เปิดตัวเลนส์เปลี่ยนสมาร์ทโฟนเป็นกล้องจุลทรรศน์ ผลิตจากพอลิเมอร์พิเศษติดหนึบกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ใช้เป็นอุปกรณ์เรียนรู้ด้วยตัวเองและบันทึกภาพได้ นักวิจัยระดมขอทุนสร้างเครื่องผลิตแทนแรงคน
ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เปิดตัว "เลนส์ทวิทรรศน์" ผลงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีโฟโทนิกส์ หน่วยวิจัยอุปกรณ์และระบบอัจฉริยะ เนคเทค ระหว่าง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประกาศผลการสำรวจ 10 ข่าวดังด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ โรงแรมพูลแมน บางกอก คิงเพาเวอร์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 57
เลนส์ดังกล่าวใช้แปะหน้ากล้องสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตแล้วทำหน้าที่เป็นกล้องจุลทรรศน์ที่สามารถขยายภาพวัตถุที่สนใจ และสามารถบันทึกภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวของวัตถุดังกล่าว โดยเป็นชุดเลนส์ 2 กำลังขยาย
ดร.ศุภนิจ พรธีระภัทร หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีโฟโทนิกส์ หน่วยวิจัยอุปกรณ์และระบบอัจฉริยะ เนคเทค เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เลนส์ที่ผลิตขึ้นมานี้เป็นผลจากการประมวลองค์ความรู้จากงานวิจัยที่มีอยู่เดิม โดยใช้พอลิเมอร์ในกลุ่มซิลิโคนที่เคยใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับส่องแสงเลี้ยงเซลล์ และเกิดแนวคิดพัฒนาเป็นเลนส์ติดสมาร์ทโฟน
"ปรากฏว่าเลนส์ที่เราขึ้นสามารถขยายภาพได้ตามกำลังขยายที่เราออกแบบซึ่งอุปกรณ์นำไปใช้เป็นอุปกรณ์เรียนรู้ด้วยตัวเองได้ อาทิ นักเรียนเอาไปส่องดูเซลล์มีชีวิต หรือ ผู้สะสมพระเครื่องนำไปใช้ส่องมวลสารได้ และบันทึกภาพนิ่งหรือวิดีโอได้" ดร.ศุภนิจเผย
สำหรับพอลิเมอร์ที่นำมาผลิตเลนส์ทวิทรรศน์ ดร.ศุภนิจกล่าวว่าต้องใสและขึ้นรูปเป็นเลนส์ได้ ซึ่งทีมวิจัยเลือกพอลิเมอร์ที่มีความหนึบ ยึดติดกับอุปกรณ์ได้ ไม่เป็นพิษ และล้างทำความสะอาดง่ายด้วยน้ำยาล้างจาน
ทีมวิจัยใช้เวลา 4 เดือนพัฒนาเลนส์ทวิทรรศน์ โดยเบื้องต้นได้ผลิตออกมาเป็นชุดของขวัญสำหรับสื่อมวลชนที่มีกำลังขยาย 25 เท่า และ 50 เท่า ซึ่งเลนส์ที่มีกำลังขยายสูงมีขนาดเล็กกว่าเลนส์ที่มีขยายต่ำ
พร้อมกันนี้ทีมวิจัยยังได้ระดมทุนผ่านระบบคลาวด์ (Cloud Funding) ซึ่งเป็นรูปแบบการระดมจากผู้บริจาคทั่วโลกผ่านเว็บไซต์ https://www.indiegogo.com/projects/dual-microscope-lens-for-mobile-devices-twi-vis#home โดยตั้งเป้าระทุนบริจาคให้ได้ 5,000 เหรียญสหรัฐฯ เพื่อสร้างเครื่องผลิตชุดเลนส์แทนกำลังคน โดยมีระยะเวลาระดมทุน 1 เดือน หากไม่ได้ตามเป้าทางทีมวิจัยเลือกคืนทุน
ดร.ศุภนิจระบุว่า การพัฒนาเลนส์ทวิทัศน์นี้ไม่ได้ขอทุนวิจัยพัฒนา จึงระดมทุนวิจัยเพื่อพัฒนาต่อ หากได้รับทุนตามเป้าจะผลิตชุดเลนส์ที่มีกำลังขยายสูงขึ้นคือ 50 เท่า และ 100 เท่า โดยคาดว่าจะจำหน่ายได้ในราคาหลักร้อยบาทต้นๆ ส่วนผู้ร่วมบริจาคจะได้รับผลงานต้นแบบไปทดลองใช้ เพื่อนำมาปรับปรุงต่อไป
*******************************