xs
xsm
sm
md
lg

เก็บมาฝากเทคนิคสำคัญในคืนอบรมถ่ายภาพ Astrophotography Marathon 2017

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์


ในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาผมได้จัดกิจกรรมอบรมถ่ายภาพดาราศาสตร์ ภายใต้หัวข้อ “Astrophotography Marathon 2017” ซึ่งในกิจกรรมนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก โดยรับสมัครเพียง 80 ท่านเท่านั้น และในปีนี้เราเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่เวลา 9:00 น. ของวันที่ 9 มีนาคม มีผู้ลงทะเบียนเต็มจำนวนภายในเวลาเพียง 4 นาทีเท่านั้น

สำหรับกิจกรรมนี้เราจะจัดขึ้นเพียงปีละ 1 ครั้งนั้น ซึ่งในการวางแผนจัดกิจกรรมนั้น จะต้องตรวจสอบค่าเฉลี่ยของสภาพทางอุตุนิยมวิทยาก่อนล่วงหน้าว่าในแต่ละปีนั้น ช่วงเดือนไหนที่ท้องฟ้าเคลียร์ติดต่อกันมากที่สุด เพื่อป้องกันความผิดหวังของผู้เข้าร่วมกิจกรรมซึ่งเดินทางมาจากทั่วประเทศ

สถานที่ที่ใช้ในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ คงหนีไม่พ้นยอดดอยอินทนนท์ บริเวณพระมหาธาตุนภเมทนีดลและพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นสถานที่ที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย สูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า 2,000 เมตร ที่ระดับความสูงเกินกว่า 2,000 เมตร จะมีทัศนวิสัยของท้องฟ้าที่ใสเคลียร์และอยู่สูงจากระดับฟ้าหลัวหรือพวกฝุ่นละอองในอากาศ ทำให้ท้องฟ้าของดอยอินทนนท์มีความมืดสนิทและใสเคลียร์มากๆ

สำหรับรูปแบบกิจกรรมเราเริ่มจากการบรรยายแนะนำวิธีการและเทคนิคการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ ในแต่ละประเภท ในแต่ละช่วงเวลา ว่าจะสามารถถ่ายสภาพอะไรได้บ้างและมีเทคนิคและการตั้งค่าอย่างไรให้เหมาะสมกับภาพถ่ายแต่ละประเภทบ้าง
ภาพบรรยากาศช่วงการบรรยายแนะนำวิธีการและเทคนิคการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ ในแต่ละประเภท ในแต่ละช่วงเวลา
เวลา 18.00-19.00 น. การถ่ายภาพแสงทไวไลท์ (Twilight)

ในส่วนของภาคปฏิบัติ เราเริ่มต้นด้วยการถ่ายภาพแสงทไวไลท์ (Twilight) ตั้งแต่เวลา 18.00-19.00 น. สำหรับช่วงนี้ท้องฟ้ามีเมฆอยู่บริเวณขอบฟ้าพอสมควรทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมอาจได้ภาพที่ไม่สวยมากนัก แต่ก็ยังพอที่จะได้ภาพกันอยู่บ้าง ในส่วนนี้เราจะแนะนำในส่วนของการปรับค่าการถ่ายภาพด้วยโหมดถ่ายภาพ Adobe RGB เพื่อให้ได้ค่าสีที่มากขึ้นและสามารถไล่โทนสีของแสงทไวไลท์ได้ดีขึ้น

เวลา 19.00 – 20.00 น. การถ่ายภาพแสงจักรราศี (Zodiacal Light)
ภาพแสงจักรราศีในช่วงเวลา 19.00 – 20.00 น. (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 4000 / Exposure : 30sec)
ในช่วงเวลา 19.00 – 20.00 น. เราต่อกันด้วยการถ่ายภาพแสงจักรราศี (Zodiacal Light) และหลาบคนก็สามารถเก็บภาพแสงจักรราศี กันมาได้ ซึ่งถึงแม้ท้องฟ้าที่ขอบฟ้าจะมีฟ้าหลัวแต่ ณ บริเวณดอยอินทนนท์ที่อยู่สูงเกินกว่า 2,000 เมตร ก็สามารถสังเกตเห็นแสงได้ไม่ยากนัก และเทคนิคในช่วงนี้ที่แนะนำก็คือ การปรับค่าสำหรับผู้เริ่มต้นถ่ายด้วยการเร่งความอิ่มสีของภาพ (Saturation) และความเปรียบต่างของภาพ (Contrast) เพื่อให้เห็นความแตกต่างของแสงจักรราศีกับท้องฟ้าพื้นหลังได้ชัดเจนมากขึ้น

