xs
xsm
sm
md
lg

รับสมัครนักเรียนเข้าประชุมดาราศาสตร์เพื่อเยาวชนครั้งแรก 20-21 ธ.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมถ่ายภาพกับตัวแทนผู้จัดงานและนักเรียนที่ได้รับคัดเลือกในการนำเสนอผลงาน
สดร.จับมือ สสวท.จัดประชุมวิชาการดาราศาสตร์เพื่อเยาวชนระดับชาติ เปิดโอกาสเยาวชนไทยระดับมัธยมศึกษานำเสนอผลงานวิชาการดาราศาสตร์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการครั้งแรกของประเทศ หมดเขตรับสมัคร 15 ธ.ค.นี้

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ แถลงข่าวการจัดประชุมวิชาการดาราศาสตร์เพื่อเยาวชนระดับชาติเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.57 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การประชุมวิชาการทางด้านดาราศาสตร์สำหรับนักเรียน (The 1st Thai Astronomical Conference Student Session ) ครั้งแรกของประเทศไทยจะจัดขึ้นในสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยมีจินตนาการ และมีแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ทางด้านดาราศาสตร์ เพราะดาราศาสตร์เป็นวิชาที่จับต้องไม่ได้ เป็นการศึกษาสิ่งที่อยู่ไกลออกไป ผู้ที่จะศึกษาเรียนรู้ทางด้านนี้จึงต้องเป็นผู้ที่มีใจรักอยู่แล้วส่วนหนึ่ง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ ระบุว่าการประชุมดังกล่าวยังเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้แบบสเต็ม (STEM Education) เนื่องจากเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่จะทำให้เด็กสามารถเข้าใจศาสตร์ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งดาราศาสตร์ก็เป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่งในวิทยาศาสตร์ที่ควรให้ความสนใจไม่น้อยกว่า ฟิสิกส์ เคมี หรือชีววิทยา

“เมื่อสักครู่ ผมได้เดินชมผลงานบางส่วนที่น้องๆ นักเรียนนำมาจัดแสดงและนำเสนอให้ฟัง เป็นผลงานที่ดีมากไม่แพ้โครงงานวิจัยสำหรับนักศึกษาในมหาวิทยาลัย หรือนักวิจัยที่ทำงานอยู่ เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าสังคมไทยมีเด็กที่มีความสามารถอยู่อีกมาก เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องเจียระไนเด็กพวกนี้ให้ความสามารถของเขาออกมาได้มากที่สุด ซึ่งการประชุมวิชาการสำหรับนักเรียนทางด้านดาราศาสตร์ที่จะเกิดขึ้น จะเป็นโอกาสดีอย่างมากสำหรับน้องๆ เด็กๆ ที่กำลังเรียนอยู่ในโรงเรียน เพราะส่วนมากงานประชุมทำนองนี้จะจัดขึ้นเฉพาะในหน่วยงานวิจัยหรือมหาวิทยาลัยต่างๆ จึงเป็นโอกาสที่ดีทุกคนควรตักตวงเอาไว้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าว

ด้าน รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการ สดร.กล่าวว่า การจัดประชุมวิชาการในครั้งนี้เป็นการขยายผลความร่วมมือ ระหว่าง สดร.และ สสวท.ซึ่งก่อนหน้านี้เคยทำงานร่วมกันในการจัดอบรมครูดาราศาสตร์มาแล้ว เพราะวิชาดาราศาตร์บรรจุอยู่ในสาระการเรียนรู้ โลก ดาราศาสตร์ และอวกาศ ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อประมาณ 7 ปีที่ผ่านมา

"วิชาดังกล่าวถือว่าค่อนข้างใหม่สำหรับระบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ครูที่มีความรู้ความสามารถทางด้านดาราศาสตร์โดยตรงจึงมีจำนวนน้อย ทั้ง 2 หน่วยงานจึงได้มีการการจัดอบรมครูเชิงปฏิบัติการดาราศาสตร์ขึ้น เพื่อให้ครูผู้สอนนำกลับไปพัฒนารูปแบบการสอนของตัวเองให้มีประสิทธิภาพและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น" รศ.บุญรักษาระบุ

สำหรับการอบรมครูทางดาราศาสตร์ที่ผ่านมาแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับขั้นต้น ที่จะเป็นการถ่ายทอดความรู้ดาราศาสตร์ทั่วไปให้แก่ครู โดยตลอด 3 ปีที่ผ่านมามีครูที่เข้ารับการอบรมประมาณ 1,600 คน ระดับขั้นกลาง ที่ครูจะได้เรียนรู้การใช้เครื่องมือทางดาราศาสตร์ การใช้กล้องโทรทรรศน์ และการใช้ระบบสืบค้นข้อมูลต่างๆ ที่มีครูเข้าร่วมการอบรมประมาณ 50 คนต่อปี และ ระดับขั้นสูงที่มุ่งเน้นทางด้านงานวิจัยโดยใช้โจทย์ทางดาราศาสตร์

ผู้อำนวยการ สดร.ระบุว่า การอบรมครูดาราศาสตร์ถือว่าเป็นโครงการที่ทำให้เกิดการประชุมวิชาการสำหรับการประชุมวิชาการในครั้งนี้ขึ้น เพราะในช่วง 2 ปีแรกของการอบรมครูทางดาราศาสตร์ชั้นสูงได้อนุญาตให้ครูนำเด็กที่มีความรู้ ความสนใจทางด้านดาราศาสตร์เบื้องต้น เข้าร่วมการอบรมและทำวิจัยด้วย ซึ่งผลงานวิจัยที่เด็กนักเรียนทำเป็นที่น่าพอใจไม่แพ้ผลงานของผู้ใหญ่ ทำให้ สดร.ตระหนักถึงพลังของเด็กนักเรียนและจัดการประชุมระดับนักเรียนขึ้น เพื่อขยายโอกาสและเป็นเวทีให้เด็กที่เริ่มทำโครงงานวิจัยแล้วได้นำเสนอผลงาน

