xs
xsm
sm
md
lg

ไม่กลัวร้อน-ไม่อู้...ประลองหุ่นยนต์สร้างบ้านครั้งแรกในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อิฐมวลเบาที่เรียงด้วยหุ่นยนต์ออกมาเป็นระเบียบสวยงาม ในเวลาอันรวดเร็ว
วช.จับมือ Q-Con บริษัทธุรกิจอิฐมวลเบาเครือ SCG เปิดสนามประลองหุ่นยนต์สร้างบ้านครั้งแรกในไทย เตรียมใช้เทคโนโลยีตีตลาดอุตสาหกรรมก่อสร้างแทนมนุษย์ หลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง-แรงงานไร้ฝีมือ เปิดโอกาสนักศึกษาทั่วประเทศโชว์ฝีมือพัฒนาหุ่นยนต์พร้อมให้ทุนสนับสนุน เดินหน้าธุรกิจก่อสร้างไทยให้เป็นอันดับ 1 ของโลก



สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน บ.ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) จัดประกวดผลงานหุ่นยนต์สร้างบ้าน ครั้งที่ 1 ในวันที่ 2 มี.ค. 2558 ณ บ.ควอลิตี้คอนสตรัคชันโปรดัคส์ จำกัด (มหาชน) อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมี ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการ วช. เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร บ.ควอลิตี้คอนสตรัคชันโปรดัคส์ จำกัด (มหาชน)

ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการ วช. กล่าวว่า การพัฒนาหุ่นยนต์ถือเป็นอีกทางออกหนึ่ง ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจรับสร้างบ้าน ดำเนินหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะในปัจจุบันอุตสาหกรรมก่อสร้างกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนักทำให้เกิดการทะลักของแรงงานต่างด้าว อีกทั้งแรงงานเหล่านั้นยังเป็นแรงงานไร้ฝีมือ การพัฒนาเครื่องจักรให้ทำงานแทนมนุษย์จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ

ในฐานะที่ วช.มีบทบาทหลักในการส่งเสริมการวิจัย สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม จึงเข้ามาสนับสนุนและจัดให้มีการประกวด "การพัฒนาหุ่นยนต์สร้างบ้าน" ในกลุ่มนิสิต นักศึกษาขึ้น เพื่อให้เยาวชนไทยได้สร้างสรรค์เทคโนโลยีที่ทันสมัยตอบโจทย์ผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดการพัฒนาหุ่นยนต์สร้างบ้านต้นแบบที่สามารถนำมาต่อยอดเป็นหุ่นยนต์สร้างบ้านระดับอุตสาหกรรมเพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมการก่อสร้างได้ในอนาคต เลขาธิการ วช.กล่าว

นอกจากนี้ วช.ยังวางแผนในอนาคตที่จะสนับสนุนให้ชิ้นงานหุ่นยนต์สร้างบ้านให้ถูกนำไปใช้จริงในภาคอุตสาหกรรม ด้วยการร่วมมือกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ที่จะให้ทุนสนับสนุนผลงานวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์สร้างบ้านที่ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพแล้วจำนวน 30 ผลงาน ผลงานละ 2 ล้านบาท พร้อมด้วยการส่งเสริมงานวิจัยต่อยอดจาก วช. และการส่งเสริมด้านแผนธุรกิจและการตลาดจาก สนช เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการธุรกิจสร้างบ้านภาคเอกชนซื้อหุ่นยนต์ของนักศึกษาไปใช้ในอุตสาหกรรมจริง

