“เข้าป่าสะแกราช ห้ามพลาดดูหำโจร” นี่ไม่ใช่คำทะลึ่ง แต่คือคำเชิญชวนของเจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ที่กำลังสอนทีมข่าวฯ ให้รู้จักกับพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งซึ่งก็คือ “ต้นหำโจร” พืชกินได้แห่งป่าสะแกราช อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา
แม้ชื่อจะดูทะลึ่งไปสักนิด แต่นายสมัย เสวครบุรี นักวิจัยอาวุโสประจำสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า นี่คือชื่อท้องถิ่นจริงๆ ที่ชาวบ้านนิยมใช้เรียกต้น “กล้วยอีเห็น” ทั้งที่ก็ไม่ทราบว่ามีความเป็นมาที่แน่ชัดอย่างไร แต่ที่มั่นใจที่สุดคือ ผลของต้นหำโจร เป็นอาหารอันโอชะของเหล่าบรรดาสัตว์ป่าโดยเฉพาะอีเห็น และนางอายเพราะมีรสชาติมันและกลิ่นที่หอมดึงดูด
กล้วยนางอาย มีชื่อท้องถิ่นหลายชื่อมากไปกว่า หำโจร ซึ่งเป็นที่รู้จัก ทั้งตานา, กาน้ำ, จานา, ชุดเส็ดเล็ก,ใต้หยุ่งซะ และมะยมป่า แล้วแต่พื้นที่ โดยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า โกลชิเดียน คอคซิเนียม (Glochidion coccineum)
หำโจรเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 5-10 เมตร เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลเปลือกด้านในมีสีน้ำตาลอมแอง กิ่งอ่อนมีขนนุ่มละเอียด ใบเป็นใบเดี่ยวรูปทรงไข่ขอบขนอาน หรือรูปรีแกมใบหอกเรียงสลับกันตามกิ่ง ดอกของหำโจรมีสีเหลืองแกมขียว ดอกย่อยหลายดอกเรียงตัวแน่นเป็นช่อกระจุก มีกลิ่นหอมอ่อนๆ
ส่วนผลที่เป็นไฮไลท์มีรูปร่างกลมแป้นเป็นพวงกระจุกรวมกันประมาณ 15-20 พูคล้ายหวีกล้วย เมื่ออ่อนจะมีผลสีน้ำตาลปกคลุมด้วยผลอ่อนนุ่ม เมื่อแก่จะมีสีเหลือง มีรสชาติหวาน หอม อมเฝื่อน ชอบแสงแดดรำไรและที่ชื้น ออกผลได้ตลอดปี
“ถ้าลองดมตัวดอกกับผลมัน เราจะได้กลิ่นหอมๆ นี่แหละพวกอีเห็น นางอาย กระรอก กระแตชอบนัก บางที่มาเจอเหลือแต่ก้าน พวกมันกินไปหมดแล้ว เป็นอาหารชั้นยอดของสัตว์ป่า แต่ใบอ่อน ยอดอ่อนกนำมาเป็นผักสดจิ้มน้ำพริกได้รสชาติ มันๆ ฝาดๆ อร่อยดีเหมือนกัน เป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่พบมากในป่าสะแกราช จนเกิดเป็นคำพูดติดปากว่าถ้ามาสะแกราชแล้วไม่ได้เห็นหำโจรก็มาไม่ถึง” นายสมัยกล่าว