จากเหตุผลว่า “ลู่-ลานกรีฑา” ที่ใช้บันทึกสถิติโลกได้ ต้องปูด้วยวัสดุที่ผ่านมาตรฐานตามข้อกำหนดของสหพันธ์กรีฑาในระดับสากล แต่ทั้งวัสดุและเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ไทยต้องนำเข้าและมีราคาแพง นักวิจัยไทยจึงได้พัฒนาวัสดุที่มีราคาถูกลงและยังใช้ยางพาราทดแทนวัสดุนำเข้า
ดร.อรสา อ่อนจันทร์ นักวิจัยอาวุโส กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยแก่มทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ได้ร่วมกับการกีฬาแห่งประเทศไทยพัฒนา “ลู่-ลานกรีฑา” ที่ผสมยางธรรมชาติ ซึ่งเป็นงานวิจัยหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ยางพาราได้
“ตามปกติสนามกรีฑาประเภทลานดินจะต้องใช้วัสดุปูพื้นที่ได้รับมาตรฐานหรือมีสมบัติตรงตามข้อกำหนดสหพันธ์กรีฑานานาชาติ (IAAF: International Association of Athletics Federations) ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับการบันทึกสถิติโลก แต่ที่ผ่านมาเราต้องนำเข้าทั้งเทคโนโลยีและยางสังเคราะห์ราคาแพงสำหรับวัสดุปูพื้นนี้ จึงเกิดความร่วมมือในการพัฒนาวัสดุปูพื้นที่มีราคาถูกลง และใช้ยางธรรมชาติทดแทนยางสังเคราะห์ที่ต้องนำเข้า” ดร.อรสาเผย
หลังจากใช้เวลา 2-3 ปีทางทีมวิจัยได้พัฒนาพื้นลู่-ลานกรีฑาที่มีค่าคุณสมบัติต่างๆ ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดโดย IAAF ซึ่งวัสดุปูพื้นดังกล่าวเป็นวัสดุ 2 ชั้นประกบกัน ในส่วนของชั้นล่างเป็นชั้นรองรับน้ำหนักพื้น มีความหนา 10 มิลลิเมตร ทีมวิจัยสามารถทดแทนการใช้ยางสังเคราะห์ได้ 100% โดยใช้พอลียูรีเธนและยางธรรมชาติหรือเม็ดยางดำที่เรียกว่า “เม็ดยางครัมบ์” ซึ่งได้จากยางรยนต์เสื่อมสภาพ ในส่วนชั้นบนเป็นชั้นสร้างแรงเสียดทานของผู้ใช้กับพื้นสนาม มีความหนา 2-3 มิลลิเมตร ทีมวิจัยใช้ยางธรรมชาติทดแทนยางสังเคราะห์ได้ถึง 60%
ผลจากการพัฒนาดังกล่าว ดร.อรสาระบุว่าช่วยลดค่าใช้สำหรับวัสดุปูพื้นสนามกรีฑาได้ถึง 30% โดยวัสดุเดิมที่ผลิตขึ้นจากยางสังเคราะห์นั้นมีราคาที่ตารางเมตรละ 2,500 บาท แต่วัสดุที่พัฒนาขึ้นมาใหม่นี้มีราคาตารางเมตรละ 1,700 บาท โดยคำนวณจากต้นทุนยางพารากิโลกรัมละ 50 บาท ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายสร้างสนามกรีฑาที่มีพื้นที่ 6,500 ตารางเมตรลงได้ถึง 5.2 ล้านบาท และสนับสนุนการใช้ยางธรรมชาติซึ่งผลิตในประเทศได้ถึงสนามละ 12 ตัน ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าให้แก่ยางพาราไทยได้
*******************************