xs
xsm
sm
md
lg

“ม้าไม้มอเตอร์” บำบัด "เด็กออทิสติก" ปูทางสัมผัสม้าจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปูทางก่อนใช้อาชาบำบัดด้วย “ม้าไม้มอเตอร์” สิ่งประดิษฐ์ภูมิปัญญาไทยทดแทนม้าจริง ทางเลือกใหม่แก้เด็กออทิสติกสมาธิสั้น ฝีมือครูสาธิตฯ ขอนแก่นร่วมกับผู้ประกอบการหัตถกรรมภาคเหนือ ผู้เชี่ยวชาญเผย สัมผัสอ่อนโยนจากสัตว์ช่วยเด็กพิเศษก้าวร้าวลดลง ฟังคำสั่งมากขึ้น แถมกล้ามเนื้อแข็งแรง

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น เป็นสถานศึกษาอีกแห่งหนึ่งที่รับดูแลเด็กพิเศษ ที่ป่วยเป็นออทิสติก ซึ่งนายศักดาเดช สิงคิบุตร ครูฝ่ายการศึกษาพิเศษ (ศูนย์วิจัยออทิสติก) โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่า ฝ่ายการพิเศษของโรงเรียน เป็นอีกแห่งหนึ่งที่รับเด็กออทิสติกเข้าศึกษา ซึ่งในขณะนี้มีเด็กพิเศษอยู่ที่โรงเรียนประมาณ 60 คน

"เด็กพิเศษจะมีปัญหาเบื้องต้นอย่างหนึ่งที่เหมือนกัน คือ สมาธิสั้น ทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมที่จดจ่ออยู่กับที่ได้เป็นเวลานาน แต่จะมีความรุนแรงแตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน รายที่มีอาการไม่มากจะอยู่นิ่งได้ค่อนข้างนาน แต่หลังจากนั้นก็จะเหม่อลอยและไม่เชื่อฟังคำสั่ง แต่ในรายที่มีอาการรุนแรงจะควบคุมยากเพราะเด็กจะไม่อยู่กับที่ และมักกรีดร้องหรือร้องไห้เสียงดังเพื่อดึงดูดให้คนใกล้เคียงสนใจ" นายศักดาเดชเผย

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงนำหลักสูตร “อาชาบำบัด” (Hippotheraphy) เข้ามาใช้ ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน โดยคำว่า Hippo มาจากภาษากรีก แปลว่า ม้า และ Therapy แปลว่าการบำบัด และเป็นอีกศาสตร์หนึ่งของการบำบัดด้วยสัตว์ ซึ่งศักดาเดช ระบุว่า มีงานวิจัยจากต่างประเทศสนับสนุน ให้เด็กพิเศษขี่ม้าเพราะจะช่วยทำให้มีสมาธิมากขึ้นได้ เนื่องจากเด็กจะได้ฝึกเรียนรู้พฤติกรรม อารมณ์ของม้า รวมไปถึงการรู้จักการควบคุมอารมณ์และร่างกายของตัวเองเมื่ออยู่บนหลังม้า อีกทั้งม้ายังมีความพิเศษมากกว่าสัตว์ชนิดอื่น เพราะเป็นสัตว์ที่ช่วงตัวมีอุณหภูมิร่างกายที่ 37 องศาเซลเซียสเช่นเดียวกับคน เป็นสัตว์ที่เชื่อฟังคำสั่ง รับความรู้สึกได้ไว มีกระดูกเชิงกรานที่ใหญ่เหมาะสำหรับการฝึกเด็กพิเศษ

