xs
xsm
sm
md
lg

Blue Moon การกลับมาเต็มดวงเป็นครั้งที่ 2 ในรอบเดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ภาพดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2 ของเดือน ซึ่งเราจะเรียกเหตุการณ์นี้ว่า Blue Moon นั่นเอง (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 5DSR / Lens : Lunt Engineering Telescopes 560mm. F7 + Extender 1.5X / Focal length : 840 mm. / Aperture : f/11 / ISO : 400 / Exposure : 1/400 sec.)
ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านหลายคนคงได้ยินข่าว การเกิด Blue Moon ในช่วงสิ้นเดือน ซึ่งการเกิด Blue Moon คือ การมีดวงจันทร์เต็มดวงซ้อนกันถึง 2 ครั้ง โดยการเต็มดวงครั้งที่ 2 ของเดือนนั้น เราจะเรียกกันว่า Blue Moon ปกติแล้วดวงจันทร์ในหนึ่งเดือนปฏิทินจะมี 30-31 วัน ซึ่งการเกิดเฟสของดวงจันทร์จากเต็มดวงครั้งหนึ่งแล้วกลับมาเต็มดวงอีกครั้งหนึ่ง ใช้เวลา 29.5 วัน ซึ่งใกล้เคียงกัน เราจึงพบว่าในหนึ่งเดือนปฏิทินนั้นมักจะมี 1 เดือนมืดและ 1 เดือนเพ็ญเสมอ

หากแต่เดือนจันทรคติ (โดยใช้การเปลี่ยนเฟสหรือดิถี ของดวงจันทร์เพื่อบอกข้างขึ้น ข้างแรมบอกเดือน) สั้นกว่าเดือนปฏิทินเล็กน้อย ทำให้วันที่ดวงจันทร์เต็มดวงมีการเลื่อนไปในทางที่เร็วขึ้นทุกๆ เดือน ดังนั้น จึงมีบางเดือนที่เกิดดวงจันทร์เต็มดวงขึ้น 2 ครั้ง คือต้นเดือนครั้งหนึ่งและปลายเดือนอีกครั้งหนึ่ง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนักซึ่งคงเป็นสาเหตุที่ฝรั่งเอาไปพูดเป็นสำนวนว่า once in a blue Moon ซึ่งหมายถึงนานๆ ครั้งนั่นเอง ซึ่งโดยเฉลี่ยจะเกิดขึ้นประมาณ 2.72 ปีต่อครั้ง

คำว่า blue Moon ไม่ได้หมายถึงพระจันทร์เป็นสีน้ำเงิน แต่เหตุการณ์ที่พระจันทร์กลายเป็นสีน้ำเงินนั้นก็มีจริงเหมือนกัน ซึ่งเกิดจากฝุ่นควันในบรรยากาศจำนวนมากจากไฟป่าครั้งใหญ่ในแคนาดา และในวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2426 เถ้าถ่านในบรรยากาศจากการระเบิดของภูเขาไฟการากาตัวก็ทำให้ดวงจันทร์กลายเป็นสีน้ำเงิน

สำหรับ Blue Moon ครั้งนี้เกิดขึ้นในเดือน กรกฎาคม ซึ่งครั้งแรก Full Moon ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2558 ตอนต้นเดือนที่ผ่านมา และเกิด Blue Moon ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2558 นี้

ข้อมูลการเกิด Blue Moon ของปีที่ผ่านมา และในครั้งต่อไป

พ.ศ.ดวงจันทร์เต็มดวงครั้งแรกของเดือนดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่สองของเดือน
2555Full Moon - 02 สิงหาคม 2555Blue Moon - 31 สิงหาคม 2555
2558Full Moon - 02 กรกฎาคม 2558Blue Moon - 31 กรกฎาคม 2558
2561Full Moon - 02 มกราคม 2561Blue Moon - 31 มกราคม 2561
2561Full Moon - 02 มีนาคม 2561Blue Moon - 31 มีนาคม 2561


จะเห็นว่าการเกิด Blue Moon ไม่ใช่เกิดขึ้นง่ายๆ และที่กล่าวมาข้างต้นก็เป็นที่มาของเหตุการณ์นี้ อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน เรายึดถือกันให้ง่ายๆ เพียงแค่ดูว่าเดือนไหนมีดวงจันทร์เต็มดวง 2 ครั้ง ก็เรียกครั้งที่ 2 ว่า Blue moon ได้เลยครับ

