ก.วิทย์จัดงานแสดงความยินดีแก่นักศึกษาในโครงการ “เส้นทางสู่นวัตวณิชย์” จากการประกวดแปลงผลงานวิจัยสู่ธุรกิจ ด้านปลัดกระทรวงเผยเป็นจุดเริ่มต้นให้นักศึกษาได้มองเห็นว่างานวิจัยไม่ได้จบอยู่ภายในแล็บ แต่ต้องต่อยอดไปสู่ธุรกิจจนประสบความสำเร็จ และเปิดช่องให้รู้จัก “อุทยานวิทย์ภูมิภาค” ที่จะส่งเสริมผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่งบลงทุนน้อยแต่มีไอเดีย
ศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดกิจกรรม “เส้นทางนวัตวณิชย์” (Research to Market: R2M) ระดับประเทศ ประจำปี 2556 และ 2557 ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันอกเฉียงเหนือ และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ โดยจัดพิธีมอบรางวัลเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.57 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
การประกวดกิจกรรมเส้นทางนวัตวณิชย์ได้จัดดำเนินการโดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคทั้ง 3 แห่ง ซึ่งมีเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั้งหมด 13 มหาวิทยาลัย แต่ละภูมิภาคได้คัดเลือกทีมนักศึกษาที่นำผลงานวิจัยจากนักวิจัยในมหาวิทยาลัยเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคมาสร้างแผนธุรกิจและแผนการตลาด และได้ประกาศผลการประกวดประจำปี 2556 เมื่อวันที่ 17 ม.ค.57 ซึ่งผลงานชนะเลิศคือ คอนกรีตพรุนจากเศษวัสดุที่ไม่ก่อมลพิษ และผลประกวดประจำปี 2557 เมื่อวันที่ 21 พ.ย.57 ซึ่งผลงานชนะเลิศคือ อุปกรณ์คงสภาพจมูกและรูจมูกของผู้พิการปากแหว่งเพดานโหว่
ดร.วีระพงษ์กล่าวว่า การจัดการประกวดนี้เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาเอางานวิจัยที่มีอยู่จริงมาทำแผนต่อยอดสู่ธุรกิจ เสมือนเป็นผู้ประกอบธุรกิจในชีวิตจริง และพยังช่วยให้นักศึกษาเห็นภาพจริงในการเชื่อมโยงงานวิจัยสู่การตลาด และปลูกฝังแนวคิดว่างานวิจัยและพัฒนานั้นไม่ได้หยุดอยู่แค่ห้องปฏิบัติการ แต่ต้องสานต่อให้ใช้ได้จริงและออกสู่ตลาดได้ นอกจากนี้ยังเป็นการประชาสัมพันธ์ให้นักศึกษาได้รู้จักอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคที่อยู่ในมหาวิทยาลัยเครือข่าย ซึ่งจะเป็นสถานที่บ่มเพาะผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่มีงบในตั้งบริษัทไม่มาก แต่แนวคิดสร้างสรรค์ในการทำธุรกิจจากงานวิจัย
“เราอยากให้งานวิจัยถูกจับโดยนักเศรษฐศาสตร์ และอยากให้นักวิจัยมองในประเด็นทางด้านเศรษฐศาสตร์และทำงานวิจัยตอบโจทย์เศรษฐศาสตร์มากขึ้น ทุกวันนี้งานวิจัยกว่า 99% จบอยู่ที่ผลงาน มีเพียง 1% ที่สิ้นสุดที่การเป็นสินค้า อุทยานวิทยาศาสตร์เรามีสถานที่ให้เกิดการลงทุนตั้งบริษัทโดยนักศึกษาที่อยากตั้งบริษัทขนาดเล็กแต่มีเงินน้อย การประกวดนี้จะช่วยปลูกฝังให้นักศึกษาเข้าคิดได้ว่าการทำวิจัยไมึ่ควรหยุดอยู่แค่เขียนผลงาน แต่ควรทำไปถึงเป็นธุรกิจ ซึ่งการจุดประกายไอเดียเป็นเรื่องสำคัญ และรูปแบบนี้ที่ญี่ปุ่นมีทำกันเยอะ แต่เรายังนำงานวิจัยไปใช้ในเชิงธุรกิจน้อยมาก” ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าว
พร้อมกันนี้ ศ.ดร.วีระพงษ์ยังได้ยกตัวอย่างผลงานเส้นก๊วยจั๊บสำเร็จรูปจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับสองในการประกวดประจำปี 2557 ว่าได้รับความสนใจจากบริษัทเอกชนที่ทำธุรกิจทางด้านอาหารและมีเครือข่ายร้านสะดวกซื้อกว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศ และจากการประกวดผลงานเหล่านี้หากมี 10 ผลงานจาก 100 ผลงานที่ต่อยอดไปสู่ธุรกิจได้ นอกจากนี้บริษัทเอกชนสามารถเยี่ยมชมผลงานวิจัยภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคที่จะหมุนเวียน “เปิดบ้าน” ให้ชมผลงานทุกเดือน
*******************************