“เราใช้อาชาบำบัดกับเด็กพิเศษมามากพอสมควร เด็กส่วนใหญ่มีพฤติกรรมดีขึ้น มีสมาธิมากขึ้น ทำให้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ดีกว่าเดิม แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะใช้ม้าจริงกับเด็กพิเศษได้ทุกราย เด็กที่ยังคงมีอาการสมาธิสั้นมากๆ จะไม่สามารถขึ้นม้าได้เลย เพราะเพียงแค่ม้าทำเสียงลมหายใจ เขาก็จะปล่อยเชือกอานแล้วตกจากม้าได้ทันที ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องเตรียมความพร้อมให้กับเขาก่อนขึ้นม้าจริง โดยการสร้างม้าไม้มอเตอร์ขึ้นมา เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้ใช้ปรับตัว ก่อนที่จะไปถึงขั้นการขึ้นม้าจริง” ศักดาเดช เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ศักดาเดช อธิบายว่า ม้าไม้มอเตอร์ที่โรงเรียนใช้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือกับ บริษัท ไทยร็อกกิ้ง ฮอส จำกัด แห่งประเทศไทย ผู้ผลิตหัตถกรรมไม้แกะสลักภาคเหนือส่งออกที่สามารถแกะสลักไม้เป็นท่าทางการวิ่งของม้าได้อย่างงดงาม มีลักษณะเหมือนม้าจริงทุกประการเพียงแค่ย่อส่วนให้เล็กลง มีฐานเป็นเหล็ก ปรับความเร็วได้ตามความต้องการ สูงสุดที่ 60 รอบต่อนาที ขึ้นอยู่กับครูหรือผู้ฝึกที่จะเป็นผู้ประเมินว่าเด็กมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน เสียงเงียบ ควบคุมโดยระบบไฟฟ้าภายในบ้าน เคลื่อนไหวได้ตามแนวระนาบทางด้านหน้าและด้านหลัง นอกจากนี้ยังใช้วัสดุชนิดอื่นจำพวก เรซิ่นหรือพลาสติกมาขึ้นรูปเป็นตัวม้าได้

ในขณะนี้มีเด็กออทิสติกที่ผ่านการฝึกสมาธิด้วยม้ามอเตอร์แล้วทั้งสิ้น 19 คน และส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้นโดยประเมินได้จากระยะเวลาการจดจ่ออยู่กับงานที่มอบหมาย การเชื่อฟังคำสั่ง และพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์บางอย่าง เช่น การดิ้น หรือการกรีดร้อง มีความถี่ลดลง เป็นต้น จนสามารถนำไปฝึกร่วมบนหลังม้าจริงได้

“จุดประสงค์หลัก ของการใช้ม้าไม้ คือการกระตุ้นพัฒนาการของเด็ก ให้เด็กรับรู้ได้ดีขึ้น ปฏิบัติตามคำสั่งได้ดีขึ้น ลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ลง นอกจากนี้สิ่งที่จะได้ตามมาคือ การพัฒนาด้านระบบประสาท การประมวลผลรับความรู้สึก ที่จะช่วยให้เด็กพิเศษมีระบบประสาทเอ็นและข้อต่อดีขึ้น กล้ามเนื้อมีความแข็งแรงและสามารถทรงตัวได้ดีขึ้นจากความรู้สึกและประสบการณ์ตรงที่เขาได้จากม้า สนนราคาม้าไม้อยู่ที่ตัวละ 80,000 บาท แต่ราคาจะแตกต่างออกไปตามวัสดุที่ใช้” ศักดาเดช กล่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ด้าน ด.ญ.ธัญมน ธนะมั่น นักเรียนชั้น ป.5 โรงเรียนสันติสุขวิทยา กรุงเทพฯ สาวน้อยใจกล้าที่ขอขึ้นไปพิสูจน์ความรู้สึกบนหลังม้ามอเตอร์ด้วยตัวเอง เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ตอนแรกก็จะเสียวๆ นิดหน่อยแต่เมื่อนั่งไปนานๆ ก็สนุก ตัวเธอไม่เคยขึ้นหลังม้าจริงๆ แต่หลังจากได้มาลองนั่งบนม้าไม้ทำให้รู้สึกว่าต้องใช้สมาธิมากขึ้นเพราะกลัวตก จึงเชื่อมั่นว่าม้าไม้มอเตอร์จะสามารถช่วยเด็กที่เป็นออทิสติกได้ เพราะขนาดเธอที่เป็นเด็กปกติยังต้องใช้สมาธิ และทักษะการทรงตัวมากเป็นพิเศษขณะอยู่บนหลังม้า







*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น