“ศูนย์ภูมิสารสนเทศสิรินธร” เตรียมเปิดให้บริการฝึกอบรมนักวิจัยภูมิสารสนเทศอย่างเป็นทางการ หลัง 20 มี.ค.นี้ อันเป็นผลพวงจากความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในจีน ด้านผู้บริหาร สทอภ.ชี้จะเพิ่มความโดดเด่นในกิจการอวกาศของไทย พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศใหม่ๆ ตอบโจทย์เอกชน
ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมอาคารศูนย์ภูมิสารสนเทศสิรินธร (สภ.) ตั้งอยู่ภายในอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมด้านอวกาศ (Space Krenovation Park : SKP) อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ระหว่างการตรวจเยี่ยมงานก่อสร้างอาคารศูนย์ดังกล่าวของ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะผู้บริหาร สทอภ.
ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สทอภ.เผยว่า ศูนย์ภูมิสารสนเทศสิรินธรมีจุดมุ่งหมายเป็นศูนย์กลางถ่ายทอดและพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศระดับนานาชาติของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะให้บริการการฝึกอบรม การศึกษา การวิจัย และพัฒนานวัตกรรม รวมทั้งการบูรณาทรัพยากรทั้ง บุคลากร อุปกรณ์และเครื่องมือ และคาดหวังว่าศูนย์ดังกล่าวจะช่วยเชื่อมโยงข้อมูลความรู้ และแลกเปลี่ยนนักวิจัยด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมากขึ้น ทำให้เกิดเทคโนโลยีอวกาศรูปแบบใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์เอกชน สอดคล้องวิสัยทัศน์ของ สทอภ.
“ศูนย์ฝึกอบรมนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสถาบันสถาบันสารสนเทศวิศวกรรมการสำรวจการทำแผนที่และภูมิสารสนเทศ มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ประเทศจีน และ สทอภ.ของไทย เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีทางอวกาศให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น เพราะต้องยอมรับเมื่อ 20 ปีก่อนภาพถ่ายดาวเทียมอาจเป็นที่สนใจ เพราะเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับมนุษย์ แต่ทุกวันนี้ทุกประเทศต่างมีดาวเทียมสำรวจทรัพยากรเป็นของตัวเอง การจะทำให้ภารกิจด้านอวกาศของไทยโดดเด่น จำเป็นต้องร่วมมือกับประเทศที่มีเทคโนโลยีอวกาศก้าวหน้าสูงอย่างจีน เพราะจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แลกเปลี่ยนนักวิจัยที่จะมาทำงานร่วมกัน ซึ่งไม่เพียงแค่นักวิจัยจากจีนเท่านั้น ศูนย์แห่งนี้ยังสามารถรองรับนักวิจัยจากนานาชาติโดยเฉพาะนักวิจัยจากกลุ่มประชาคมอาเซียน ซึ่งจะทำให้องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศของไทยก้าวหน้าไปได้ไกลมากกว่าการพัฒนาเพียงลำพัง” ผอ.สทอภ.กล่าว
นอกจากนี้ ดร.อานนท์ยังระบุถึงความสำคัญของความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศไทยจีนอีกด้วยว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์หลายด้าน ไม่เพียงแค่การพัฒนาด้านดาวเทียมที่ สทอภ.รับผิดชอบหลักเท่านั้น ยังจะทำให้เกิดความก้าวหน้าทางดาราศาสตร์อวกาศ และวิทยาศาสตร์ทุกๆ แขนงอีกด้วย เพราะในอนาคตอันใกล้นี้องค์กรด้านอวกาศของจีนมีแผนที่จะสร้างสถานีอวกาศเทียนกง 2 ที่มีขนาดใหญ่สามารถจุมนุษย์อวกาศได้มากถึง 100 คน ถือว่าใหญ่กว่าสถานีอวกาศนานาชาติในปัจจุบัน ทำให้คนไทยอาจได้รับโอกาสพิเศษสำหรับการขึ้นไปปฏิบัติภารกิจหรือทำการทดลองในอวกาศร่วมกับนักวิจัยนานาชาติ โครงการนี้ถือว่ามีความเป็นไปได้สูงเพราะสถานีอวกาศเทียนกง 1 ซึ่งเป็นสถานีอวกาศขนาดเล็กนำร่องของจีนได้ถูกส่งขึ้นไปปฏิบัติภารกิจบนอวกาศเป็นที่เรียบร้อยและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
ทว่า สิ่งที่ สทอภ.ให้สำคัญเป็นอันดับแรกยังคงเป็นการพัฒนาความสามารถในการนำข้อมูลภูมิสารสนเทศไปใช้ได้อย่างตรงจุด ดร.อานนท์กล่าวว่า จะปรับโครงสร้างให้ผู้ใช้งานข้อมูลภูมิสารสนเทศมีส่วนร่วมกับ สทอภ.มากขึ้น ทั้งในส่วนของการมอบโจทย์ความต้องการหรือการส่งนักวิจัยจากภาคเอกชนมาร่วมงานกับ สทอภ.เพื่อพัฒนาความสามารถการใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศร่วมกัน โดยจะเดินหน้าพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ เพื่อให้การวิเคราะห์และแปลความหมายข้อมูลภูมิสารสนเทศจากดาวเทียมเป็นไปตามความต้องการของผู้ใช้ให้มากที่สุด อีกทั้งยังสนับสนุนให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีอวกาศ ให้ขยายไปยังภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในระดับผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลาง และระดับอุตสาหกรรม เช่น การพัฒนาขีดจำกัดของดาวเทียม และรีโมตเซ็นซิ่งในกลุ่มผู้ซื้อเอกชน
นอกจากนี้ ดร.อานนท์ยังได้อัปเดตถึงสถานภาพของดาวเทียม “ไทยโชติ” ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติมูลค่า 6,000 ล้านบาทของไทย ที่ดูแลโดย สทอภ.ด้วยว่า ในขณะนี้ยังคงใช้การได้ดีแม้จะมีอายุถึง 6 ปีแล้วก็ตาม โดยตั้งเป้าหมายว่าจะพยายามให้ดาวเทียมไทยโชติสามารถใช้งานได้จนถึงอายุ 10 ปีเป็นอย่างน้อย แต่ก็ได้มีการเตรียมการหารือเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการจัดซื้อดาวเทียมไทยโชติ 2 และ 3 ไว้แล้วเช่นเดียวกัน เพราะที่ผ่านมาดาวเทียมไทยโชติได้สร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศเป็นที่ประจักษ์ในหลายๆ ด้าน ทั้งการเฝ้าระวังภัยพิบัติต่างๆ เช่น ไฟป่า และการเกิดมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 การโซนนิ่งวางแผนการเกษตร การวิเคราะห์สภาพดิน รวมถึงช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลที่จำเป็นต่อการวางแผนธุรกิจของภาคอุตสาหกรรม
ด้าน ดร.พิเชฐระบุว่า ศูนย์ภูมิสารสนเทศสิรินธรมีกำหนดเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มี.ค. 58 เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบรอบ 60 พรรษา โดยพระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานทรงเปิดงานอย่างเป็นทางการด้วย พร้อมทั้งเชิญชวนประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง อ.ศรีราชา ได้ไปร่วมรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เวลา 12.00 น.ในวันดังกล่าว เพื่อเทิดพระเกียรติ “เจ้าฟ้านักดาราศาสตร์” ของไทย
*******************************