต่ในฐานะที่เป็นผู้นำ เราจะต้องก้าวนำคู่แข่งโดยเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนาธุรกิจอีกระดับ ซึ่งต้องอาศัยนักวิทยาศาสตร์ที่มีความรู้ลึกซึ้ง และจะต้องทำให้ทุกชิ้นส่วนของทูน่านำมาใช้ประโยชน์ได้ ในส่วนของเนื้อเราใช้เป็นอาหารคน ส่วนเลือดเรานำไปผลิตเป็นอาหารแมว แต่กระดูก หนังและส่วนอื่นๆ เราเอาไปขายให้อุตสาหกรรมปลาป่น เราอย่างเพิ่มมูลค่าของที่เรามีอยู่ และเรามีศักยภาพมากพอที่จะลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเป็นอันหนึ่งแซงคู่แข่ง เพราะทูน่ากระป๋องเปิดมาก็คล้ายๆ กัน ซึ่งท้ายสุดสินค้าที่คล้ายๆ กันในตลาดต้องลงไปแข่งขันกันเรื่องราคา จะทำยังไงให้สินค้าเราแตกต่างจากคู่แข่ง” ธีรพงษ์เผย และระบุว่าเป็นครั้งแรกของอุตสาหกรรมปลาทูน่าที่มีการลงทุนวิจัยและพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ทางด้าน ศ.ดร.ศกรณ์ มงคลสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่างานวิจัยภายในศูนย์นวัตกรรมดังกล่าวจะเน้นเรื่องทูน่าเป็นหลัก โดมีการศึกษาในหลายด้านที่เกี่ยวข้อง เช่น การศึกษาเรื่อแงโปรตีน ไขมัน ดีเอ็นเอ รวมถึงการศึกษาความยั่งยืนในการทำอุตสาหกรรมทูน่าด้วย โดยศูนย์ดังกล่าวใช้สถานที่ของคณะวิทยาศาสตร์มหิดล และผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งจากมหิดลและมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วประเทศ ส่วนทางทียูเอฟจะลงทุนในเรื่องเครื่องมือวิทยาศาสตร์ งบวิจัยและโครงการวิจัย และผู้เชี่ยวชาญจากทียูเอฟส่วนหนึ่ง โดยมีระยะเวลาความร่วมมือนี้ 3 ปี
ทางด้าน ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการด้านนวัตกรรม กลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยน กล่าวว่าศูนย์นวัตกรรมแห่งแรกของทียูเอฟจะเริ่มงานวิจัยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.58 โดยตั้งเป้าหมายภายใน 1-2 ปีจะได้ผลงานนวัตกรรมจากการค้นคว้าออก ซึ่งที่ผ่านมางานวิจัยของทางกลุ่มจะเป็นงานวิจัยระยะสั้นที่ใช้เวลาไม่กี่เดือน แต่สำหรับงานวิจัยจากศูนย์นวัตกรรมจะเป็นงานวิจัยที่มีความลึกซึ้งทางด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น ส่วนเหตุผลที่เลือกมหาวิทยาลัยมหิดลนั้นเนื่องจากเป็นสถาบันที่มีความพร้อมที่สุด แม้ว่าจะมีหลายๆ สถาบันที่มีศักยภาพเช่นเดียวกัน แต่เมื่อพิจารณาเรื่องความพร้อมจึงลงตัวที่มหาวิทยาลัยมหิดล
นอกจากนี้ ดร.ธัญญวัฒน์เผยว่าจากความร่วมมือครั้งนี้ยังมองเห็นโอกาสในการพัฒนาบุคลากรของบริษัทที่ต้องการศึกษาต่อระดับปริญญาโท-เอก ก็อาจมาทำงานวิจัยภายในศูนย์นวัตกรรมโดยถือเป็นการทำงานที่ได้วุฒิการศึกษาไปพร้อมๆ กัน ทั้งนี้ ภายในศูนยนวัตกรรมจะประกอบด้วยทีมนักวิจัยกว่า 60 คน โดยแบ่งเป็นคณะที่ปรึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ 5 คน คณะนักวิจัยผู้ทรงคุณวุฒิ 16 คน ผู้ช่วยนักวิจัย 24 คน และทีมนักวิจัยจากทียูเอฟอีก 20 คน
ภายในศูนย์นวัตกรรมทีนูเอฟแบ่งออกเป็น 6 ฐานปฏิบัติการ คือ 1.การศึกษาข้อมูลพื้นฐานปลา 2.การศึกษาปลาทูน่าเพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพและอนามัย 3.การศึกษาเทคโนโลยีใหม่ๆ สำหรับการผลิตและแปรรูปปลาทูน่า 4.การศึกษาเพื่อเพิ่มมูลค่าผลพลอยได้จากการผลิตทูน่า 5.การศึกษาคุณสมบัติทางด้านประสาทสัมผัสและความต้องการของผู้บริโภคของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่า และ6.การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าใหม่
ศ.ดร.ภาวิณี ชินะโชติ จากสถานวิจัยผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและอาหารเพื่อสุขภาพ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และเป็นหนึ่งในคณะนักวิจัยผู้ทรงคุณวุฒิของจีไอไอ ผู้มีประสบการณ์วิจัยอาหารในบริษัทเอกชนของสหรัฐฯ กว่า 30 ปี บอกแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีศูนย์นวัตกรรมเพื่อการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมทูน่า และเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก ซึ่งปัญหาใหญ่ของอุตสาหกรรมทูน่าคือเรานำมาใช้เป็นโปรตีนได้เพียง 40-50% ส่วนที่เหลือเราส่งขายในราคาต่ำ ทั้งที่เรามีโอกาสสร้างผลิตภัณฑ์ที่โลกต้องการและมูลค่าสูงได้
“นอกจากการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าสูงแล้วยังต้องพัฒนากระบวนการผลิตที่ประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ไม่ให้ทูน่าสูญหายไปจากโลก ดังนั้น เมื่อจับมาแล้วต้องใช้ให้คุ้มทั้งตัว” ศ.ดร.ภาวิณีกล่าว
ทางด้าน ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นประธานเปิดศูนย์นวัตกรรมแห่งแรกของกลุ่มไทยยูเนี่ยนกล่าวว่า การลงทุนวิจัยและพัฒนาของทียูเอฟในครั้งนี้จะเปน็นส่วนช่วยให้สัดส่วนการลงทุนวิจัยและพัฒนาจากภาคเอกชนเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ตั้งเป้าให้สัดส่วนการลงทุนวิจัยระหว่างภาครัฐและเอกชนเป็น 30 ต่อ 70 ซึ่งปี 2556 ที่ผ่านมาพบว่าภาคเอกชนของไทยมีการลงทุนวิจัยและพัฒนามากกว่าการลงทุนวิจัยของภาครัฐที่ 2 หมื่นล้านบาทหรือคิดเป็น 0.2% ของจีดีพี
"เป้าหมายที่รัฐบาลพยายามผลักดันคือการเพิ่มการลงทุนวิจัยและพัฒนาให้ถึง 1% ของจีดีพี โดยเพิ่มการลงทุนในส่วนของเอกชนให้มากขึ้น นอกจากนี้ในอีกไม่ 1 เดือนข้างหน้าจะเสนอนโยบายการเคลื่อนย้ายกำลังจากสถานศึกษาหรือสถาบันวิจัยของภาครัฐให้ออกไปทำงานร่วมกับภาคเอกชนได้เต็มเวลาโดยไม่เสียเวลาราชการ อาจจะ 3 เดือนไปถึง 2 ปี" ดร.พิเชฐกล่าว
*******************************