กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลการใช้พลังงานปรมาณูของประเทศสิงคโปร์ (National Environment Agency) ประชุมวิชาการ เครือข่ายเฝ้าระวังภัยทางรังสีในสิ่งแวดล้อมของอาเซียน หวังแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และติดตามความก้าวหน้า การเฝ้าระวังกัมมันตภาพรังสีในสิ่งแวดล้อมของประเทศในภูมิภาคอาเซียน พร้อมให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อเฝ้าระวังภัยทางรังสีให้ประชาชนมั่นใจในความปลอดภัย
ดร.อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เปิดเผยว่า การใช้ประโยชน์จากพลังงานปรมาณูในด้านต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลายประเทศมีแผนที่จะพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งการใช้และพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ดังกล่าวอาจเกิดผลกระทบทางรังสีต่อประชาชน และสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง เนื่องจากผลกระทบไม่ได้มีขอบเขตจำกัดอยู่เพียงในประเทศและอาจแผ่ขยายถึงประเทศใกล้เคียง ดังนั้นการกำกับดูแลความปลอดภัยให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุดจำเป็นต้องมีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับประเทศในภูมิภาค เพื่อประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการให้ความช่วยเหลือในสภาวะฉุกเฉิน
ปส. ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในการกำกับดูแลความปลอดภัยจากรังสีให้ประชาชนชาวไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญ ในเรื่องดังกล่าวอย่างมาก โดยเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา ปส. ได้มีการจัดประชุม “เครือข่ายการเฝ้าระวังภัยทางรังสีในสิ่งแวดล้อมของอาเซียน” ณ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งที่ประชุมเสนอความคิดเห็นให้มีการจัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังภัยทางรังสีและฐานข้อมูลทางรังสีในสิ่งแวดล้อมของภูมิภาคอาเซียนขึ้น และเพื่อเป็นการติดตามการเฝ้าระวังภัยทางรังสีอย่างต่อเนื่อง จึงมีแผนจัดประชุมเชิงวิชาการเรื่อง “เครือข่ายการเฝ้าระวังภัยทางรังสีในสิ่งแวดล้อมของอาเซียน ครั้งที่ ๒ (The 2nd Technical Meeting in ASEAN Environmental Radiation Network)” ระหว่างวันที่ ๒๕ - ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๘ ณ จังหวัดภูเก็ต ให้แก่ บุคลากรที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี จำนวน ๑๐ ประเทศในอาเซียน หวังให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการเฝ้าระวัง ติดตาม ตรวจวัดกัมมันตภาพรังสีในสิ่งแวดล้อมของประเทศต่างๆ ในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความถูกต้อง แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และกำหนดทิศทางการดำเนินงานดังกล่าวในอนาคต ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) เพื่อหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานดังกล่าวภายใต้โครงการความร่วมมืออื่นๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ปส. มีมาตรการและดำเนินการเฝ้าระวังภัยจากรังสีเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ประชาชนไทยมาเป็นระยะเวลาหลายปีแล้ว รวมทั้งได้มีการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังภัยฯ อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน ปส. มีเครือข่ายสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีในอากาศ จำนวน ๑๗ สถานี ซึ่งติดตั้งครอบคลุมในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ตาก ขอนแก่น อุบลราชธานี สงขลา กรุงเทพฯ ระนอง ตราด พะเยา ระยอง สกลนคร กาญจนบุรี ภูเก็ต เพชรบุรี บุรีรัมย์ และหนองคาย นอกจากนี้ ยังมีสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีในน้ำ จำนวน ๓ สถานี ได้แก่ ระยอง ภูเก็ต และสงขลา สถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีทั้งหมดนี้ จะเฝ้าตรวจระดับรังสีแกมมาตลอด ๒๔ ชั่วโมง และส่งข้อมูลที่เป็นปัจจุบันไปยังศูนย์เฝ้าระวังภัยทางรังสี ณ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้อย่างทันที