พื้นที่ 1 ไร่ของคุณสร้างเงินได้เท่าไร? ทำอะไรได้บ้าง? สำหรับเกษตรกรที่ชุมชนเกษตรอินทรีย์ บ้านนาเจริญ จ.อุบลราชธานี สามารถทำเงินได้ถึง1 แสนบาทต่อ 1 ไร่ เขาทำกันอย่างไร มีวิธีการแบบไหน SuperSci พาไปหาคำตอบ
นิออน กนกพิพัฒน์ เป็นนักเรียนรุ่นที่ 9 ในโครงการทำนา 1 ไร่ได้เงิน 1 แสน ที่บ้านนาเจริญ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นโครงการที่เปลี่ยนวิธีการทำเกษตรแบบดั้งเดิมเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันจนติดปากว่า “เกษตรสรรพสิ่ง” โครงการดังกล่าวเป็นการสอนให้นักเรียนที่มาเข้าร่วมโครงการ รู้จักการบริหารจัดการพื้นที่ 1 ไร่ของตัวเองให้มีประสิทธิภาพ สามารถสร้างรายได้บนความสมดุลของธรรมชาติ
นิออน อธิบายว่า โครงการทำนา 1 ไร่ได้เงิน 1 แสน คือการบริหารจัดการพื้นที่และทรัพยากรเท่าที่มีอยู่ ให้สามารถสร้างผลผลิตก่อให้เกิดรายได้สูงสุด โดยอาศัยหลักการจัดสรรพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วนในอัตรา 30:30:30:10 ซึ่ง 30 ส่วนแรกหรือในพื้นที่ 480 ตารางเมตรจะถูกใช้สำหรับการทำเป็นคันนาที่มีความกว้างสำหรับการปลูกพืชหมุนเวียน ที่สามารถเก็บผลิตอาทิ ฟักทอง บวบ ฟักไว้สำหรับส่งขายได้ตลอดปี
"ส่วนที่สองเป็นพื้นที่ 480 ตารางเมตรเช่นกัน ใช้สำหรับขุดคูเลี้ยงปลา โดยเฉพาะปลาน้ำจืดและปลากินพืช เพราะสามารถนำผลผลิตที่เหลือจากคันนามาใช้เป็นอาหารปลาได้ และส่วนที่ 3 พื้นที่ 480 ตารางเมตร เป็นพื้นที่สำหรับทำแปลงนาข้าวหอมนิลอินทรีย์ ที่ถือเป็นของดีประจำโครงการฯ และพื้นที่ส่วนสุดท้าย 160 ตารางเมตร สำหรับการสร้างบ้านพักอาศัยและโรงเรือนเลี้ยงปศุสัตว์ที่เน้นการเลี้ยงเป็ด เลี้ยงห่าน เพราะมีไข่เป็นผลผลิตให้เก็บขายได้ในทุกๆ วัน" นิออนอธิบาย
จุดเริ่มต้นของเกษตรสรรพสิ่ง นิออนระบุว่า อยู่ที่ดินที่มีคุณภาพ นักเรียนที่มาเข้าโครงการจะต้องอยู่ในหลักสูตรเป็นเวลา 5 เดือน เพื่อให้รู้จักถึงปัญหา ขั้นตอนการดำเนินการและการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในแปลงนาของตัวเอง เริ่มตั้งแต่การรู้จักดิน รู้คุณภาพดิน และวิธีปรับปรุงดินให้มีความเหมาะสม โดยการศึกษาด้วยตัวเองและการใช้ “สรรพสิ่ง” หรือจุลินทรีย์ที่จะช่วยเปลี่ยนธาตุอาหารในรูปแบบที่พืชใช้ไม่ได้ให้เป็นรูปแบบที่ใช้ได้ ซึ่งองค์ความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการนี้จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับพื้นที่เกษตรทั้งหมด ไม่เฉพาะแต่ดินที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนื เพราะเป็นการศึกษาถึงต้นเหตุเพื่อนำมาปรับใช้กับแนวทางการแก้ไขที่ได้จากการเรียนรู้ตามหลักสูตร
“ทำนา 1 ไร่ได้เงิน 1 แสน ไม่ได้หมายความว่าเราปลูกข้าวในพื้นที่ 1 ไร่แล้วจะได้เงิน 1 แสน แต่ที่นี่คือการสอนให้รู้จักการบริหารจัดการพื้นที่ที่ตัวเองมีอยู่ คือ 1 ไร่เท่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัวที่ให้แบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนต่างๆ และปลูกพืชหมุนเวียน ประกอบกับการรู้ลึกถึงต้นเหตุของการเกษตร นั่นก็คือ ดิน จึงมั่นใจได้ว่าการทำเกษตรในรูปแบบนี้จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกที่และน่าจะได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งตัวของดิฉันเองเมื่อจบโครงการแล้วก็จะนำกลับไปใช้ที่สวนยางของครอบครัว ในจังหวัดทางภาคใต้เช่นกัน” นิออนเผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์
*******************************