"การแข่งขันหุ่นยนต์ในประเทศไทยเราเห็นกันมามาก แต่ยังไม่ค่อยเห็นการนำหุ่นยนต์มาใช้ประโยชน์จริงจังทั้งที่เยาวชนของเราก็มีศักยภาพมาก ประกอบกับภาคผู้ประกอบการก็ขาดแคลนแรงงานสร้างบ้าน โครงการจัดประกวดการพัฒนาหุ่นยนต์นี้จึงเกิดขึ้น ซึ่งวันนี้จะเป็นการประกวดหุ่นยนต์สร้างบ้านของนักเรียนนักศึกษาทั้งหมด 9 ทีมที่ผ่านเข้ารอบ จากทีมที่สมัครเข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 17 ทีมทั่วประเทศที่ วช.เปิดรับสมัครผู้เข้าแข่งขันมาตั้งแต่เดือน พ.ค. ในปีที่ผ่านมา" เลขาธิการ วช.กล่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ด้าน นายถวิล ขวัญกิจสกุลวีระ ผู้จัดการฝ่ายบริการเทคนิค บ.ควอลิตี้คอนสตรัคชั่นโปรดัคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ Q-Con กล่าวว่า การส่งเสริมเยาวชนที่มีความรู้ความสามารถและการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเป็นสิ่งที่ บ.ควอลิตี้คอนสตรัคชันโปรดัคส์ จำกัด (มหาชน) ดำเนินการมาโดยตลอด ซึ่งการจัดแข่งขันหุ่นยนต์สร้างบ้านในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่บริษัทฯ จะได้แสดงออกถึงศักยภาพในการเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมก่อสร้าง และยังเป็นการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการก่อสร้างไทยก้าวหน้าไปสู่การเป็นผู้นำอาเซียนและผู้นำระดับโลกได้

นายถวิล เพิ่มเติมว่า การใช้หุ่นยนต์สร้างบ้านจะมีบทบาทมากกับวงการก่อสร้างในอนาคต เพราะในขณะนี้การขาดแคลนแรงงานก่อสร้างถือเป็นปัญหาสำคัญ อีกทั้งแรงงานสมัยใหม่ก็เป็นแรงงานไม่มีคุณภาพ ที่อาจทำให้การก่อสร้างไม่เป็นไปตามมาตรฐาน โดยในการแข่งขันครั้งนี้บริษัทได้กำหนดโจทย์การพัฒนา "หุ่นยนต์ก่ออิฐ" ขึ้นเป็นลำดับแรกเพราะการก่ออิฐถือเป็นรากฐานของการสร้างอาคารที่จะต้องทำก่อนขั้นตอนอื่น และ บ.ควอลิตี้คอนสตรัคชันโปรดัคส์ จำกัด (มหาชน) ก็เป็นบริษัทที่ผลิตอิฐมวลเบาที่ได้มาตรฐานมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ อีกทั้งยังให้การสนับสนุนด้านวัสดุ ให้คำแนะนำโดยวิทยากรผู้มีความรู้ จัดหาสถานที่สำหรับการแข่งขัน และร่วมเป็นกรรมการตัดสินรางวัลโดยจะพิจารณาจากความถูกต้องของการจัดเรียงแผ่นอิฐมวลเบา เวลา ความเอียง และความสามัคคีของสมาชิกในทีม

