xs
xsm
sm
md
lg

เจ๋ง! ขยายสัญญาณอินเทอร์เน็ตด้วยท่อพีวีซี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ขวาสุด) นนอ.ชนสร เฉลิมทรัพย์ ภาควิชาคอมพิวเตอร์ ชั้นปีที่ 3 กับผลงานสายอากาศแอร์ฟอซแอนเทนนา
ต่อเน็ตคมชัดไม่ง้อสายแลน ครูนายเรืออากาศประดิษฐ์เครื่องขยายสัญญาณอินเทอร์เน็ต เชื่อมต่อไกลกว่า 5 ก.ม. เผยวิธีทำแสนง่ายเลียนแบบกลไกการสะท้อนคลื่นไมโครเวฟ ใช้ต้นทุนต่ำเพียง500 บาท ได้เสาอากาศคุณภาพดีเทียบเท่าเดินสายแลนไฟเบอร์ออพติก กวาดรางวัลอื้อจากเวทีสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ

นักเรียนนายเรืออากาศ (นนอ.) พงศธร ระหงษ์ ภาควิชาคอมพิวเตอร์ ชั้นปีที่ 3 โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช กรุงเทพ กล่าวว่า สิ่งประดิษฐ์สายอากาศแอร์ฟอร์ซแอนเทนนา สำหรับเชื่อมต่อเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบไร้สาย (Air Force Antenna for Wireless Computer Network Connection) เป็นผลงานการประดิษฐ์คิดค้นของ นาวาอากาศโท รศ.พลสมุทร จินารัตน์ และ เรืออากาศเอก พายัพ ศิรินาม อาจารย์ของเขาที่ต้องการทำสิ่งประดิษฐ์ชนิดใหม่เพื่อใช้แก้ปัญหาอินเทอร์เน็ตภายในโรงเรียน

นนอ.พงศธร เผยว่า อินเทอร์เน็ตภายในโรงเรียนมีความแรงไม่เท่ากัน อินเทอร์เน็ตฝั่งกองการศึกษาจะมีความเร็วที่ดีกว่าฝั่งกรมนักเรียน อาจารย์จึงคิดทำสายอากาศชนิดนี้ขึ้น เพื่อส่งสัญญาณไวไฟจากฝั่งที่มีสัญญาณดีกว่ามาให้อีกฝั่ง ให้นักเรียนมีอินเทอร์เน็ตที่เร็วและมีความเสถียรมากขึ้น โดยไม่ต้องเดินสายแลนให้เปลืองงบประมาณเนื่องจากระยะห่างระหว่างตึกทั้งสอง มีระยะทางที่มากพอสมควร

“เน็ตของฝั่งนักเรียนค่อนข้างมีปัญหาครับ ช้าบ้าง กระตุกบ้าง สร้างปัญหาอยู่ตลอด พออาจารย์ทราบเรื่องเข้าด้วยความที่ท่านเป็นนักประดิษฐ์จึงพยายามทำสายอากาศ เพื่อให้การรับส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตลื่นไหลและไกลกว่าเดิม เพราะปกติเสาอากาศเราเตอร์ (Router) จะมีรัศมีการส่งสัญญาณที่ 100- 200 เมตรเท่านั้น สายอากาศใหม่ที่อาจารย์ทำขึ้น จึงมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญหลักๆ เลยคือต้องทำให้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบไร้สายทำมีคุณภาพดีขึ้นและส่งได้ไกลขึ้นเพื่อให้พวกนักเรียนได้ใช้อินเทอร์เน็ตแบบทันใจกับเขาบ้าง” นนอ.พงศธร เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ด้าน นนอ.ชนสร เฉลิมทรัพย์ ภาควิชาคอมพิวเตอร์ ชั้นปีที่ 3 กล่าวเสริมว่า ด้วยเหตุข้างต้นอาจารย์ของเขาจึงเริ่มทำสิ่งประดิษฐ์โดยได้รับแรงบันดาลใจจาก “แคนเทนนา” (Cantenna) สายอากาศรับส่งสัญญาณจากกระป๋องโลหะที่เคยมีชาวต่างชาติประดิษฐ์ไว้ก่อนหน้า แต่เปลี่ยนมาประยุกต์ใช้กับท่อพีวีซีเพื่อความคงทน ที่ภายในบุด้วยอะลูมิเนียมฟลอยด์เพื่อสะท้อนคลื่นไมโครเวฟ เกิดเป็น “พีวีซีแอนเทนนา” สายอากาศรุ่นแรกที่สามารถขยายสัญญาณได้ไกลกว่า 3 กิโลเมตร ในขณะที่แคนเทนนาของต่างชาติส่งสัญญาณได้เพียง 500 ม.แต่อาจารย์ของเขายังคงพัฒนาต่อด้วยการนำกรวยรับน้ำฝนมาประกอบเข้าที่ปากของพีวีซีแอนเทนนา (PVC Antenna) เพื่อขยายพื้นที่รับสัญญาณ เกิดเป็นสายอากาศรุ่นปัจจุบันคือ “แอร์ฟอซแอนเทนนา” (Air Force Antenna) ที่สามารถขยายสัญญาณได้ไกลกว่า 5 กิโลเมตร

“ปกติการเชื่อมต่อไวไฟจะเป็นการเชื่อมต่อแบบจุด (access point) ถ้าเครื่องรับสัญญาณอินเทอร์เน็ตอยู่ใกล้เราเตอร์ (Reuter) ก็จะได้รับสัญญาณแรงกว่า ทำให้อินเทอร์เน็ตบริเวณนั้นมีความเร็วกสูงว่าและเสถียรกว่าบริเวณที่อยู่ไกล เพราะฉะนั้นการจะส่งสัญญาณไวไฟให้ได้ระยะไกลมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องบีบสัญญาณให้เล็กลง เพื่อให้สัญญาณอินเทอร์เน็ตเดินทางได้ไกลกว่าเดิม ซึ่งหลักการนี้คือหลักการที่อาจารย์ของผมนำมาใช้ประดิษฐ์สายอากาศทั้ง 2 รุ่น ที่เมื่อนำเข้ามาเชื่อมต่อกับเราเตอร์ สายอากาศนี้จะทำหน้าที่เป็นเหมือนตัวจัดระเบียบสัญญาณให้ไปยังจุดหมายได้ไกลโดยไม่สูญเสียสัญญาณไประหว่างทาง ทำให้สัญญาณอินเทอร์เน็ตในบริเวณที่มีสายอากาศแอร์ฟอซแอนเทนนา มีความคมชัดและความเร็วพอๆ กับที่บริเวณที่อยู่ใกล้ๆ เราเตอร์แม้ความจริงจะอยู่ไกลถึง 5 กม.” นนอ.ชนสร อธิบายกลไกแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ทั้งนี้ นนอ.ชนสร เผยว่า ทั้งพีวีซี แอนเทนนา และแอร์ฟอซแอนเทนนา ได้รับการจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในรูปแบบสาธารณะที่คนทั่วไปสามารถศึกษาค้นคว้าและประดิษฐ์ตามได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เพราะอาจารย์ของเขาต้องประดิษฐ์เครื่องต้นแบบราคาถูกเพื่อใช้ในโรงเรียนแบบไม่หวังผลกำไร โดยมีต้นทุนต่อชิ้นเพียง 500 บาทเท่านั้น โดยสายอากาศแอร์ฟอซแอนเทนนาได้รับคัดเลือกให้เป็นผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศในระดับนานาชาติให้มาจัดแสดงในงานวันนักประดิษฐ์ประจำปี 2558 ที่จัดขึ้น ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา เพราะเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ประสบความสำเร็จจากการเข้าร่วมการแข่งขัน และได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดประดิษฐ์จากหลายประเทศทั้ง เกาหลี ไต้หวัน และสวิสเซอร์แลนด์
นนอ. พงศธร ระหงษ์  ภาควิชาคอมพิวเตอร์ ชั้นปีที่ 3โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช
“แอร์ฟอซแอนเทนนา” (Air Force Antenna)
(ทรงกระบอกกลางรูป) พีวีซีแอนเทนนา (PVC Antenna)






*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น