สดร.นำประชาชนร่วม 200 คนรอชมฝนดาวตก "เจมินิดส์" บนยอดดอยอินทนนท์ ท่ามกลางบรรยากาศหนาวสุดขั้ว พร้อมบริการกล้องโทรทรรศน์กว่า 10 ตัว และบรรยายให้ความรู้ด้านดาราศาสตร์
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) นำประชาชนร่วม 200 คนจากทั่วประเทศที่เข้าร่วมกิจกรรม "เปิดฟ้า...ตามหาดาว" ขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์เมื่อค่ำวันที่ 14 ธ.ค.57 เพื่อเฝ้าชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ให้ข้อมูลว่า "ฝนดาวตกเจมินิดส์” เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 4-17 ธ.ค.ของทุกปี คาดการณ์ว่าในปีนี้ฝนดาวตกเจมินิดส์จะมีอัตราการตกสูงสุดในช่วงหัวค่ำตั้งแต่เวลา 20.00 - 00.30 น. ของคืนวันที่ 14 ธ.ค. โดยมีอัตราการตกไม่เกิน 120 ดวงต่อชั่วโมง สามารถสังเกตเห็นได้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สูงจากขอบฟ้าประมาณ 30 องศา
"นอกจากนี้ในคืนดังกล่าวตรงกับวันแรม 8 ค่ำ ดวงจันทร์ครึ่งดวง หลังจากเวลา 00.30 น. เป็นต้นไป ดวงจันทร์จะเคลื่อนที่ขึ้นจากขอบฟ้าทางด้านทิศตะวันออก แสงสว่างจากดวงจันทร์จะเข้ามารบกวนการสังเกตการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ดังกล่าว" ดร.ศรัณย์ระบุ
ทั้งนี้ ฝนดาวตกเจมินิดส์เกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่เข้าตัดกับกระแสธารของเศษหินและเศษฝุ่นขนาดน้อยใหญ่ที่ดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน ทิ้งไว้ในขณะที่เคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว ทำให้สายธารของเศษหินและฝุ่นของดาวเคราะห์น้อย ถูกแรงดึงดูดของโลกดึงเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศของโลกเกิดเป็นลำแสงวาบ หรือในบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟ (fireball) ที่มีสีสวยงาม
“ปกติแล้วเราสามารถสังเกตเห็นดาวตกได้ในทุกคืนอยู่แล้ว เพียงแต่มีอัตราเฉลี่ยในการตกค่อนข้างน้อย และไม่ได้มีศูนย์การกระจายหรือเรเดียนท์จากจุดเดียวกัน ในทางกลับกันหากสังเกตเห็นดาวตกจำนวนมาก และมีจุดศูนย์กลางการกระจาย ณ จุดเดียวกัน จะเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ฝนดาวตก” สำหรับข้อแนะนำในการชมฝนดาวตกในครั้งนี้ จะสามารถเห็นได้ในทุกภูมิภาคของประเทศ ในบริเวณที่ท้องฟ้ามืดสนิทไม่มีแสงไฟรบกวน จะสังเกตดาวตกมีความสว่างมาก ทั้งนี้วิธีการชมฝนดาวตกให้สบายที่สุด ให้นอนรอชม หรือนั่งบนเก้าอี้ที่สามารถเอนนอนได้ หันศรีษะไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ” ดร.ศรัณย์ กล่าว
ดร.ศรัณย์ระบุอีกว่า สำหรับฝนดาวตกเจมินิดส์นั้นมีชื่อเสียงมากในเรื่องของความงดงาม เพราะสังเกตเห็นง่ายกว่าฝนดาวตกลีโอนิดส์ เนื่องจากมีความเร็วไม่มากนักประมาณ 35 กิโลเมตรต่อวินาที ทำให้ง่ายต่อการสังเกตมากกว่าเมื่อเทียบกับฝนดาวตกลีโอนิดส์ที่มีความเร็วถึง 71 กิโลเมตรต่อวินาที เมื่อสังเกตเห็นจึงมีเวลาเพียงพอที่จะชี้ชวนกันให้คนอื่นได้ดูฝนดาวตกได้ นับเป็นเสน่ห์อีกประการหนึ่งของการเฝ้ารอชมฝนดาวตกเจมินิดส์
ทั้งนี้ สดร.ได้เตรียมการบรรยายพิเศษเรื่องการดูดาว การถ่ายภาพฝนดาวตก และสอนการใช้แผนที่ดาวก่อนชมฝนดาวตกในช่วง 20.00 น. พร้อมทั้งตั้งกล้องโทรทรรศน์ 12 ตัวสำหรับให้บริการสังเกตดาวเคราะห์และกระจุกดาวต่างๆ
นายณัทกร มณีวรรณ นิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ไม่เคยเห็นฝนดาวตกมาก่อน ก่อนหน้านี้เคยสังเกตปรากฏการณ์ที่บ้านแต่ไม่เห็น จึงมาร่วมกิจกรรมของ สดร. โดยหวังว่าจะได้เห็นฝนดาวตก และยังเตรียมตัวมาถ่ายภาพฝนดาวตกด้วย
ส่วน นางนพวรรณ เดชรัตนวิไชย และนายสนธยา เดชรัตนวิไชย บอกว่าเดินทางจาก จ.นครศรีธรรมราช เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมของ สดร. เนื่องจากเคยรอชมที่ที่บ้านแต่ไม่เห็นเพราะฟ้าปิด กอปรกับลูกชายชอบดูดาวมาก จึงชวนกันมาทั้งบ้าน
*******************************