ในช่วงนี้ ในหลายพื้นที่ของประเทศก็คงอยู่ในช่วงฤดูฝนกันอยู่ การออกไปถ่ายภาพท้องฟ้าอาจจะยากสักหน่อย แต่ก่อนที่ฤดูหนาวจะมาถึงเรามาเรียนรู้อีกเทคนิคง่ายๆ ที่ช่วยให้ได้ภาพถ่ายที่สวยงามมีรายละเอียดมากขึ้น
สำหรับเทคนิคของคอลัมน์นี้ก็คือ การปรับโหมดสีการถ่ายภาพที่เหมาะสมกับงานการถ่ายภาพที่ต้องการรายละเอียดที่ดีที่สุด เพื่อให้กล้องถ่ายภาพสามารถแสดงรายละเอียดของเฉดสีต่างๆ ให้ได้มากที่สุด ทั้งยังทำให้ภาพถ่ายดูเนียนขึ้นอีกด้วย
โดยในหลังกล้องดิจิตอลส่วนใหญ่ทั่วไป ก็มักจะมีเจ้าโหมดสี Adobe RGB กับ RGB ทั้ง 2 ตัวนี้ให้เลือกกัน แล้วแบบไหนที่จะเหมาะกับงานถ่ายภาพทางดาราศาสตร์หล่ะ มาดูกันเลยดีกว่าครับ
สำหรับงานถ่ายภาพท้องฟ้านั้น ปกติผมจะเลือกใช้โหมดสี แบบ Adobe RGB เพื่อให้ได้ภาพที่มีการไล่โทนสีและเก็บรายละเอียดของเฉดสีต่างๆ ได้ดีขึ้น โดยในโหมดสีแบบ Adobe RGB นั้น ตัวอย่างหนึ่งที่จะเห็นความแตกต่างได้ชัดเจน เช่น การถ่ายภาพท้องฟ้า หรือแสงทไวไลท์ ซึ่งภาพถ่ายจะมีเฉดสีที่ไล่โทนกันไป ตรงส่วนนี้ หากนำภาพที่ถ่ายด้วย โหมดสีแบบ Adobe RGB กับ RGB มาเทียบกันก็จะเห็นรายละเอียดที่ต่างกันอย่างชัดเจน
Adobe RGB vs sRGB ต่างกันอย่างไร
โหมดสีทั้ง Adobe RGB และ sRGB ต่างก็เป็น Color Space หรือที่เรียกว่า“ปริภูมิสี” หมายถึงช่วงการใช้งานสีของอุปกรณ์นั้นๆ ว่าจะมีจำนวนสีให้เลือกใช้มากเท่าใด ซึ่งในการถ่ายภาพทางดาราศาสต์นั้น คงต้องบอกว่าจำเป็นมาก ยิ่งมีช่วงการใช้งานสียิ่งมากยิ่งดี
ดังนั้น Color Space จึงเป็นสิ่งสำคัญต่องานถ่ายภาพอย่างมาก ซึ่งสามารถใช้เป็นตัวชี้คุณภาพทางด้านสีของภาพได้ หากเรามีความเข้าใจมัน ชาร์ตสีข้างต้น แสดงถึงพื้นที่ของช่วงขอบเขตสีของทั้ง Adobe RGB และ sRGB โดยพื้นที่สีทั้งหมดคือ สีที่ดวงตามนุษย์สามารถมองเห็นได้ โดยจะเห็นได้ชัดเจนว่า Adobe RGB มีขอบเขตหรือช่วงของสีมากกว่า sRGB ซึ่งหมายความว่า Adobe RGB มีระดับของสีให้ใช้กว้างกว่า
โดยสิ่งที่ Adobe RGB มีเหนือกว่าเป็นพิเศษ คือช่วงของสีน้ำเงิน – เขียว ที่สามารถไล่ระดับโทนสีเนียนกว่า sRGB ซึ่งเราอาจลองเปรียบเทียบภาพถ่ายระหว่างโหมดสีทั้งสอง จากการถ่ายภาพท้องฟ้าช่วงแสงทไวไลท์ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการไล่โทนสีจาก Adobe RGB นั้นจะดูสวยงามและเป็นธรรมชาติ
ดังนั้น เราสามารถสรุปได้ว่า Adobe RGB มีขอบเขตของสีที่กว้างกว่า เหมาะกับงานถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ เพราะต้องการรายละเอียดของโทนสี และสามารถนำมา Retouch ได้มากกว่า ทั้งยังทำให้ไฟล์ภาพมีขนาดใหญ่กว่า sRGB ครับ ส่วน sRGB เหมาะกับงานที่ต้องการนำภาพไปใช้เลย หรือไม่มีการใช้ระบบจัดการสี แนะนำให้เลือกใช้โหมดนี้ และยังได้ไฟล์ภาพที่มีขนาดเล็กกว่า Adobe RGB
มาถึงจุดนี้ คงมีหลายคนสงสัยว่า แล้วทำไมเราไม่ถ่าย RAW ไฟล์ซะก็จบ ก็ไม่ผิดครับ เพราะการถ่ายเป็น Raw ไฟล์ นั้นมันเก็บทุกอย่างมาหมดเท่าที่เซ็นเซอร์มันรับได้อยู่แล้ว แต่ถ้าเราตั้งไว้ก่อนมันก็แค่เพิ่มความสะดวกเวลาเอาเข้าโปรแกรมซึ่งไม่ต้องมาตั้งค่าใหม่ครับ
ดังนั้น ในการออกไปถ่ายภาพท้องฟ้าทุกครั้ง ลองปรับโหมดสีของการถ่ายภาพไว้ก่อนเพื่อให้ได้ภาพที่มีรายละเอียด การไล่โทนสีที่ดีครับ
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน