xs
xsm
sm
md
lg

ไร้เสียงมา 2 ปี "แต้วแร้วท้องดำ" อาจสูญพันธุ์ไปแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นกแต้วแร้วท้องดำเพศเมีย ภาพโดย นายเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง ถ่ายเมื่อ เม.ย. 56
บทเรียนราคาแพงประเทศไทย ไร้เสียง "นกแต้วแร้วท้องดำ" มา 2 ปี เชื่ออาจสูญพันธุ์ไปแล้ว ผู้เชี่ยวชาญเผย ป่าเขาประ-บางคราม จ.กระบี่ ไม่เคยสงบตั้งแต่ทัวร์จีนบุกสระมรกต แถมสวนยางซุกป่าอื้อเหตุสำคัญทำนกหนี หวังยังไม่สูญพันธุ์ แค่ต้องหวังปาฏิหาริย์ วอนทุกฝ่ายเร่งฟื้นฟูก่อนสายเกินแก้

นายวัชระ สงวนสมบัติ นักปักษีวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เผยถึงสถานการณ์ความสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของนกแต้วแร้วท้องดำ (Black-breasted pitta) ว่า ในขณะนี้เข้าข่ายน่าเป็นห่วง เพราะจากการลงสำรวจพื้นที่ของนักวิจัยจากหลายๆ หน่วยงานในช่วงที่ผ่านมา ไม่มีรายงานการพบนกแต้วแร้วท้องดำ ในขณะที่ 10 ปีก่อนพบมากถึง 13 คู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม อ.คลองท่อม จ.กระบี่

วัชระ กล่าวว่า นกแต้วแร้วท้องดำเป็น 1 ใน 15 สัตว์ป่าสงวนของไทย เป็นนกประจำถิ่น พบได้เฉพาะในป่าที่ราบต่ำของประเทศไทยและประเทศพม่า เป็นนกที่ไม่ต้องการป่าสมบูรณ์แต่มีความชื้น มีต้นไม้ปกคลุม มักทำรังอยู่ตามต้นหวาย เป็นนกที่มีความสวยงามสีสันสดใส เป็นขวัญใจของบรรดาผู้รักการถ่ายภาพ และเหล่าคนดูนก ซึ่งสำหรับประเทศไทยคาดว่าพบได้แห่งเดียวเท่านั้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม อ.คลองท่อม จ.กระบี่ ซึ่งในขณะนี้นกแต้วแร้วท้องดำได้ค่อยๆ หายไป พร้อมกับความเจริญทางวัตถุที่เข้ามาแทนที่

สาเหตุหลักที่ทำให้นกแต้วแร้วท้องดำหายไปจากป่า เกิดจากการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่สวนทางกับการอนุรักษ์ ที่วัชระระบุว่า เป็นผลข้างเคียงจากการพยายามทำให้ "สระมรกต" ซึ่งอยู่ในพื้นที่ป่าเดียวกันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ที่บางส่วนส่งเสียงอึกทึกครึกโครมและบุกรุกเข้ามาใพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ จนทำให้ผืนป่าที่เคยเงียบสงบไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป นอกจากนี้ยังมีการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อรุกที่ทำสวนยาง เกิดเป็นปัจจัยอีกอย่างที่ทำให้พื้นที่อาศัย และพื้นที่การหาอาหารของนกน้อยลง

"ครั้งล่าสุดที่ผมเห็นแต้วแร้วท้องดำกับตาตัวเองนี่ต้องย้อนไปประมาณปี 2547 หลังจากนั้นก็ได้ยินข่าวว่าพบบ้าง แต่ในช่วงหลังๆ 2-3 ปีมานี้ไม่ได้ยินข่าวเลย ผมเชื่อนะว่ามันยังไม่สูญพันธุ์ แต่เปอร์เซ็นต์ที่จะพบคงน้อยมาก ยังไม่อยากพูดว่ามันหมดหรือผมกำลังปลอบใจตัวเองก็ไม่รู้ เพราะเมื่อประมาณ 10 กว่าปีก่อน สระมรกตยังไม่ได้บูมขนาดนี้ไทยยังเหลือแต้วแร้วท้องดำเพียง 13 คู่ มาถึงตอนนี้ที่สระมรกตมีแต่ทัวร์จีน ส่งเสียงอึกทึกคึกโครมสนั่นมาถึงป่า เป็นผมยังไม่อยากอยู่เลย แล้วนกมันจะอยู่หรอ? แล้วอีกอย่างคือนกประเภทนี้มันต้องการพื้นที่พอสมควร ในขณะที่ตอนนี้พื้นที่ป่ากลับร่อยหรอลง แล้วมันจะอยู่ที่ไหน กินที่ไหน ถ้าไม่รีบแก้ไขปัญหานี้ก็แน่นอนว่ามันต้องสูญพันธุ์" วัชระ เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

