ตอนที่ 1 เทคนิคการโปรเซสภาพทางช้างเผือกเบื้องต้น (How to Post-Process a Milky Way Photo In Photoshop)
“ตั้งค่ากล้องถ่ายทางช้างเผือกอย่างไรให้ได้แสงที่พอดี”
สำหรับคำถามที่ถามกันมามากที่สุด หลังจากจบทริป Workshop Astrophotography Marathon ก็คือ ภาพทางช้างเผือกโปรเซสยังไง คอลัมน์เลยขอพูดเรื่องนี้สักหน่อย แต่ก่อนที่เราจะไปโปรเซสภาพ ผมขออนุญาตเล่าเรื่อง กิจกรรม Astrophotography Marathon 2016 ที่ผ่านมาว่า “ก่อนที่เราจะได้ภาพทางช้างเผือกเพื่อนำมาโปรเซสภาพนั้น เรามีเทคนิคและวิธีการเก็บภาพกันอย่างไรบ้าง”
โดย Workshop นี้ผมจัดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่เราจะสามารถถ่ายภาพทางช้างเผือกได้ดีช่วงหนึ่งของปี เนื่องจากสามารถสังเกตเห็นแนวใจกลางทางช้างเผือกได้ตั้งแต่หลังเที่ยงคืน ทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมมีเวลาถ่ายภาพทางช้างเผือก ได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ทางช้างผือกแบบพาโนรามา ทางช้างเผือกบนขาตามดาว หรือทางช้างเผือกแบบสะท้อนน้ำ ฯลฯ ก็มีเวลาให้ถ่ายกันเกือบครึ่งคืนกันเลยทีเดียว
ในการวางแผนในกิจกรรมนี้ จากการสอบถามเบื้องต้น หลายคนหวังว่าจะได้ถ่ายภาพทางช้างเผือกแบบดุดุจากทริปนี้ จึงเป็นโจทย์ในการเลือกเวลาและสถานที่ นั้นก็คือ “เมษายน บนยอดดอยอินทนนท์” คือคำตอบของทริปนี้
เวลา (เมษายน)
การที่ผมเลือกใช้ช่วงเดือนเมษายน ในการจัด Workshop ถ่ายภาพ 24 ชั่วโมงกับการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ เนื่องจากเป็นช่วงที่จะสามารถถ่ายภาพทางช้างเผือกได้ดีที่สุด และหากฟ้าใสตั้งแต่หัวค่ำ เราก็จะได้ภาพแสงสนธยา และต่อด้วยแสงจักรราศี แล้วต่อด้วยการถ่ายภาพกลุ่มดาวนายพรานบนขาตั้งกล้องแบบตามดาว และช่วงกลางดึกระหว่างรอแนวใจกลางทางช้างขึ้นทางทิศตะวันออก ก็สามารถถ่ายภาพเส้นแสวดาวได้ แต่อย่างไรก็ตามในการถ่ายภาพเส้นแสงดาวในช่วงเดือนเมษายน มักมีความชื้น ซึ่งหากใครไม่มีอุปกรณ์กันฝ้า ก็จะถ่ายภาพได้ไม่นานมากนัก
สถานที่ (ยอดดอยอินทนนท์)
เรื่องสถานที่ ก็คงหนีไม่พ้นยอดดอยอินทนนท์ เพราะมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลเกินกว่า 2,000 เมตร ที่ระดับความสูงนี้ปัญหาพวกฟ้าหัว ฝุ่นละอองในอากาศ และหมอกควัน จะลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศที่ระดับความสูงไม่เกินนี้ ทำให้ที่ความสูงเกินกว่า 2,000 เมตร สามารถถ่ายภาพดวงดาวได้เป็นอย่างดีในช่วงหน้าร้อนแบบนี้ที่มักเจอกับปัญหาฟ้าหลัวเกือบทั้งประเทศ
ประเด็นหลัก (ทางช้างเผือก)
