xs
xsm
sm
md
lg

จนไม่ใช่อุปสรรค...เอธิโอเปียขยับก้าวแรกสู่วงการอวกาศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หอดูดาวเอ็นโตโตและศูนย์วิจัย ซึ่งตั้งอยู่ชายขอบแอดดิสอบาบา ท่ามกลางทุ่งหญ้าที่ชาวไร่เลี้ยงฝูงวัว ตั้งอยู่บนยอดเขาเมานท์เอ็นโตโตที่สูง 3.2 กิโลเมตร มีโดมเหล็ก 2 โดม ซึ่งติดตั้งกล้องโทรทรรศน์เส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร  (AFP PHOTO / Zacharias Abubeker)
เอธิโอเปียขยับก้าวแรกสู่วงการอวกาศด้วยหอดูดาวบนยอดเขาสูง 3.2 กิโลเมตร และกลายเป็นชาติแรกของแอฟริกาตะวันออกที่ติดตั้งอุปกรณ์เฉพาะทางดาราศาสตร์ พร้อมเป้าหมายที่จะใช้เทคโนโลยีช่วยกระตุ้นการพัฒนาประเทศให้ไปได้อย่างรวดเร็ว แต่ยังไม่คาดหวังศึกษาอวกาศระยะไกล

เอธิโอเปียกลายเป็นประเทศแรกของแอฟริกาตะวันออกที่เริ่มต้นโครงการอวกาศ ด้วยการสร้างโดมหอดูดาวบนยอดเขาสูงเมานท์เอ็นโตโต (Mount Entoto) ที่สูงถึง 3,200 เมตร และติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร 2 ตัว โดยใช้เวลาดำเนินการเพียงไม่กี่เดือน ซึ่งเอเอฟพีระบุว่าชาติที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของแอฟริกานี้ตั้งเป้าใช้เทคโนโลยีช่วยกระตุ้นการพัฒนาประเทศให้ไปได้เร็วขึ้น

“วิทยาศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของทุกกลไกการพัฒนา หากไม่มีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้วก็ไม่มีอะไรที่จะบรรลุเป้าหมายได้ เป้าหมายหลักของเราคือการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนรุ่นใหม่ ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” อาบิเนต เอซรา (Abinet Ezra) ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารของสมาคมวิทยาการอวกาศเอธิโอเปีย (Ethiopian Space Science Society: ESSS) กล่าว

สำหรับสมาคมวิทยาการอวกาศเอธิโอเปียนั้นตั้งขึ้นโดย โมฮัมเหม็ด อะลามัวดี (Mohammed Alamoudi) นักธุรกิจลูกครึ่งเอธิโอเปีย-ซาอุผู้ทรงอิทธิพล เมื่อปี 2004 เพื่อส่งเสริมวงการดาราศาสตร์

แม้จะถูกมองว่าบ้าคลั่ง และเป็นภารกิจยากลำบากในการสร้างสังคมอุดมวัฒนธรรมอิงวิทยาศาสตร์ เพื่อทำให้เอธิโอเปียสร้างตักตวงประโยชน์จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น แต่ทางฝ่ายสนับสนุนก็ฝันฝ่าจนสามารถก่อร่างขึ้นจนได้

เมื่อทศวรรษที่ผ่านมาผู้มีศรัทธาแรงกล้าจำนวนหนึ่งรวมถึง โซโลมอน บีเลย์ (Solomon Belay) ผู้อำนวยการของหอดูดาวดังกล่าวและศาสตราจารย์ทางด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ได้ พยายามทำให้ผู้มีอำนาจเชื่อมั่นว่า สำหรับประเทศที่ยังคงยากจนที่สุดในโลกและภาวะทุพโภชนาการยังคงคุกคามประชากรนั้น การสำรวจอวกาศไม่ใช่เรื่องฟุ่มเฟือย ขณะที่ เมเลส เซนาวี (Meles Zenawi) ผู้มีอำนาจสูงสุดของเอธิโอเปียและเสียชีวิตไปเมื่อปี 2012 คิดว่าพวกเขาเป็นแค่คนเพ้อฝัน

“ผู้คนบอกว่าเราบ้า ความสนใจหลักของรัฐบาลคือการรักษาความมั่นคงทางอาหาร ไม่ใช่เริ่มโครงการอวกาศและเทคโนโลยี แต่แนวคิดของเราตรงกันข้าม” บีเลย์กล่าว

สำหรับกล้องโทรทรรศน์ที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์มูลค่าประมาณ 90 ล้านบาทนี้ ใช้สำหรับความยาวคลื่นของการแผ่รังสีแม่เหล้กไฟฟ้า และยังเปิดให้นักศึกษาทางด้านดาราศาสตร์และดาราศาสตร์ฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยแอดดิส อบาบา (University of Addis Ababa) ได้ฝึกใช้งานในพื้นที่จริง แทนที่จะต้องเดินทางไกลไปต่างแดนที่มีค่าใช้จ่ายแพง