เวลา 20.00 – 22.00 น. การถ่ายภาพกลุ่มดาวและวัตถุท้องฟ้าในห้วงลึก (Deep Sky Object)
ภาพแนวทางช้างเผือกบริเวณกลุ่มดาวกางเขนใต้ ด้วยเทคนิคการถ่ายภาพแบบตามดาว (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Sigma 24mm f/1.4 DG HSM / Focal length : 24 mm. / Aperture : f/1.6 / ISO : 250 / Exposure : 300sec)
ช่วงเวลา 20.00 – 22.00 น. เราก็เปลี่ยนมาถ่ายภาพกลุ่มดาวและวัตถุท้องฟ้าในห้วงลึก (Deep Sky Object) ในกิจกรรมนี้เราให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทดลองถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องแบบตามดาวด้วยกลุ่มดาวนายพราน กลุ่มดาวทางซีกฟ้าใต้ และวัตถุท้องฟ้าอื่นๆ เพื่อเรียนรู้ทักษะพื้นฐานของการเก็บข้อมูลทางดาราศาสตร์ โดยเทคนิคสำคัญที่แนะนำคือ เรื่องของเวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพให้ได้นานขึ้นบนขาตามดาวที่เคลื่อนที่ตามการเคลื่อนที่ของทรงกลมท้องฟ้าทำให้ได้ Signal to Noise ที่ดี

นอกจากนี้ยังเน้นย้ำในเรื่องการโฟกัสที่คมชัดที่สุดด้วยจอมองภาพหลังกล้อง Live view ซึ่งใช้การซูมภาพ 10X และปรับโฟกัสให้ดาวกลมเล็กที่สุด
ภาพตัวอย่างการโฟกัสภาพด้วย Live view หลังกล้อง
เวลา 22.00 – 02.30 น. การถ่ายภาพเส้นแสงดาว (Star Trails)
ภาพเส้นแสงดาว ถ่ายโดยใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง 42 นาที  (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 500 / Exposure : 180sec x 54 Image)
ช่วงเวลา 22.00 – 02.30 น. หลังจากกลุ่มดาวเด่นที่ใช้ในการฝึกถ่ายภาพ Deep Sky Object ตกลับขอบฟ้าไปแล้ว เราก็มาถ่ายภาพเส้นแสงดาว (Star Trails) ก็ต่อ โดยเทคนิคสำคัญคือ การหาตำแหน่งขั้วเหนือของท้องฟ้าด้วยกลุ่มดาว ซึ่งการถ่ายภาพเส้นแสงดาวนั้นควรถ่ายให้ได้เวลานานไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง เพื่อให้เห็นการเคลื่อนที่ของดาวบนท้องฟ้าได้ชัดเจน
ภาพจำลองการหาตำแหน่งข้วเหนือท้องฟ้าจากกลุ่มดาว เช่น กลุ่มดาวหมีใหญ่ หรือหกลุ่มดาวค้างคาว
นอกจากนี้เรายังให้ทางเลือกสำหรับเทคนิคการถ่ายภาพเส้นแสงดาวอยู่ 2 วิธีด้วยกันคือ การถ่ายแบบช็อตสั้นๆ ใช้ความไวแสงสูง และรูรับแสงกว้างเพื่อที่จะสามารถนำมาสร้างภาพวีดีโอ Timelapse หรืออาจเลือกอีกวิธีคือ การถ่ายแบบลากยาวๆ 3-5 นาที โดยใช้ความไวแสงต่ำ และรูรับแสงแคบ เพื่อให้ได้ภาพที่ใสเคลียร์และได้สีสสันของเส้นแสงดาวที่ชัดเจน ดังภาพตัวอย่าง


และอีกสิ่งหนึ่งที่แนะนำผู้เข้าร่วมกิจกรรมคือ เมื่อเจอปัญหาความชื้นที่ขึ้นหน้ากล้อง เราจะแนะให้ใช้แถบความร้อนกันฝ้าหน้ากล้องหรือ ใช้การพัดให้ลมเป่าหน้ากล้องให้แห้งแทนการใช้ผ้าเช็ด เพราะหากกล้องยังคงเย็นและชื้นแล้วนำผ้าไปเช็ดฝ้าก็จะยังคงกลับมาขึ้นหน้ากล้องอยู่ดี

