xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก "ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ" แหล่งเลี้ยงลิง-วิจัยวัคซีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลิงหางยาว long-tailed macaque  โดย Asst Prof.Michael D. Gumert
กว่าจะเป็นวัคซีนหลอดหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านกระบวนการมากมายตั้งแต่การคิดค้นจนถึงการทดสอบ ที่หลายคนอาจไม่รู้ว่าหนึ่งในเบื้องหลังเหล่านั้นมาจากเพื่อนร่วมโลกอย่าง "ไพรเมท" หรือ "ลิง" สัตว์โลกแสนรู้ผู้อุทิศตัวเพื่อช่วยชีวิตมนุษย์ ตามไปดู "ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ" สถานที่วิจัยและผลิตไพรเมทเพื่อการวิจัยที่นำไปสู่การผลิตวัคซีนรักษาโรคของประเทศไทย

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ พาไปเปิดประตูดูไพรเมทแลนด์ ดินแดนวิจัยลิงแห่งใหม่ที่ "ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ" บนพื้นที่โครงการพัฒนาที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.แก่งคอย จ.สระบุรี กับ ศ.ดร.สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ ผู้ที่ผลักดันให้เกิดศูนย์วิจัยแห่งนี้ขึ้นในประเทศไทย

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ - ทำไมต้องศึกษาไพรเมท ?

ศ.ดร.สุจินดา - อย่างที่ทราบกันดีว่าโลกเราสมัยนี้เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน เชื้อโรคมีมากขึ้นมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ ทำให้เกิดโรคอุบัติใหม่ๆ หรือทำให้โรคระบาดที่มีอยู่เดิมมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เราในฐานะนักวิจัยจึงจำเป็นต้องพัฒนายารักษาโรคให้มีประสิทธิภาพเท่าทันกับโรคร้ายเหล่านั้น แต่การจะผลิตวัคซีนและยารักษาโรคแต่ละชนิดมาใช้กับคน จำเป็นต้องผ่านกระบวนการทดสอบมากมาย หนึ่งในนั้นคือขั้นตอนการนำมาทดลองกับสิ่งมีชีวิต หรือในสัตว์ใหญ่ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายคลึงกับคน ซึ่งนั่นก็คือ สัตว์ในกลุ่ม "ไพรเมท" หรือลิงที่เรารู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดี ซึ่งการศึกษาวิจัยในไพรเมทนี้ถือว่ามีความสำคัญ และเป็นเหมือนโซ่ข้อกลางที่จะนำไปสู่การพัฒนายา และวัคซีนชนิดใหม่ๆ จากการวิจัยด้านเภสัชวิทยา และด้านสรีรวิทยาที่เป็นงานวิจัยขั้นพื้นฐาน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดการผลักดันให้มี "ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ" ขึ้น

ทีมข่าววิทยาศาสตร์- ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ ทำอะไรบ้าง ?

ศ.ดร.สุจินดา - หน้าที่หลักของศูนย์วิจัยไพรเมท คือเป็นศูนย์กลางการศึกษา เป็นหน่วยบริการงานวิจัย การทดสอบ และผลิตชีววัตถุที่ต้องใช้สัตว์ไพรเมท ที่ศูนย์แห่งนี้มีห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน มีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อมสรรพ รวมถึงที่พักอาศัยสำหรับนักวิจัยที่เข้าไปทำงานในพื้นที่

ทำหน้าที่รองลงมา คือ การผลิตลิง หรือสัตว์กลุ่มไพรเมท หรือพูดง่ายๆ ว่า คือการเลี้ยงลิง เพื่อนำมาใช้ในการทดสอบทางห้องปฏิบัติการของเราเอง และส่งออกไปยังห้องปฏิบัติการวิจัยไพรเมทในประเทศต่างๆ เพราะการทดสอบยาในแต่ละชนิดจำเป็นต้องทำในลิงจากหลายภูมิภาค เพื่อดูความแปรปรวนในระดับพันธุกรรมที่จะมีความแตกต่างกันไปในลิงแต่ละสายพันธุ์ เพื่อให้ยาหรือวัคซีนที่ผลิตออกมามีความเสถียรสามารถใช้ได้กับคนทั่วโลก ซึ่งลิงจากกัมพูชาและไทยเป็นลิงที่ได้รับความสนใจให้เป็นตัวแทนของลิงในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ศูนย์วิจัยฯ ต้องผลิตลิงเอง

หน้าที่สุดท้าย คือการเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับสัตว์ไพรเมทของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะในประเทศไทยยังไม่เคยมีศูนย์วิจัยทางด้านไพรเมท มีเพียงศูนย์วิจัยในสัตว์ฟันแทะ ที่ ม.มหิดลเท่านั้น ซึ่งในการดำเนินงานจัดตั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯในการสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ฯ ตอนเริ่มแรก และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการสนับสนุนงบประมาณด้านครุภัณฑ์ การก่อสร้าง และบุคคลากร

นอกจากนี้ยังได้ขยายความร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ที่จะเข้ามาดูแลด้านมาตรฐานห้องปฏิบัติการและโรงเลี้ยงให้ถูกต้องตามหลักสากล และในส่วนของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่จะเข้ามาเป็นผู้รับบริการรายแรกเพื่อเดินหน้าผลิตวัคซีนฝีมือคนไทยกว่า 9 ชนิดที่ใช้รักษาใน 7 โรค แทนที่การส่งนักวิจัยไปทดสอบวัคซีนกับสัตว์ทดลองในต่างประเทศที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินมหาศาล

ทีมข่าววิทยาศาสตร์-ภายในศูนย์วิจัยไพรเมทมีอะไรบ้าง?