สำหรับประเด็นหลักก็คงหนีไม่พ้นการถ่ายภาพทางช้างเผือกนั่นเอง ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่า “อย่างไรก็ตาม ผมต้องให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้ถ่ายทางช้างเผือกให้ได้” และก็ตามที่วางแผนไว้ทุกคนก็ได้ทางช้างเผือกกลับบ้านกันทุกคน และที่สำคัญสำหรับทริปนี้คือ การเรียนรู้และเข้าใจการตั้งค่าในกาถ่ายภาพเพื่อให้ได้แสงที่พอดีต้องทำอย่างไร และควรใช้ค่าไวท์บาลานต์เท่าไหร่ ซึ่งสามารถช่วยให้การนำภาพไปโปรเซสในภายหลังได้ดีและง่ายมากขึ้นนั่นเองครับ
ด้านองค์ประกอบภาพนั้น ผมเองก็ไม่ได้ถ่ายสวยอะไรมากมาย และหลายท่านที่ร่วมกิจกรรมสามารถถ่ายภาพออกมาได้สวยงามอย่างน่าทึ่ง สวยกว่าผมเป็นไหนๆ แต่สิ่งที่ไม่ควรละเลยก็คือการตั้งค่าถ่ายภาพให้ได้แสงและไวท์บาลานต์ที่พอดี สิ่งนี้ผมย้ำกับผู้ร่วมกิจกรรมเสมอ
เอาล่ะครับทีนี้เรามีดูกันว่า “ตั้งค่ากล้องอย่างไรให้ได้แสงที่พอดี”
ตั้งค่ากล้องอย่างไรให้ได้แสงที่พอดี
1. เวลาเปิดหน้ากล้อง (Exposure Time) : เวลาเป็นสิ่งแรกที่สำคัญที่สุดและอาจถือเป็นตัวกำหนดในการตั้งค่าอื่นๆ ต่อไป ดังนั้นการเปิดหน้ากล้องให้ได้นานที่สุด ที่ไม่ทำให้ดาวยืดเป็นเส้นจนหน้าเกลียด สามารถคำนวณจากสูตร Rule of 400/600
2. รูรับแสง (Aperture) : ค่ารูรับแสงสำหรับเลนส์ปกติทั่วไป ผมแนะนำให้ใช้รูรับแสงกว้างที่สุด เช่น f/2.8 f/3.5 หรือ f/4.0 แต่สำหรับประเภทเลนส์เกรดสูงๆ ที่ไวแสงมากๆ เช่นเลนส์ที่สามารถเปิดรูรับแสงได้กว้างถึง f/1.2 หรือ f/1.4 ควรลดขนาดรูรับแสงลงมา 1-2 สตอป เพื่อให้ได้ภาพที่คงชัดมากยิ่งขึ้น
3. ไวท์บาลานต์ (White Balance) : ค่าไวท์บาลานต์ที่มักจะแนะนำสำหรับถ่ายภาพทางช้างเผือก ปกติผมมักตั้งค่าที่ 3800 K ไว้ก่อนเป็นเพียงค่าตั้งต้น แต่ในสภาพ้องฟ้าจริงแต่ละสถานที่แต่ละเวลา ก็มักเปลี่ยนแปลงเสมอ ดังนั้นจำไว้ง่ายๆนะครับ WB:3800K เป็นเพียงค่าตั้งต้น ไม่ใช้ค่าตายตัวครับ
ตัวอย่างเช่น การปรับค่าไวท์บาลานต์ในสภาพท้องฟ้าที่มีฟ้าหลัวบริเวณขอบฟ้าและมีแสงไฟเรืองๆ อยู่บ้างในกิจกรรม Workshop Astrophotography Marathon จะพบกับสภาพท้องฟ้าแบบนี้ ทำให้หลายๆคน ต้องปรับค่าไวท์บาลานต์ให้ต่ำลงเหลือประมาณ 3300K เพื่อให้ได้แสงและสีที่พอดี
4. ความไวแสง (ISO) : สิ่งสุดท้ายในการถ่ายภาพทางช้างเผือก คือการปรับค่าความไวแสงที่เหมาะสม ซึ่งค่าตั้งต้นผมมักแนะนำให้ใช้ที่ ISO 3200 ไว้ก่อน จากนั้นหากถ่ายออกมาแล้วพบว่าโอเวอร์หรืออันเดอร์ก็ สามารถปรับชดเชยได้
ความสว่างของภาพที่เหมาะสม นั้นอาจใช้การสังเกตรายละเอียดส่วนต่างๆ ของทางช้างเผือกว่าเห็นได้หรือไม่ ดังนี้
