xs
xsm
sm
md
lg

ดันทุเรียนไทยไปอินเตอร์ด้วย "กล่องซ่อนกลิ่น"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การฝ่าดงหนามเพื่อลิ้มลองเนื้อทุเรียนว่ายากแล้ว การควบคุมกลิ่นของมันไม่ให้ออกมารบกวนคนอื่นยิ่งยากกว่า นวัตกรรมสร้างสรรค์สำหรับคนรักทุเรียน อาจารย์ มธ.ผุดไอเดียบรรจุภัณฑ์ฉลาด “เก็บกลิ่น-เพิ่มอายุทุเรียนแกะเนื้อ” ลดปัญหากลิ่นกวนใจ พกพาไปได้ทุกที่ ตอบโจทย์ตลาดส่งออก

รศ.วรภัทร ลัคทินวงศ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่าทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีมูลค่าและมีปริมาณการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ของไทย ในแต่ละปีสร้างมูลค่าได้ถึง5,000-6,000 ล้านบาท ด้วยรสชาติที่หวานมันอร่อยทำให้ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนมีความต้องการทุเรียนค่อนข้างสูง

ทว่าในขณะเดียวกันกลิ่นและลักษณะเนื้อทุเรียนที่มีความอ่อนนิ่มเป็นเอกลักษณ์ ก็ทำให้การส่งออกทุเรียนในรูปแบบที่แกะเนื้อแล้วมีปัญหา กลายเป็นข้อกีดกันทางการค้าที่ทำให้ไทยไม่สามารถส่งออกทุเรียนได้มากเท่าที่ควร นอกจากเนื้อสัมผัสที่มีความอ่อนนุ่ม จนไม่สามารถขนส่งเป็นระยะไกลได้แล้ว รศ.วรภัทร เผยว่าสถานที่หลายแห่งยังมีการติดป้ายประกาศห้ามนำทุเรียนเข้าอีกด้วย ทั้งในส่วนของสนามบิน โรงแรมและร้านอาหารบางแห่งทำให้ผู้ที่อยากรับประทานทุเรียน โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่เดินทางมาถึงเมืองไทยต้องพลาดโอกาส

“ทุเรียนสร้างเงินเข้าประเทศเราได้ปีละมหาศาลนะ แต่ความที่เปลือกหนา ปอกยาก แล้วก็กลิ่นแรงทำให้การจะขายทุเรียนค่อนข้างยากกว่าผลไม้ชนิดอื่น ที่ผ่านมาเลยมีการทำเป็นทุเรียนแช่แข็ง ทุเรียนอบ รวมทั้งทุเรียนทอดออกจำหน่าย ซึ่งมีรสชาติดีแต่ไม่ได้รสสัมผัสไม่เหมือนทุเรียนสด อีกทั้งเนื้อทุเรียนที่แกะแล้วมีราคาสูงมากถึงประมาณ 800 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ผู้ประกอบการมอบโจทย์ข้อนี้ให้กับนักวิจัยเพื่อทำบรรจุภัณฑ์สำหรับทุเรียนแบบใหม่ ที่มีสมบัติป้องกันกลิ่นและทำให้เนื้อทุเรียนมีอายุการเก็บนานขึ้นได้” รศ.วรภัทรระบุ

รศ.วรภัทรจึงพัฒนา “บรรจุภัณฑ์ฉลาดสำหรับทุเรียน” เพื่อแก้ปัญหากลิ่นรัญจวนใจของราชาผลไม้ไทยชนิดนี้ โดยสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ทำขึ้นเพื่อ บริษัท สยามเมอร์ริทพลัส จำกัด ที่ทำธุรกิจด้านการส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีน สิงคโปร์ และยุโรปมาเป็นเวลานาน บรรจุภัณฑ์ดังกล่าวได้ถูกออกแบบมาให้มีลักษณะเหมาะสมกับทุเรียนตัดแต่งพร้อมบริโภคทุกสายพันธุ์ ภายในกล่องใหญ่จะมีช่องเล็ก 2 ช่องสำหรับบรรจุเนื้อทุเรียนและถูกปิดทับด้วยพลาสติกใสชนิดพิเศษ พร้อมกับฉลากบ่งชี้อายุการเก็บรักษา (Freshness Indicator) หรือ Shelf life indicator เพื่อบ่งบอกการหมดคุณภาพของการบริโภคทำให้ผู้บริโภคทราบระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ก่อนตัดสินใจซื้อ และหุ้มด้วยกล่องกระดาษรูปลักษณ์ทันสมัยอีกครั้ง

จุดเด่นของบรรจุภัณฑ์นี้อยู่ที่ระยะเวลาในการเก็บรักษาเนื้อทุเรียน ที่จะมีอายุได้ถึง 45 วัน ในขณะที่ทุเรียนปกติจะอยู่ได้นานสุดเพียงแค่ 7 วันเท่านั้น ซึ่งในส่วนของประเภทบรรจุภัณฑ์ไม่สามารถลงรายละเอียดได้เพราะเป็นความลับทางธุรกิจ และจุดเด่นอีกข้อคือ คุณสมบัติในการเก็บกลิ่น ซึ่ง รศ.วรภัทร พัฒนาตัวดูดซับกลิ่นมาจากแอคทีฟคาร์บอน (Active Carbon) หรือถ่านจากเปลือกทุเรียนเผาที่มีไซโคลเด็กซ์ทริน (Cyclodextrin) ช่วยดักจับกลิ่น ซึ่งมีการวิจัยรองรับแล้วว่ามีประสิทธิภาพดีกว่าแอคทีฟคาร์บอนจากชีวมวลชนิดอื่น

“งานวิจัยตัวต้นแบบเสร็จสมบูรณ์แล้วตั้งแต่ปี '57 ตอนนี้อยู่ในมือเอกชนที่จะนำไปผลิตเพื่อใช้กับการส่งออกจริง ต้นทุนต่อกล่องอยู่ที่ประมาณ 30 บาท ถือว่าถูกมากเมื่อเทียบกับประสิทธิภาพและราคาทุเรียนแกะเปลือกกิโลกรัมละ 800 บาท ส่วนตัวผมรู้สึกดีนะที่งานวิจัยทำเสร็จแล้วได้นำไปใช้จริงๆ โดยเฉพาะกับทุเรียนที่ถือเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ” รศ.วรภัทร กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์







*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น