ศ.ดร.สุจินดา -ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2555 ตั้งอยู่บนพื้นที่โครงการพัฒนาที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.แก่งคอย จ.สระบุรี แต่ก่อนหน้านั้นก็ได้มีการเลี้ยงลิง และวิจัยนำร่องบางส่วนในพื้นที่ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนพญาไท กรุงเทพฯ ก่อนจะขยับขยายมายังที่ จ.สระบุรี

ศูนย์วิจัยจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ ส่วนของอาคารวิจัย และส่วนของโรงเลี้ยงลิง โดยส่วนของอาคารวิจัยนั้นจะต้องสร้างให้ได้ตามมาตรฐานความปลอดภัยทางชีววิธีในการใช้สัตว์ทดลองระดับสูง (Animal Biosafety Level 2 and 3 :ABSL 2-3) เพราะเป็นการวิจัยเพื่อทำยาและวัคซีน และในส่วนของโรงเลี้ยงลิงจะเป็นโรงเลี้ยงกึ่งเปิด 3 อาคารที่เป็นไปตามมาตรฐาน AAALACi และ GLP ที่เป็นมาตรฐานอาคารเลี้ยงสัตว์ทดลองระดับสากล แบ่งเป็นโรงอนุบาล, โรงเลี้ยงลิงขนาดใหญ่ และโรงขนาดเล็ก ที่สามารถรองรับลิงได้ทั้งสิ้น 560 ตัวโดยคาดว่าโรงเลี้ยงลิงจะแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย.นี้ และจะเปิดให้หน่วยงานจากภายนอกเข้ามาใช้งานได้อย่างเต็มรูปแบบในปี 2562 ส่วนจะมีการขยายโครงการเพิ่มเติมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความต้องการที่ต้องมีการประเมินในอนาคตอีกครั้งหนึ่ง

ภายในศูนย์เลี้ยงลิงเพียง 3 ชนิด ได้แก่ ลิงแสม, ลิงวอก และลิงมาร์โมเส็ท เพราะเป็นลิงที่ตรงกับความต้องการในการนำไปใช้ประโยชน์ด้านงานวิจัยที่จำเพาะ โดยลิงแสมหรือลิงหางยาวเป็นลิงที่พบในไทยและประเทศแถบอาเซียนเท่านั้น ซึ่งในประเทศที่มีการวิจัยวัคซีนอย่างเข้มแข็งอย่างสหรัฐฯ ยังไม่มีลิงแสมเพื่อใช้ในการวิจัย จึงเกิดความต้องการลิงแสมจากประเทศไทยขึ้น เพราะการจะทดสอบยาแต่ละชนิดต้องทำในสัตว์ทดลองที่มีลักษณะทางพันธุกรรมหลากหลาย ในส่วนของลิงวอกก็เป็นที่ตัองการเช่นกัน เพราะมีประเทศที่ผลิตลิงวอกเข้าสู่การใช้งานในแล็บไพรเมททั่วโลกมีแค่ 2 ประเทศ คือ จีนและอินเดีย และในส่วนของลิงมาร์โมเส็ทที่ถือเป็นลิงโลกใหม่ทำให้มีลักษณะที่ไม่คล้ายคน แบบลิง 2 ชนิดแรกที่เป็นลิงโลกเก่า ก็ได้รับความนิยม เพราะเป็นลิงขนาดเล็กที่ไวต่อปริมาณยาแม้เพียงเล็กน้อย ทำให้เหมาะต่อการทดสอบยาชนิดใหม่ๆ ที่มีปริมาณยาแรกเริ่มจำนวนน้อย

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ - เรามีจุดแข็งกว่าศูนย์วิจัยไพรเมทเพื่อนบ้านอย่างไร?

ศ.ดร.สุจินดา - ก่อนอื่นต้องบอกว่าประเทศเพื่อนบ้านแถบอาเซียนมีศูนย์ไพรเมทหรือแหล่งเพาะพันธุ์ลิงอยู่หลายแห่ง ทั้งที่ประเทศลาว, กัมพูชา, เวียดนาม, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย แต่ศูนย์ที่ได้มาตรฐานและมีการทำวิจัยเป็นที่ยอมรับมีเพียงที่ประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เท่านั้น จุดเด่นที่ทำให้มั่นใจว่านักวิจัยจากทั่วโลกจะเข้ามาใช้บริการที่ศูนย์วิจัยไพรเมท คือ ประเทศไทยไม่มีปัญหาเรื่องศาสนา เพราะการทำวิจัยในสัตว์ทดลองบางขั้นตอนอาจมีส่วนที่ขัดแย้งกับหลักคำสอนในศาสนาหลักของบางประเทศ ประกอบกับนักวิจัยไทยและเทคโนโลยีต่างๆ ค่อนข้างมีความพร้อม และลิงของเราก็มีความเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีสายพันธุ์ใดเหมือน ทำให้นักวานรวิทยาจากทั่วโลกหันมาศึกษาลิงไทยเกิดเป็นความสัมพันธ์แบบต่อเนื่องระหว่างนักวิจัยและมหาวิทยาลัยที่เคยทำงานร่วมกันมา อีกทั้งยังเป็นศูนย์วิจัยแบบครบวงจรซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ง่ายต่อการเดินทาง
กรงลิงในห้องปฏิบัติการ
ภายนอกอาคารเลี้ยงลิง
ภายนอกอาคารเลี้ยงลิง
ภายในอาคารเลี้ยงลิง
กรงลิงถูกสร้างตามมาตรฐานสากล
เครื่องเล่นสำหรับลิง
ถาดให้อาหารภายในกรงลิง
ศ.ดร.สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ






*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น