วัชระยังแนะอีกด้วยว่า วิธีการที่ดีที่สุด คือ การฟื้นฟูป่า การรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติมีจิตสำนึก และการเข้ามาดำเนินการอย่างจริงจังของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะก่อนหน้านี้มีโครงการฟื้นฟูธรรมชาติ และโครงการเพาะพันธุ์นกแต้วแร้วท้องดำแต่ไม่ได้ดำเนินการเป็นรูปเป็นร่าง เพราะนกแต้วแร้วท้องดำเป็นสัตว์สงวนที่เหลืออยู่น้อยมากในไทย ถ้าหากเกิดความผิดพลาดขึ้นจะเป็นที่ติฉินของคนในสังคม แต่จากการฟังสัมมนาสัตว์ป่าประเทศไทย ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อปี 2556 ก็มีข่าวดีแว่วมาว่าในอนาคตอาจมีนำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์นกจากพม่าเข้ามาเพาะพันธุ์ในประเทศไทย การอนุรักษ์นกแต้วแร้วท้องดำจึงยังไม่สิ้นหนทาง

“หลายคนก็เคยถามผมนะ ว่านกสูญพันธุ์แล้วจะทำไม? มันไม่เห็นมีความสำคัญอะไรกับชีวิต ไม่ได้มีผลกระทบ ผมอยากฝากไปถึงคนเหล่านั้นว่า นกก็เป็นสิ่งมีชีวิตอย่างหนึ่งเช่นเดียวกันกับเรา แต่มันไม่ได้เก่งที่จะต่อสู้เอาชีวิตรอดได้เหมือนกับเรา คุณลองนึกดูสิว่าถ้าคุณมีนิ้วมือครบ ใช้การได้ แต่ปลายนิ้วของคุณมันแหว่งคุณจะมีความสุขไหม ? ถึงมันจะไม่ใช่นกเศรษฐกิจ ไม่ได้มีบทบาทสำคัญอะไร แต่มันคือตัวแทนของธรรมชาติที่กำลังถูกมนุษย์ทำร้าย ทั้งที่มันเป็นเพียงแค่สิ่งมีชีวิตเล็กๆ เป็นผู้บริโภคขั้นทุติยภูมิกินแมลง หนอน ไส้เดือนเป็นอาหาร ที่คอยขับเคลื่อนระบบห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศให้พวกเราใช้ชีวิตได้อย่างปกติ เพราะฉะนั้นเราต้องทำอะไรบางอย่างกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ จัดการกับคนให้รู้จักเที่ยวอย่างอนุรักษ์ เพราะกรณีนกแต้วแร้วท้องดำที่เกือบสูญพันธุ์นี้ คือฝีมือมนุษย์ล้วนๆ ธรรมชาติไม่เกี่ยว" วัชระ กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ล่าสุด นายเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง นักดูนกสมัครเล่น และผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการดูนกอีกจำนวนหนึ่งยังได้ยืนยันกับทางทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ด้วยว่า ในช่วงปี 2557 และตลอดช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาของปี 2558 ไม่มีผู้ใดพบนกแต้วแร้วท้องดำ หรือได้ยินเสียงอีกเลย จึงมีแนวโน้มที่ว่านกแต้วแร้วท้องดำอาจจะเข้าสู่ภาวะสูญพันธุ์แล้วจริง ซึ่งทีมข่าวฯ ยังต้องติดตามข้อมูลการสำรวจอีกครั้งจาก รศ.ฟิลิปป์ ราวน์ (Philip Round) อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ที่เข้ามาบุกเบิกวงการสำรวจนกแต้วแร้วเมืองไทยอีกครั้ง ซึ่งในขณะนี้ติดภารกิจอยู่ที่ประเทศบังคลาเทศ

***หมายเหตุ***
* นกแต้วแร้วท้องดำ และ นกแต้วแล้วท้องดำ เป็นคำที่ถูกต้อง สามารถใช้ได้ 2 แบบ
**เลอสรรค์ วศิโนภาส อนุเคราะห์ภาพประกอบจากหนังสือ คู่มือศึกษาธรรมชาติหมอบุญส่งเลขกุล นกเมืองไทย
นกแต้วแร้วท้องดำ (Black breasted pitta) ภาพประกอบจากหนังสือ คู่มือศึกษาธรรมชาติหมอบุญส่งเลขกุล นกเมืองไทย
นายวัชระ สงวนสมบัติ นักปักษีวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)






*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น