xs
xsm
sm
md
lg

ทีมวิจัย สกว.ถอดบทเรียนแผ่นดินไหวเนปาลให้วิศวกร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทีมวิจัย สกว.ถอดบทเรียนแผ่นดินไหวเนปาลให้วิศวกร เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ภัยพิบัติและการรับมือของประเทศไทยในอนาคต และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับวิศวกร

คณะอนุกรรมการผลกระทบจากแผ่นดินไหวและแรงลม วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และบริษัทออเรคอน จัดสัมมนา “ถอดบทเรียนแผ่นดินไหวประเทศเนปาลสู่การรับมือของประเทศไทย” เพื่อนำเสนอบทเรียนแผ่นดินไหวของประเทศเนปาลในบริบทต่าง ๆ แก่วิศวกร ตลอดจนเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ภัยพิบัติและการรับมือของประเทศไทยในอนาคต รวมถึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับวิศวกร นักวิชาการ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีคณะวิจัยชุดโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย สกว. นำโดย ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย เป็นวิทยากร

ศ.ดร.เป็นหนึ่งกล่าวว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้อาคารบ้านเรือนเกิดความเสียหายอย่างหนักและมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากจากเหตุแผ่นดินไหวที่เนปาล เนื่องจากโครงสร้างอาคารไม่แข็งแรง ส่วนใหญ่ก่อด้วยอิฐและหิน ใช้ดินเหนียวเป็นวัสดุประสาน ซึ่งที่เนปาลยังเชื่อว่าทำให้แข็งแรงได้ เช่น พอกด้วยคอนกรีตผิวนอก แต่วิธีที่ทีมวิจัยคิดว่าทำได้คือ เน้นการก่อสร้างอาคารคอนกรีตให้แข็งแรง และควรเว้นระยะระหว่างอาคารไม่สร้างติด ๆ กัน เพราะจะล้มต่อเนื่องกันได้ ในส่วนของโครงสร้างอาคารที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก แม้จะก่อสร้างตามหลักวิศวกรรมและทนทานกว่าอาคารประเภทอื่นๆ ก็ยังพังทลาย เพราะขาดความใส่ใจในการออกแบบก่อสร้าง ทำให้เกิดการบิดตัวง่าย การเสริมเหล็กไม่เหนียวพอ ดังนั้นจะต้องเพิ่มความใส่ใจให้มากขึ้นเพื่อให้อาคารแข็งแรงทนทานมากพอที่จะรักษาชีวิตประชาชนไว้ได้

"สำหรับบทเรียนของไทยนั้นจะต้องปรับปรุงวิธีการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนโดยใส่ใจรายละเอียดต่างๆ และเป็นไปตามหลักวิศวกรรมเช่นกัน โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครที่ต้องให้ความสำคัญกับอาคารสูงมากเป็นพิเศษ เพราะกรุงเทพฯอยู่ในแอ่งดินอ่อน เมื่อเกิดแผ่นดินไหวจะได้รับผลกระทบมาก และย้ำว่าประเทศไทยควรจะต้องมีแผนที่เสี่ยงภัยระดับเมือง เพื่อก่อสร้างอาคารบ้านเรือนให้แข็งแรงมากขึ้นกว่าปกติและต้านทานแผ่นดินไหวได้ รวมถึงจัดการสัมมนาอบรมให้ความรู้แก่วิศวกรในการสร้างอาคารต้านทานแผ่นดินไหวอย่างต่อเนื่อง" ศ.ดร.เป็นหนึ่งระบุ

ขณะที่ ผศ.ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าการเกิดแผ่นดินไหวที่เนปาลทำให้เรียนรู้ได้ว่า การเตรียมพร้อมที่ดีจะสามารถรับมือกับแผ่นดินไหวได้ดีกว่า และลดความเสียหายได้มากกว่า การกระจายตัวของประชากรก็มีส่วนต่อการวางแผนรับมือ กาฐมาณฑุมีการกระจุกตัวของประชากรหนาแน่นเมื่อเกิดความเสียหายทำให้ได้รับผลกระทบอย่างมาก

"นอกจากนี้จากสถิติแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ตามหลักฐานทางธรณีวิทยาพบว่ามีการส่งถ่ายพลังงานจากขวาไปซ้ายคล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และจากสภาพดินที่ค่อนข้างอ่อนทำให้ความเสียหายค่อนข้างเยอะ และกระจายความเสียหายตามจุดต่าง ๆ ของเมือง การออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหวจึงจะต้องทราบสภาพพื้นที่ก่อนเพื่อกำหนดเป้าหมายว่าจะต้องสร้างอย่างไร" ผศ.ดร.ธีรพันธ์กล่าว

ด้าน รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การกำหนดแผนงานดำเนินการหลังจากเกิดแผ่นดินไหวจะต้องพิจารณาจากขนาดสูงสุดของอาฟเตอร์ช็อคที่เป็นไปได้ว่ามีโอกาสทำให้เกิดความเสียหายของสิ่งปลูกสร้างได้หรือไม่ รวมถึงพิจารณาอพยพคนและสร้างที่พักชุมชนเพื่อนำคนออกจากพื้นที่ที่มีโอกาสจะเกิดอาฟเตอร์ช็อครุนแรงด้วยความรวดเร็ว ทั้งนี้ที่พักชุมชนเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ และต้องมีมาตรการย้ายคนออกจากพื้นที่

"ขณะที่เรื่องการรื้ออาคารที่ไม่ปลอดภัยไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่ามีคนติดอยู่ในอาคารหรือไม่ ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ส่วนการสร้างหรือปรับปรุงอาคารให้ต้านทานแผ่นดินไหวต้องดำเนินการไปทั้งหมดในชุมชนหรือเป็นกลุ่ม" รศ.ดร.สุทธิศักดิ์กล่าว












กำลังโหลดความคิดเห็น