เทคนิคและกระบวนการประมวลผลภาพ

สำหรับการถ่ายภาพเหตุการณ์ Blue Moon เพื่อให้ได้รายละเอียดที่คมชัดมากที่สุดนั้น นอกเหนือจากสภาพท้องฟ้าที่ควรจะใสเคลียร์แล้ว เทคนิคหนึ่งคือการถ่ายภาพด้วยเทคนิคทางดาราศาสตร์แบบที่นักดาราศาสตร์ใช้กัน คือการถ่ายภาพต่อเนื่อง หลายๆภาพแล้วนำมา Stacking นั่นเองครับ

ดังนั้น ก่อนการถ่ายภาพนั้น เราควรรู้ก่อนเสมอว่าเราต้องการภาพนำไปประมวลผลอย่างไร และในการประมวลผลนั้นต้องใช้ภาพอย่างไร เราจึงวางแผนวิธีการถ่ายภาพ เพื่อให้ได้ไฟล์ภาพตามที่ต้องการจะนำไปประมวลผลตามวิธีการทางดาราศาสตร์
ภาพดวงจันทร์ Blue Moon ที่ผ่านการ Stacking Images จำนวน 20 ภาพ ทำให้ได้คอนทราสและรายละเอียดความคมชัดที่ดีขึ้น (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 5DSR / Lens : Lunt Engineering Telescopes 560mm. F7 + Extender 1.5X / Focal length : 840 mm. / Aperture : f/11 / ISO : 400 / Exposure : 1/400 sec. / 20 Images.)
เทคนิคและวิธีการถ่ายภาพ
ในการถ่ายภาพนั้น หากเป็นไปได้ควรหาสถานที่ที่มีทัศนวิสัยท้องฟ้าที่ดี ซึ่งบริเวณโดยรอบไม่ควรมีมวลอากาศร้อน หรืออยู่ในเมือง ทางที่ดีหากออกไปถ่ายตามชานเมืองหรือบนยอดดอยก็จะมีทัศนวิสัยที่ดีกว่า เพราะด้วยตาเปล่าเรามองไม่ออก หากลองใช้อุปกรณ์ถ่ายภาพที่มีความยาวโฟกัสสูงๆ จะสามารถเห็นผลของมวลอากาศร้อนได้ชัดเจน ซึ่งส่งผลให้ได้ภาพที่ไม่คมชัดเนื่องจากผลของมวลอากาศ
1.เพื่อให้ได้ภาพดวงจันทร์ที่คมชัด ควรถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องที่มั่งคง
2.ใช้ระบบการถ่ายภาพโดยล็อกกระจกขึ้น เพื่อป้องกันเพื่อป้องกันภาพสั่นไหว เบลอ
3.ใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ไม่ต่ำจนเกินไป เพื่อป้องกันภาพสั่นไหว เบลอ
4.ใช้สายลั่นชัตเตอร์ เพื่อป้องกันภาพสั่นไหว เบลอ
5.โฟกัสภาพด้วย Live view เพื่อให้สามารถปรับโฟกัสได้ละเอียดและคมชัดมากที่สุด
6.ใช้ความไวแสงไม่เกินต่ำ ISO : 100-400 เพื่อให้ได้ไฟล์ภาพที่ใสเนียน
7.ใช้โหมดถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ภาพดวงจันทร์ที่มีตำแหน่งใกล้เคียงกันมากที่สุด
8.ถ่ายภาพต่อเนื่อง 10-30 หรือมากกว่านั้น เพื่อนำมา Stacking
9.ถ่ายภาพดวงจันทร์ ในตำแหน่งดวงจันทร์ที่สูงที่สุด จะได้ภาพที่ใสเคลียร์มากที่สุด เนื่องจากผลของมวลอากาศบริเวณขอบฟ้าจะหนาแน่นมากกว่ากลางท้องฟ้า

การประมวลผลภาพถ่ายด้วยวิธี Stacking Images
ในการประมวลผลภาพด้วยวิธีการนำภาพถ่ายจำนวนหลายๆ ภาพมา Stacking Images นั้น ถือว่าสามารถช่วยให้เราได้ภาพที่มีความคมชัดและรายละเอียดดีขึ้น มากกว่าการถ่ายภาพเพียงภาพเดียว เนื่องจากในแต่ละภาพถ่ายนั้น ภาพหนึ่งๆก็อาจชัดที่สุดบริเวณหนึ่ง และอีกหลายๆภาพ ก็อาจชัดบริเวณอื่นๆ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากผลของชั้นบรรยากาศที่ตาเราไม่อาจมองเห็นได้