“เนื้อหาสำคัญในการประชุมครั้งนี้อยู่ที่การนำเสนอผลงานของนักเรียนที่เคยทำโครงงานวิจัยกว่า 50 เรื่องผ่านการบรรยาย และการแสดงแบบโปสเตอร์ ที่จะเป็นตัวจุดประกายให้กับครูและนักเรียนคนอื่นๆ ที่มีความสนใจทำวิจัยในโจทย์ดาราศาสตร์แต่ยังไม่ได้ลงมือทำ ที่จะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ที่มีความสนใจในเรื่องคล้ายๆ กันที่จะทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ทางด้านดาราศาสตร์เพิ่มขึ้น” ผู้อำนวยการ สดร.กล่าว

นอกจากนี้ ภายในการประชุมดังกล่าวยังมีการบรรยายพิเศษเรื่อง “แสงแรกแห่งเอกภพ : Cosmic Microwave Background” จากนักวิชาการ สดร.และนิทรรศการภาพถ่ายดาราศาสตร์ รวมถึงความรู้อีกมากมายที่ผู้ที่มาเข้าร่วมจะได้รับกลับไปซึ่ง รศ.บุญรักษากล่าวว่า สดร.จะให้การสนับสนุนทางด้านที่พักและการเดินทาง เนื่องจากกิจกรรมจัดขึ้นที่ จ.เชียงใหม่

ในส่วนของ ณรงค์ฤทธิ์ ธูปพนม รองผู้อำนวยการ สสวท.กล่าวว่า เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ สสวท.ร่วมกับ สดร.เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนสามารถเข้าถึงวิทยาศาสตร์และสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์จริงของตัวเองได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการยกระดับการเรียนการสอนดาราศาสตร์ไปอีกขั้นเพราะครูจะได้องค์ความรู้ใหม่ๆ กลับไปพัฒนาการสอน ตลอดจนพัฒนาสื่อการสอนของตน และนักเรียนจะเกิดความสนใจในวิทยาศาสตร์มากขึ้น อันจะทำให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมแห่งวิทยาศาสตร์ได้ในเร็ววัน

ด้าน รัชชานนท์ บัวรอด นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฏิ์ จ.ฉะเชิงเทรา 1 ใน 6 ของนักเรียนที่ได้รับการคัดเลือกให้นำเสนอผลงานในพิธี เผยว่า เมื่อ 2 ปีก่อนเขามีโอกาสได้เดินทางร่วมกับครูที่โรงเรียนเพื่อเข้ารับการฝึกอบรมครูดาราศาสตร์ขั้นสูง ทำให้เขามีโอกาสได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ และได้ทำงานวิจัยตามแบบที่ตัวเองชอบ และไม่คาดฝันมาก่อนว่าจะได้ทำวิจัยกับหน่วยงานที่มีความพร้อมทางดาราศาสตร์ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติอย่าง สดร.

รัชชานนท์ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาความหนาแน่นของดาวฤกษ์ในกาแลกซีทางช้างเผือกที่ลองจิจูดที่ 0 ที่คนทั่วไปคิดว่าบริเวณนี้เป็นส่วนกลางของกาแลกซีและจะมีจำนวนดาวฤกษ์อยู่หนาแน่นที่สุด โดยการใช้ภาพจากกล้องโทรทรรศน์ที่ประเทศชิลีเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างความหนาแน่นของดาวฤกษ์และองศาละจิจูด จนได้ข้อสรุปว่าที่บริเวณละจิจูดที่ 0 ไม่ได้มีจำนวนดาวฤกษ์มากที่สุด เกิดเป็นงานวิจัยต่อเนื่องในเชิงความสัมพันธ์ที่รุ่นน้องของเขากำลังทำวิจัยต่อ

“ส่วนตัวผมชอบดาราศาสตร์อยู่แล้ว ประกอบกับที่โรงเรียนก็มีหอดูดาวและชุมนุมดาราศาสตร์อยู่ด้วยทำให้ผมศึกษาสิ่งที่ผมอยากรู้ด้วยตัวเองได้เสมอ ตอนผมอยู่ ม.4 ครูที่โรงเรียนก็ได้คัดเลือกให้ผมและเพื่อนๆ อีก 4 คนได้เข้าฝึกอบรมด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผมประทับใจมาก และพยายามกลับมาทำงานวิจัยให้ดี ซึ่งนอกจากความรู้ที่ผมได้รับจากการเข้าอบรมและการทำวิจัยด้านดาราศาสตร์แล้วอีกสิ่งหนึ่งที่ผมได้ คือ มันทำให้ผมรู้ว่าผมอยากเรียนอะไร ซึ่งในใจของผมตอนนี้ก็คือคณะวิทยาศาสตร์ครับ” รัชชานนท์กล่าว

ทั้งนี้การประชุมวิชาการจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-21 ธ.ค. 57 ณ โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมประชุมได้ฟรี โดยสามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.narit.or.th ภายในวันที่ 15 ธ.ค. นี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร 053-225569 ต่อ 305
(จากขวาไปซ้าย) ณรงค์ฤทธิ์ ธูปพนม รองผู้อำนวยการ. สสวท., รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผอ.สดร. และ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมต.กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
รมต.กระทรวงวิทยาศาสตร์ และทีมงานร่วมชมผลงานวิจัยดาราศาสตร์ของนักเรียน
รมต.กระทรวงวิทย์ เดินชมผลงานวิจัยของนักเรียน
รัชชานนท์ บัวรอด นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฏิ์ จ.ฉะเชิงเทรา






*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น