ทำความรู้จัก “นกแต้วแร้วท้องดำ” สัตว์ป่าสงวนชนิดล่าสุดที่กำลังจะถูกแขวนป้ายว่า “สูญพันธุ์” หลังไม่มีรายงานการค้นพบติดต่อกันหลายปี กับวัชระ สงวนสมบัติ นักปักษีวิทยา แห่ง อพวช.
นายวัชระ สงวนสมบัติ นักปักษีวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เผยว่า นกแต้วแร้วท้องดำ หรือ นกแต้วแล้วท้องดำ คือนกชนิดเดียวกัน สามารถเขียนได้ทั้ง 2 แบบ ชื่อว่าท้องดำเกิดจากสีของเส้นขนบริเวณส่วนอกตอนปลายและท้องของนกตัวผู้ซึ่งมีลักษณะเด่นจนผู้ค้นพบนำมาตั้งเป็นชื่อสามัญ
"นกแต้วแร้วท้องดำเป็นนกขนาดเล็ก ลำตัวสั้นป้อมยาวประมาณ 20 ซม. ตาสีดำโตใส ปากแหลมแต่สั้นเนื่องจากกินเมล็ดพืช แมลง และไส้เดือนเป็นอาหาร เป็นนกที่มีความสวยงาม มีสีสันจัดจ้านโดยเฉพาะตัวผู้ ที่จะมีทั้งขนสีดำ น้ำตาล เหลืองสด และน้ำเงินแซมอยู่เป็นสัดส่วน จึงไม่แปลกที่แต้วแร้วท้องดำจะเป็นขวัญใจของเหล่านักดูนก ที่ไม่ว่าใครหากได้เดินทางมาภาคใต้ของประเทศไทยก็ต้องมาแวะชมเผื่อจะได้พบกับเจ้าท้องดำนี้สักครั้ง" วัชระให้ข้อมูล
วัชระ อธิบายว่า นกทั้ง 2 เพศจะมีลักษณะคล้ายกันต่างที่สีขนและขนาดตัว นกตัวผู้จะมีสีสดส่วนหัวมีสีดำ กระหม่อมและท้ายทอยมีฟ้าน้ำเงิน คอมีสีเหลืองสด และบริเวณอกตอนล่างไปจนถึงท้องมีสีดำสนิท ลำตัวอ้อนสั้นในขณะที่ตัวเมียจะมีสีสดใสน้อยกว่า ส่วนหัวและหลังมีสีน้ำตาล ปลายหางมีสีฟ้า และไม่มีแถบสีดำบริเวณหน้าอกที่อาจทำให้สับสนได้ว่าเป็นนกชนิดอื่น ซึ่งในวงศ์ของนกแต้วแร้วเองก็มีด้วยกันหลายสายพันธุ์ อาทิ แต้วแร้วสีน้ำเงิน, แต้วแร้วเขียวเขมร หรือ แต้วแล้วลาย
นกแต้วแร้วท้องดำมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า พิตตา เจอนีอาย (Pitta gurneyi) มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า Gurney's Pitta หรือ Black-breasted Pitta เป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 เช่นเดียวกับ นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร, แรด, กระซู่, กูปรีหรือโคไพร, ควายป่า, ละองหรือละมั่ง, เลียงผา, กวางผา, นกกระเรียน, แมวลายหินอ่อน, สมัน, สมเสร็จ, เก้งหม้อ และพะยูน
นกแต้วแร้วท้องดำออกไข่เพียงคราวละ 3-4 ฟองเท่านั้น กินแมลง ไส้เดือน และสัตว์มีกระดูกสันหลังเล็กๆ เป็นอาหาร มีอายุประมาณ 10 ปี ซึ่งวัชระระบุว่าา เป็นการประมาณโดยนักปักษีวิทยา ยังไม่มีผู้ใดทำการวิจัยโดยละเอียด และเป็นนกที่ต้องการพื้นที่ป่ามาก เพราะมักอยู่เป็นตัวเดี่ยวๆ มีอาณาเขตของตัวเอง เป็นนกประจำถิ่นไม่มีการอพยพ
นอกจากนี้ วัชระ ยังระบุเพิ่มเติมด้วยว่า นกแต้วแร้วท้องดำมักสร้างรังอยู่บนต้นหวาย ต้นกะพ้อ และเถาวัลย์ มีการกระจายตัวอยู่บริเวณที่ราบต่ำมากๆ ขึ้นไปถึงที่ราบเชิงเขาที่ระดับความสูงไม่เกิน 200 เมตร หรือพื้นที่ป่าฟื้นตัวใหม่จากการแผ้วถางที่มีแหล่งน้ำและความชื้น พบที่ประเทศไทยและพม่าเท่านั้น ซึ่งในประเทศไทยคาดว่าพบได้เพียงแห่งเดียว คือ บริเวณป่าที่ราบต่ำเขานอจู้จี้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม จ.กระบี่
"ในช่วงปี 2556 สำรวจประชากรนกแต้วแร้วท้องดำได้ทั้งสิ้น 13 คู่ แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมา กลับไม่มีใครพบนกแต้วแร้วท้องดำอีกเลย ซึ่งคาดว่าสาเหตุสำคัญมาจากการบุกรุกที่ป่าเพื่อทำสวนยาง และการท่องเที่ยวสระมรกตที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเกินไปจนทำให้เกิดความวุ่นวายเสียงดัง นกแต้วแร้วท้องดำจึงไม่อยู่ให้เราได้รู้จักอีกต่อไป” วัชระกล่าว
*******************************