ดังนั้นการถ่ายภาพมาจำนวนหลายๆภาพ แล้วนำมา Stacking ซอฟต์แวร์จะประมวลผลนำเอาส่วนที่มี คอนทราสและความคมชัดของแต่ละภาพมาใช้ในการแสดงผล เพื่อให้ได้ภาพที่มีรายละเอียดดีที่สุด โดยซอฟต์แวร์ที่นักดาราศาสตร์นิยมนำมาใช้ Stacking ซอฟต์แวร์หนึ่งก็คือ RegiStax นั่นเอง โดยมีวิธีง่ายๆ ลองทำตามขั้นตอนได้เลยครับ
RegiStax 6 คือ ฟรีแวร์ที่คุณสามารถดาวน์โหลดได้ฟรี ซึ่งออกแบบมาใช้สำหรับการประมวลผลภาพถ่ายประเภทวัตถุในระบบสุริยะ ไม่ว่าจะเป็น ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ หรือแม้แต่ดาวเคราะห์ต่างๆ
เริ่มจากการเลือก Select เพื่อเลือกไฟล์ภาพ โดยในตัวอย่างผมใช้ ภาพดวงจันทร์ทั้งหมด 20 ภาพ มาใช้ในการ Stacking Images
ขั้นตอนต่อไปก็เพียงแค่ คลิกตามลำดับที่ซอฟแวร์ เขียนเส้นใต้สีเขียวตามลำดับได้เลย Set Alignpoints > Align > Limit ตามลำดับ
หลังจากขั้นตอนการ Align แล้ว เราจะเห็นว่าแนวที่ภาพมรการเคลื่อนที่เปลี่ยนตำแหน่งไปในทิศทางใด ดังภาพตัวอย่างผมถ่ายดวงจันทร์บนขาตั้งกล้องที่นิ่งอยู่กับที่ จะเห็นว่าดวงจันทร์เคลื่อนที่ไปทางขวา ขั้นตอนต่อไปก็คลิ๊ก Stack ได้เลย (ในขั้นตอนนี้จะใช้เวลาพอสมควร)
เมื่อ Stacking เรียบร้อยแล้ว สามารถเข้าไปปรับความคมชัดของภาพได้ ในแถบเมนูบาร์ Wavelet ซึ่งปกติผมจะใช้แถบเครื่องมือเพียงแค่ 2 แถวแรก (อันนี้ต้องลองปรับกันเอง) ในขั้นตอนนี้ซอฟต์แวร์จะแสดงผลของการปรับเพียงบางส่วนเท่านั้น (ดังภาพ) หลังจากปรับภาพเป็นที่พอใจแล้ว ให้คลิ๊ก Do All เพื่อให้ทำการประมวงผลทั่วทั้งภาพ และคลิ๊ก Save Image เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอน
ตัวอย่างการเปรียบเทียบความคมชัดและรายละเอียด ของภาพถ่ายดวงจันทร์ 1 ภาพ กับภาพถ่ายดวงจันทร์ 20 ภาพที่ผ่านกระบวนการ Stacking Images
(ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์ / Camera : Canon 5DSR / Lens : Lunt Engineering Telescopes 560mm. F7 + Extender 1.5X / Focal length : 840 mm. / Aperture : f/11 / ISO : 400 / Exposure : 1/400 sec. / 20 Images.)
นอกจากนั้นข้อดีของการนำภาพถ่ายจำนวนหลายภาพมา Stacking Images จะได้ภาพที่มีรายละเอียดสูงขึ้นแล้ว ไฟล์ภาพยังมีความยืดหยุ่นในการปรับภาพสูงขึ้นอีกด้วย ดังเช่นภาพข้างต้น เป็นการนำภาพดวงจันทร์มาปรับเร่งความอิ่มสีของภาพขึ้น ทำให้เห็นสีต่างๆ บนผิวดวงจันทร์ “โดยแต่ละสีนั้นจะบ่งบอกถึงธาตุองค์ประกอบที่ต่างกัน ซึ่งสามารถนำไปศึกษาองค์ประกอบบนผิวดวงจันทร์ได้”

เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน














กำลังโหลดความคิดเห็น