"การก่ออิฐมวลเบาสร้างบ้านจะต้องใช้ฝีมือและความละเอียดของช่างระดับหนึ่ง อิฐแต่ละก้อนจะต้องถูกเชื่อมด้วยกาวซีเมนต์ที่ไม่หนาและไม่บางเกิน 2 มิลลิเมตรถ้าใช้แรงงานที่ไม่มีฝีมืออาจทำให้เกิดความผิดพลาดได้ค่อนข้างสูง บางคนฉาบบางไป บางคนฉาบหนาไป บ้างก็เอียงกะเท่เร่ซึ่งไม่ดีแน่ถ้าอาคารไหนต้องประสบปัญหาแบบนี้ แต่ถ้ามีหุ่นยนต์เข้ามาช่วย ปัญหาเหล่านี้จะหมดไปทำให้ได้ชิ้นงานที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน เพราะหุ่นยนต์ไม่เหนื่อย ไม่กลัวร้อน ไม่อู้ ไม่มีปัญหาทางใจมารบกวนการทำงาน อีกทั้งยังประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย ที่จะทำให้วงการอุตสาหกรรมก่อสร้างของประเทศไทยเจริญก้าวหน้าไปอีกขั้น เพราะการใช้หุ่นยนต์สร้างบ้านยังไม่เป็นที่แพร่หลายนักทั้งในไทยและต่างประเทศ" ผู้จัดการฝ่ายบริการเทคนิค บ.Q-Con เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ด้านผู้เข้าร่วมการแข่งขันอย่างทีมของ นายสิริฤกษ์ กลิ่นบุปผา นิสิตชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ที่ในวันนี้นำทีม InRoc Z-Bo มาเข้าร่วมการแข่งขันเผยว่า ยังคงรู้สึกตื่นเต้นแม้จะผ่านการซ้อมและพัฒนาตัวหุ่นยนต์มาพอสมควร ซึ่งหุ่นยนต์ของทีมเขามีจุดเด่นอยู่ที่การใช้ Servo Motor ซึ่งมีความแม่นยำช่วยให้การในการจัดวางตำแหน่งทำได้ง่ายภายในเวลาอันรวดเร็ว อีกทั้งยังถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่ายและใช้เวลาน้อยโดยสามารถก่ออิฐ 18 ก้อนในเวลาเพียงแค่ 16 นาทีเพราะหุ่นยนต์จะฉีดปูนไปพร้อมกับการเคลื่อนที่ทั้งด้านยาวและด้านข้างของผนังอิฐจึงสามารถก่ออิฐได้เป็นแนวตรง มีความแข็งแรงโดยเบื้องต้นใช้งบประมาณพัฒนาหุ่นยนต์ประมาณ 1 แสนบาท

ในส่วนของนายจตุภูมิ อ้ายโน นักศึกษาปี 4 ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ตัวแทนจากทีมลูกพ่อขุ่นเม็งราย เผยว่า ที่คณะของเขามีการพัฒนาหุ่นยนต์ขึ้นอยู่เป็นประจำ การพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับสร้างบ้านจึงเป็นสิ่งที่ไม่ยากจนเกินไป โดยหุ่นยนต์ที่นำมาร่วมแข่งขันในวันนี้ใช้เวลาพัฒนาเพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น สำหรับจุดเด่นที่คิดว่าจะได้เปรียบคู่แข่งทีมอื่น คือหุ่นยนต์ของเขาจะก่ออิฐได้ครั้งละ 4 แผ่นทำให้สร้างได้อย่างรวดเร็วและมีความผิดพลาดน้อย โดยใช้งบประมาณพัฒนาหุ่นยนต์ที่วงเงินประมาณ 80,000 บาท

ทั้งนี้ทั้ง 9 ทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน จะได้รับถ้วยรางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้นจาก จาก วช.โดยทีมที่ชนะเลิศ จะได้รับเงินรางวัล 80,000 บาท, รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้เงินรางวัล 50,000 บาท และรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้เงินรางวัล 30,000 บาท โดยผลการแข่งขันจะถูกประกาศอย่างเป็นทางการและมีการมอบรางวัลในวันที่ 12 มี.ค. ในงาน Home Builder Focus 2014 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ กรุงเทพฯ ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์จะได้ติดตามผลการแข่งขันมานำเสนออีกครั้งหนึ่ง และจะมีการเปิดรับสมัครการพัฒนาหุ่นยนต์สร้างบ้านครั้งที่ 2 ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 58
นายถวิล ขวัญกิจสกุลวีระ (ซ้าย) ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ (ขวา)
ผู้บริหารจากทั้ง 2 หน่วยงานร่วมในพิธีเปิดการแข่งขัน
บรรยากาศการแข่งขัน
นักศึกษาแต่ละทีมขะมักเขม้นกับการแข่งขัน
นายสิริฤกษ์ กลิ่นบุปผา นิสิตชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ทีมลํกพ่อขุนเม็งราย (ขวาสุด) นายจนุภูมิ อ้ายโน นักศึกษาชั้นปีที่ 4






*******************************



กำลังโหลดความคิดเห็น