xs
xsm
sm
md
lg

“โคลนทอง” พญาควายไทยโคลนนิงตัวแรกพร้อมผสมพันธุ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“โคลนทอง” พญาควายไทยโคลนนิงตัวแรก อยู่ภายในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา
หลังประสบความสำเร็จในการโคลนนิง “พญาควายปลักไทย” จากเซลล์ใบหูเป็นตัวแรกของโลก ล่าสุดทีมวิจัยเผยว่า “โคลนทอง” พญาควายโคลนนิงพร้อมสำหรับการรีดน้ำเชื้อเพื่อขยายพันธุ์ควายลักษณะดีของไทยต่อไป ท่ามกลางวิกฤตควายไทยที่ใกล้สูญพันธุ์เพราะคนไทยนิยมบริโภคลูกชิ้นเนื้อ



ปัจจุบัน “โคลนทอง” พญาควายปลักไทย ซึ่งเป็นควายโคลนนิงจากเซลล์ใบใบหูตัวแรกของโลกมีอายุ 3 ปีกับ 4 เดือนเศษ ซึ่ง สพ.ญ.ดร.อุตรา จามีกร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนดลยีการผลิตปศุสัตว์ คณะสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าเป็นควายช่วงวัยรุ่นที่เริ่มผลิตน้ำเชื้อแล้ว และเมื่อโตเต็มที่จะมีน้ำหนักมากกว่า 1 ตัน โดยทีมวิจัยกำลังเตรียมความพร้อมเพื่อรีดน้ำเชื้อสำหรับนำไปขยายพันธุ์ควายไทยลักษณะดีต่อไป

สพ.ญ.ดร.อุตรา เผยว่าเพิ่งเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์และไม่ได้มีส่วนร่วมในการโคลนนิงพญาควายปลักซึ่งมีอยู่เพียงตัวเดียวในไทยตอนนี้ แต่ได้เข้ามาติดตามและศึกษาสุขภาพของควายโคลนนิง เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่เคยมีตัวอย่างให้ศึกษาว่า ลูกควายโคลนนิงจะมีคุณภาพน้ำเชื้อเหมือนพ่อควายที่เกิดจากการผสมตามธรรมชาติหรือการผสมเทียมหรือไม่ ซึ่งต้องนำน้ำเชื้อมาตรวจสอบดูว่าใช้ได้หรือเหรือเปล่า ทั้งนี้ แม้จะได้รับพันธุกรรมที่ดีจากพ่อพันธุ์ แต่ลูกควายโคลนนิงอาจไม่ได้มีสุขภาพที่ดีเช่นเดียวกับพ่อพันธุ์

ดูจากลูกอัณฑะและพฤติกรรมแสดงความต้องการทางเพศแล้ว โคลนทองน่าจะมีระบบสืบพันธุ์ปกติ ปกติพ่อพันธุ์ที่จะรีดน้ำเชื้อไปใช้ได้ต้องมีอายุ 4-5 ปี สำหรับโคลนทองเขาเป็นวัยรุ่นแล้ว แต่ยังไม่ใช่หนุ่มฉกรรจ์ ถ้าจะรีดน้ำเชื้อเขาต้องสร้างความคุ้นเคย และฝึกสอนการขึ้นตัวล่อเพื่อรีดน้ำเชื้อ จากนั้นนำเชื้อไปศึกษาคุณภาพ ถ้าอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้จะเอาไปใช้ผสมพันธุ์ได้ ช่วยเพิ่มควายไทยที่มีลักษณะดีและอนุรักษ์ควายไทยไว้ได้ เพราะเท่าที่ทราบพ่อพันธุ์ของควายโคลนนิงก็มีอายุมากแล้ว ซึ่งรีดน้ำเชื้อได้ลำบาก” สพ.ญ.ดร.อุตรากล่าว

สำหรับโคลนทองเป็นพญาควายปลักโคลนนิงเพศผู้ จากการริเริ่มโดย ศ.มณีวรรณ กมลพัฒนะ คณะสัตวแพทย์ จุฬาฯ มาตั้งแต่ปี 2542 และทีมวิจัยได้ประสบความสำเร็จในการโคลนนิงเมื่อปี 2554 โดยได้ลูกควายโคลนนิงตัวผู้ที่มีน้ำหนักแรกเกิด 40.5 กิโลกรัม เมื่อวันที่ 25 ต.ค.54 ณ ฟาร์มวัวทอง ต.เจริญธรรม อ.วิหารแดง จ.สระบุรี และใช้เซลล์ตัวแบบจากใบหูพญาควายปลักไทยที่มีอายุประมาณ 5 ปี จากอมาณัติฟาร์ม ต.อรัญญิก อ.เมือง จ.พิษณุโลก

สำหรับหัวหน้าทีมวิจัยโคลนนิงพญาควายโคลนทองคือ นายเกรียงศักดิ์ ทาศรีภู จากโครงการการใช้นิวเคลียร์เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมกิจการผสมเทียมโคนมและกระบือปลัก โครงการวิจัยวิทยาศาสตร์ไทย-เนเธอร์แลนด์ และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอาหารและการเกษตรโดยนิวเคลียร์เทคโนโลยี ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีผลิตปศุสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