สำหรับการตรวจสอบภาพถ่ายดูเบื้องต้น อาจลองสังเกตจากเนบิวลา 2 ส่วนนี้ ซึ่งผมมักใช้ดูจากหลังกล้อง หากถ่ายภาพมาติดทั้ง 2 ส่วนนี้ก็แสดงว่าภาพถ่ายทางช้างเผือกมีความสว่างของภาพที่เหมาะสม ไม่มืดเกินไป สามารถนำไปใช้โปรเซสในภายหลังได้ง่ายแล้วหล่ะครับ
จริงๆ แล้วในการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ นั้นช่างภาพจะต้องมีความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ประกอบด้วย เพราะความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์น้ัน จะช่วยให้เราใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ ของวัตถุท้องฟ้าได้ดีที่สุด และยังส่งผลต่อภาพถ่ายที่เราจะนำไปโปรเซสในภายหลังได้ดีอีกด้วยครับ เอาหล่ะตอนนี้เราก็มาดูเรื่องรายละเอียดส่วนต่างๆ ของทางช้างเผือกกันก่อนครับ
องค์ประกอบของกาแล็กซี
กาแล็กซีประกอบด้วยดาวฤกษ์ กระจุกดาวสสารระหว่างดาว (แก๊สและ ฝุ่นธุลี) เนบิวลา และที่ว่างในอากาศเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีองค์ประกอบหลักๆ ดังนี้
1. กระจุกดาว คือกลุ่มดาวตั้งแต่หลายสิบดวงไปจนถึงหลายสิบล้านดวง ในกาแล็กซี ทางช้างเผือกเรามักจะพบเป็นกระจุกประเภท กระจุกดาวทรงกลม อยู่รอบ ๆ ศูนย์กลางกาแล็กซี
2. สสารระหว่างดาว ดาวฤกษ์แต่ละดวงอยู่ห่างไกลกันมาก ระหว่างดวง ดาวจึงมีสสารระหว่างดาว ซึ่งประกอบด้วยแก๊ส (ส่วนใหญ่เป็นไฮโดรเจน) ฝุ่นธุลีชิ้นส่วนของสะเก็ดดาวแทรกอยู่
3. เนบิวลา กลุ่มเมฆหมอกของแก๊สและฝุ่นธุลีของสสารในอากาศ ที่อยู่ระหว่างดวงดาวในกาแล็กซี มี 3 ชนิดได้แก่
- เนบิวลาสว่าง เป็นกลุ่มแก๊สและฝุ่นธุลีที่สะท้อนแสงสว่างที่ส่องมาจากดาวฤกษ์
- เนบิวลาเรืองแสง เป็นกลุ่มแก๊สและฝุ่นธุลีระหว่างดวงดาวที่เปล่ง แสงออกมาจากตัวเอง ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของอนุภาคโปรตรอนนิวตรอนเป็นอะตอม ไฮโดรเจน
- เนบิวลามืด เป็นกลุ่มแก๊สและฝุ่นธุลีจำนวนมากและหนาทึบ ซึ่งดูดกลืนแสงของดาวฤกษ์ที่ส่องมา
จากข้างต้นที่กล่าวมา เป็นการปรับค่าขณะถ่ายภาพ ซึ่งก่อนอื่นที่คุณจะถ่ายภาพทางช้างเผือก อีกอย่างที่ไม่ควรละเลยก็คือ การตั้งค่าเพื่อลดสัญญาณรบกวน โดยการเปิดระบบ Long-Exposure Noise Reduction และการตั้งค่าการเก็บภาพในรูปแบบ Raw ไฟล์ด้วยนะครับ เพื่อเราจะนำ Raw ไฟล์มาปรับในภายหลังได้ง่าย ซึ่งผมจะพูดในคอลัมน์ต่อไปครับ
โปรดติดตามคอลัมน์หน้ากับเทคนิคการโปรเซสภาพทางช้างเผือก (How to Post-Process a Milky Way Photo In Photoshop)
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน