xs
xsm
sm
md
lg

สทอภ.ส่งทีมไปประจำจังหวัดเสี่ยงไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
กระทรวงวิทย์ฯ พร้อมร่วมมือทุกหน่วยงานรับมือภัยแล้ง ส่งเทคโนโลยีดาวเทียมติดตามจุดเกิดไฟป่าทั่วประเทศ พร้อมใช้เทคโนโลยีนาโน ผลิตเครื่องกรองน้ำพลังแสงอาทิตย์คืนน้ำสะอาดให้ประชาชนในภาวะวิกฤต และผลิตเครื่องกรองน้ำกร่อยรับมือสถานการณ์ น้ำเค็มรุกแม่น้ำสายหลักช่วงฤดูแล้ง

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) และ ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมแถลงข่าวสนับสนุนแก้ปัญหาภัยแล้งโดยใช้เทคโนโลยีดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ และเทคโนโลยีนาโนเทคเพื่อผลิตน้ำสะอาดช่วยเหลือประชาชนในภาวะวิกฤต

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า หนึ่งในนโยบายของรัฐบาลคือการบริหารจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติอย่างเป็นเอกภาพในทุกมิติ ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยมีการบูรณาการแผนงานและงบประมาณร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันความซ้ำซ้อน มีความเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ โดยกำหนดกลไกในการบริหารจัดการน้ำและการเตือนภัย ซึ่ง สทอภ.เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติของไทย ดาวเทียมไทยโชต และดาวเทียมดวงอื่นๆ เพื่อเป็นข้อมูลตัดสินใจในการวิเคราะห์เพื่อการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ

รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ปัญหาไฟป่าและหมอกควันเกิดขึ้นทุกปี ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อบูรณาการ ติดตามและบรรเทาร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ นำโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงกลาโหม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และกระทรวงมหาดไทย โดยในส่วนของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ รับผิดชอบในเรื่องของการจัดทำข้อมูลด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และภัยพิบัติ สนับสนุนภาพถ่ายดาวเทียม ในพื้นที่ที่เกิดความร้อนสูงบริเวณจุดความร้อน (Hot spot) ซึ่งเป็นที่กำเนิดของไฟป่า และได้นำไปใช้ประโยชน์ร่วมกับภาพถ่ายทางอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะให้ฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และอ้างอิงถึงกันได้ เพื่อให้เกิดการวิเคราะห์ที่ไม่เลื่อมล้ำหรือผิดเพี้ยนไปจากความจริง

ขณะที่ ดร.อานนท์ กล่าวเสริมว่า สทอภ. ได้ทำงานร่วมกับพื้นที่ที่ประสบปัญหาไฟป่าและหมอกควันอย่างต่อเนื่อง โดยมีศูนย์ปฏิบัติการทางด้านไฟป่า ใน 6 จังหวัด ภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ ตาก และแม่ฮ่องสอน ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจ ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน โดยจัดบุคลากรของ สทอภ.ไปประจำที่จังหวัดภาคเหนือที่มีความเสี่ยงสูงจังหวัดละ 2 คน ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ ตาก และแม่ฮ่องสอน เพื่อสนับสนุนภูมิสารสนเทศเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าของจังหวัด

ด้าน ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า ศูนย์นาโนเทคมีโครงการวิจัยมุ่งเป้าในด้านน้ำสะอาด ที่ได้รับการยอมรับทั้งในด้านวิชาการและด้านสังคม โดยทีมวิจัยได้พัฒนาวัสดุกรองน้ำและเสริมเทคโนโลยีนาโนเข้าไปเพื่อให้ระบบกรองมีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้น้ำสะอาดตามมาตรฐานน้ำดื่มของกระทรวงสาธารณสุข จนกระทั่งออกมาเป็นเครื่องผลิตน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยเทคโนโลยีไส้กรองนาโน สามารถผลิตน้ำดื่มในสภาวะวิกฤตอุทกภัยและภัยพิบัติต่างๆ ได้ โดยนาโนเทคและสภากาชาดไทยได้ร่วมกันพัฒนานำเครื่องผลิตน้ำดื่มนี้มาใช้สำหรับช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ดีมาก กำลังการผลิตประมาณ 200 ลิตร ต่อชั่วโมง สำหรับผู้ประสบภัยได้มากกว่า 1,000 คนต่อวัน ซึ่งเครื่องดังกล่าว ได้ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อให้สภากาชาดไทย นำไปใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์

“ขณะนี้เทคโนโลยีไส้กรองนาโน ที่ได้รับการพัฒนาโดยศูนย์นาโนเทคพัฒนา ขณะนี้ได้ถ่ายทอดให้กับภาคเอกชนแล้ว จึงอยากเชิญชวนหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีความพร้อมในการนำเทคโนโลยีนี้ไปขยายผลในพื้นที่ภัยแล้ง โดยบูรณาการทั้งคนและงบประมาณร่วมกัน ให้สามารถผลิตเครื่องผลิตน้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยเทคโนโลยีไส้กรองนาโนเพิ่มจำนวนมากขึ้น ให้เพียงพอต่อการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งมากกว่า 30 จังหวัดในขณะนี้” ผอ.ศูนย์นาโนเทค ระบุ

ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีเครื่องกรองน้ำดื่มจากน้ำกร่อยด้วยเทคโนโลยีไส้กรองนาโน ซึ่งศูนย์นาโนเทค ได้พัฒนาขึ้น ร่วมกับ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) เพื่อแก้ปัญหาน้ำเค็มรุกแม่น้ำบางปะกงในช่วงฤดูแล้ง สามารถกรองน้ำกร่อยหรือน้ำเค็ม ให้เป็นน้ำดื่มที่มีคุณภาพตามมาตรฐานได้ โดยใช้เทคโนโลยีนาโน ผลิตไส้กรองนาโน ซึ่งมีจุดเด่นในการยืดอายุการใช้งานของไส้กรองรีเวอร์สออสโมซิสซึ่งมีรูพรุนเล็กมาก ดังนั้นโมเลกุลของน้ำเท่านั้นที่ผ่านเข้าไปได้ เครื่องดังกล่าวสามารถกรองน้ำกร่อยให้เป็นน้ำดื่มที่มีคุณภาพตามมาตรฐานได้ ที่สำคัญเป็นเครื่องกรองน้ำดื่มจากน้ำกร่อยเคลื่อนที่ได้เหมาะสำหรับการขนย้ายไปยังลุ่มน้ำต่างๆที่ประสบภาวะวิกฤตน้ำเค็ม
ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา , ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ และ ศ.ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล






*******************************



กำลังโหลดความคิดเห็น