เกรียงศักดิ์เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ระหว่างเยี่ยมชมโคลนทองซึ่งเลี้ยงอยู่ภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาว่า แวะเข้าไปดูการเจริญเติบโตของโคลนทอง 6 เดือนครั้ง แต่หลังจากนี้จะแวะมาดูถี่ขึ้น เนื่องจากอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการรีดน้ำเชื้อเพื่อขยายพันธุ์ต่อไป โดยแนวทางการขยายจะเน้นการรีดน้ำเชื้อแล้วผสมพันธุ์ในแม่พันธุ์ที่มีสุขภาพดี ตัวสูงและมีร่างกายกำยำ ซึ่งลูกควายที่ได้จะมีลักษณะผสมระหว่างพญาควายและแม่พันธุ์

เกรียงศักดิ์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ควายโคลนนิงตัวแรกของโลกอยู่ที่อินเดีย ส่วนโคลนทองถือเป็นควายโคลนนิงตัวที่ 2 ของโลก แต่เป็นควายโคลนนิงจากเซลล์ใบหูตัวแรกของโลก ปัจจุบันโคลนทองหนัก 400-500 กิโลกรัม แต่ถ้าโตเต็มที่จะหนักกว่า 1 ตัน  

ทางด้าน ศ.น.สพ.ดร.มงคล เตชะกำพุ รองอะการบดี จุฬาฯ ระบุว่า โคลนทองมีลักษณะ “พญาควาย” 5ลักษณะตรงตามพ่อควายต้นแบบ คือ มีลักษณะ “หน้าดอก” ที่เป็นรูปใบโพธิ์สีขาวกลางหน้าผาก บริเวณปลายหางเป็นสีขาวเรียกว่า “หางดอก” มีข้อเท้าขาวทั้ง 4 ข้างเหมือนสวมถุงเท้าเรียกว่า “ข้อเท้าด่าง” มีกีบเท้ายาวเป็นสีขาวเรียกว่า “กีบเท้าขาว” หรือเท้าขุนนาง มีลักษณะ “ปากคาบแก้ว” คือบริเวณจมูกเป็นสีขาว ปัจจุบันเหลือพญาควายในไทยไม่ถึง 100 ตัว และตามความเชื่อโบราณหากใครนำพญาควายไปฆ่าแกงหรือบริโภคผู้นั้นจะพบภัยพิบัติจนถึงแก่ชีวิต

สถานการณ์ควายไทยตอนนี้น่าเป็นห่วง และใกล้หมด เพราะ เรากินควายเยอะ ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ลูกชิ้นเนื้อวัวที่เรากินกันมีส่วนผสมของเนื้อควาย อีกทั้งควายมีอัตราการตกลูกต่ำ กว่าควายจะผสมพันธุ์ได้ต้องมีอายุมากกว่า 3 ปี และกว่าจะตกลูก 1 ตัวใช้เวลากว่า 2 ปี ภายใน 5 ปีจะได้ลูกควายแค่ 2 ตัว ไม่เหมือนหมูที่ให้ลูกปี 20 ตัว”  ศ.น.สพ.ดร.มงคลระบุ

สำหรับแนวทางในการช่วยเหลือควายไทยนั้น  ศ.น.สพ.ดร.มงคลกล่าวว่า คงห้ามคนกินควายไม่ได้ แต่อยากขอร้องให้หยุดฆ่าควายท้องและควายที่มีลูกติด เนื่องจากลูกควายใช้เวลาถึง 8 เดือนกว่าจะหย่านม ในบางพื้นที่จึงขายลูกควายเข้าโรงเชือดพร้อมแม่ควาย ซึ่งเป็นการทำลายควายอย่างมาก ส่วนการโคลนนิงยังไม่ตอบโจทย์การขยายพันธุ์ควายนัก เนื่องจากมีอัตราสำเร็จเพียง 1% ในขณะที่วัวมีอัตราสำเร็จ 3% แต่การโคลนนิงช่วยรักษาควายลักษณะพันธุ์ดีไว้ได้ และยังตอบโจทย์กรณีพ่อพันธุ์ต้นแบบแก่จนรีดน้ำเชื้อไม่ได้
ผู้ดูแล “โคลนทอง” นำพญาควายโคลนนิงออกจากคอกเพื่อทำความคุ้นเคยกับควายตัวเมีย

ลักษณะเด่นทั้ง 5 ของพญาควาย หน้าดอก-ปากคาบแก้ว-หางดอก-ข้อเท้าด่าง-กีบเท้าขาว
นายเกรียงศักดิ์ ทาศรีภู
























































ศ.น.สพ.ดร.มงคล เตชะกำพุ

สพ.ญ.ดร.อุตรา จามีกร






*******************************



กำลังโหลดความคิดเห็น