“การเป็นประเทศยากจนไม่เป็นสิ่งขวางกั้นการเริ่มต้นโครงการนี้” โซโลมอนกล่าวและเสริมว่า การเสริมการสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์จะช่วยพัฒนาประเทศได้ โดยวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งสำคัญในการแปรเปลี่ยนการเกษตรแบบดั้งเดิมสู่รูปแบบอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม ณ เอ็นโตโตมักถูกเมฆบดบังในช่วงหน้าฝน และใกล้แสงรบกวนจากเมืองแอดดิสอบาบา ซึ่งเป็นอุปสรรคในการแข่งขันกับการหอดูดาวใหญ่ๆ ในโลก ซึ่งรวมถึงกล้องโทรทรรศน์เซาเทิร์นแอฟริกันลาร์จ (Southern African Large Telescope) กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ในแอฟริกาใต้ แต่เอธิโอเปียก็มีแผยที่จะสร้างหอดูดาวที่มีความสามารถกว่าเดิมบนภูเขาทางตอนเหนือรอบๆ เมืองลาลิเบลาที่อยู่ห่างจากแสงไฟของเมืองใหญ่

ตอนนี้เอธิโอเปียไปไกลกว่าแค่ประเทศควรลงทุนทางด้านวิทยาการอวกาศ โดยรัฐบาลของเอธิโอเปียหวังว่าจะได้สำนักงานอวกาศแห่งชาติ และส่งดาวเทียวของเอธิโอเปียขึ้นสู่วงโคจรภายใน 5 ปี เพื่อใช้สำรวจพื้นที่เกษตรและส่งเสริมการสื่อสาร

“เราใช้การประยุกต์ทางอวกาศเป็นในกิจวัตรทุกวัน ทั้งโทรศัพท์มือถือ การพยากรณ์อากาศ การประยุกต์ด้านอวกาศเป็นพื้นฐานทั้งหมด เราปฏิเสธมันไม่ได้ หรือไม่อย่างนั้นเราก็ปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความจน” เคลาลิ แอดฮานา (Kelali Adhana) หัวหน้าฝ่ายแอฟริกาตะวันออกของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Union) ซึ่งตั้งอยู่ในเอธิโอเปียกล่าว

ขณะที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอธิโอเปียซึ่งตั้งอยู่ในเมืองทางตอนเหนือของเมเคเลนั้น นักวิทยาศาสตร์กำลังวางแผนทดสอบส่งจรวดลำแรกของเอธิโอเปียให้ขึ้นสูง 30 กิโลเมตร แม้ว่ายังห่างจากระยะความสูง 100 กิโลเมตร ซึ่งเป็นขอบเขตอวกาศที่ไร้บรรยากาศโลกปกป้อง ส่วนการส่งมนุษย์อวกาศชาวเอธิโอเปียยังคงเป็นเรื่องอีกยาวไกล

แม้ว่าเอธิโอเปียจะเป็นบ้านเกิดของมนุษย์คนแรกจากการค้นพบซากของ “ลูซี่” มนุษย์โบราณในแอดดิสอบาบา แต่การพิชิตความสำเร็จทางด้านอวกาศก็ดูเป็นสิ่งหอมหวานกว่า กระนั้นบีเลย์ก็ได้ให้ความเห็นว่าพวกเขายังไม่รีบเร่งที่จะออกไปสำรวจอวกาศระยะไกล
หอดูดาวเอ็นโตโตและศูนย์วิจัย ซึ่งตั้งอยู่ชายขอบแอดดิสอบาบา ท่ามกลางทุ่งหญ้าที่ชาวไร่เลี้ยงฝูงวัว ตั้งอยู่บนยอดเขาเมานท์เอ็นโตโตที่สูง 3.2 กิโลเมตร มีโดมเหล็ก 2 โดม ซึ่งติดตั้งกล้องโทรทรรศน์เส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร  (AFP PHOTO / Zacharias Abubeker)
ภาพกระจกเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร ซึ่งเป็นเลนส์กล้องโทรทรรศน์ของหอดูดาวเอ็นโตโตและศูนย์วิจัย ซึ่งตั้งอยู่ชายขอบแอดดิสอบาบา ท่ามกลางทุ่งหญ้าที่ชาวไร่เลี้ยงฝูงวัว โดยหอดูดาวดังกล่าวอยู่บนยอดเขาเมานท์เอ็นโตโตที่สูง 3.2 กิโลเมตร มีโดมเหล็ก 2 โดม ซึ่งติดตั้งกล้องโทรทรรศน์เส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร  (AFP PHOTO / Zacharias Abubeker)









กำลังโหลดความคิดเห็น