xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-ลาวยกแนวทางพระราชดำริต้นแบบจัดการน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย นายมาลัยทอง กบมะสิทธิ์ อธิบดีกรมแผนการและความร่วมมือ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สปป.ลาว (ขวาไปซ้าย)
รัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ไทย-ลาว ประสานความร่วมมือบริหารจัดการน้ำด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เตรียมขยายพื้นที่ติดตั้งสถานีโทรมาตรเก็บข้อมูลภูมิอากาศเพิ่มเติมปีหน้า พร้อมขยายผลต้นแบบความสำเร็จการจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ สู่พื้นที่ สปป.ลาว

ในโอกาสเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไทย-ลาว
ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 26-28 พ.ย.57 ณ นครเวียงจันทร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย ศ.ดร.บ่อเวียงคำ วงดาลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สปป.ลาว และคณะผู้แทนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ของทั้งสองประเทศ เดินทางเข้าเยี่ยมชมสถานีโทรมาตรน้ำงึม

กิจกรรมดังกล่าวเป็นหนึ่งใน “โครงการวิจัยและพัฒนาร่วมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทย-ลาว ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับการบริหารจัดการน้ำ ณ บริเวณปากแม่น้ำงึม สปป.ลาว

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า จากการหารือในระดับทวิภาคีระหว่างวันที่ 27-28 พ.ย. กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ของทั้งสองประเทศมีข้อตกลงร่วมกันว่าจะดำเนินการเพื่อบริหารจัดการน้ำใน 5 แผนงาน ได้แก่ 1. การจัดทำระบบรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำผ่านเว็ปไซต์ www.laowater.net 2. การพัฒนาแบบจำลองเพื่อคาดการณ์สภาพภูมิอากาศ 3. พัฒนาสถานีโทรมาตร
ส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมในลาวเพื่อข้อมูลสภาพอากาศและน้ำ 4. การจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อลดตะกอนและป้องกันน้ำเสียสู่แม่น้ำโขง และ 5. การขยายผลการจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ เพื่อลดปัญหาน้ำและความทุกข์ยากทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ จากความร่วมมือดังกล่าวส่งผลให้ประเทศไทย และ สปป.ลาว ได้รับประโยชน์ในการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศเชิงพื้นที่ได้แม่นยำขึ้น จากการติดตั้ง สถานีโทรมาตรอัตโนมัติ เพื่อติดตามปริมาณน้ำและสภาพภูมิอากาศ ในลุ่มน้ำสำคัญของ สปป.ลาว

ด้าน ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กล่าวว่า สถานีโทรมาตรอัตโนมัติเป็นเทคโนโลยีที่ สสนก.พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ตรวจวัดข้อมูลระยะไกล สามารถตรวจวัดสภาพภูมิอากาศ และปริมาณฝน รวมทั้งระดับน้ำ โดยส่งข้อมูลผ่านเครือข่าย GPRS และ 3G แสดงผลการตรวจวัดข้อมูลผ่านเว็บไซต์ www.thaiwater.net ปัจจุบัน สสนก. ได้ติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ มากกว่า 800 สถานี ในทุกภาคของประเทศไทย

ดร.รอยล กล่าวว่า ในปี 2558 กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สสนก.จะขยายพื้นที่ติดตั้งสถานีโทรมาตรเพื่อเก็บข้อมูลสภาพอากาศเพิ่มเติมจำนวนอีก 1 สถานี และจะพัฒนาระบบเป็น Skywave ในพื้นที่ที่สัญญาณโทรศัพท์ GPRS หรือ 3G ไม่ครอบคลุม ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ของทั้งสองประเทศ จะร่วมถ่ายทอดตัวอย่างความสำเร็จของการจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ที่มีตัวอย่างความสำเร็จจาก 55 ชุมชน เป็นแกนนำการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนฯ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง น้ำหลาก ที่พร้อมถ่ายทอดและขยายผลสำเร็จให้เหมาะสมกับภูมิสังคมของ สปป.ลาว ต่อไป
ดร.รอยล จิตรดอน (ขวาสุด)








*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น