เวลา 02.30 - 5.30 น. การถ่ายภาพทางช้างเผือก (Milky Way)
ภาพแนวทางเชือกในช่วงเวลา 4.14 น. บริเวณพระมหาธาตุนภเมทนีดลและพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 5D Mark ll / Lens : Canon EF16-35mm f/2.8L II USM / Focal length : 16 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 500 / Exposure : 180sec x 54 Image)
ภาพสุดท้ายของกิจกรรมอบรมถ่ายภาพ Astrophotography Marathon 2017 ซึ่งถือเป็นไฮไลท์ของการอบรมถ่ายาภาพกันเลยก็ว่าได้ ในคืนดังกล่าวเท่าที่ผมเดินดูคอยแนะนำการปรับค่าต่างๆ ให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม จะได้ยินเสียงชัตเตอร์อยู่ตลอดเวลา เรียกว่าไมมีคนยอมพลาดโอกาสเก็บภาพ ทุกคนตั้งใจถ่ายภาพกันมาก ทั้งแบบ 1 ช๊อต แบบพาโนรามา หรือแม้กระทั้งการถ่ายภาพทางช้างเผือกแบบตามดาว เทคนิคต่างๆ ที่ได้ฟังจากการบรรยายถูกงัดออกมาใช้เต็มที่

แต่เทคนิคสำคัญของการถ่ายทางช้างเผือก ที่ผมจะเน้นย้ำเสมอก็คือ การคำนวณเวลาการเปิดหน้ากล้องที่เหมาะสมด้วยสูตร Rule of 400/600 เมื่อได้เวลาเปิดหน้ากล้องที่เหมาะสมแล้ว ก็ตามด้วยค่ารูรับแสงที่กว้างสุดที่ยังคงความคมชัดของภาพ และตามด้วยการปรับค่าความไวแสงเพื่อชดเชยความสว่างของภาพเป็นอันดับสุดท้าย
ตัวอย่างการใช้สูตร 600 ในการคำนวณเวลากับกล้องแบบฟลูเฟรม
นอกจากการคำนวณเวลาการเปิดหน้ากล้องแล้ว สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การเปิดระบบลดสัญญาณรบกวนของกล้องดิจิตอลคือ long exposure noise reduction ซึ่งมีความสำคัญมากเพราะหากลืมเปิดระบบนี้ ภาพของเราก็จะมีสัญญาณรบกวนเกิดขึ้นในภาพได้
ภาพแนวทางช้างเผือกบริเวณกลุ่มดาวกางเขนใต้ ด้วยเทคนิคการถ่ายภาพแบบตามดาว (ภาพโดย : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ / Camera : Canon 1DX / Lens : Sigma 24mm f/1.4 DG HSM / Focal length : 24 mm. / Aperture : f/1.6 / ISO : 250 / Exposure : 300sec)
จากกิจกรรมทั้งหมดตลอดคืนที่ผ่านมา ผมเองก็ลุ้นในใจตลอดว่าอยากจะให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้มีประสบการณ์ที่หลากหลาย ถ่ายภาพให้ได้ครบทุกช่วงเวลา ซึ่งในวันที่จัดกิจกรรมผมเองก็ลุ้นให้ท้องฟ้าเคลียร์ตั้งแต่เย็น แต่ก็ยังมิวายมีเมฆที่ขอบฟ้าพอสมควร ทำให้ภาพในช่วงแสงทไวไลท์ไม่ได้สวยตามที่หวังไว้ แต่ในช่วงกลางคืนท้องฟ้าก็เป็นใจให้เหล่านักถ่ายดาวได้เก็บภาพวัตถุท้องฟ้าในแต่ละช่วงเวลาตามที่คาดไว้ ไม่ว่าจะเป็นภาพกลุ่มดาว ภาพวัตถุท้องฟ้าในห้วงลึกผ่านกล้องโทรทรรศน์ รวมทั้งขาตามดาว และนอกจากท้องฟ้าจะดีแล้ว ในวันนั้นอากาศก็เป็นใจ แห้งใสเหมาะกับการถ่ายภาพเส้นแสงดาวกันตลอดทั้งคืนอีกด้วย และสิ่งที่น่าจะทำให้ทุกคนประทับใจก็คงหนีไม่พ้นการได้ถ่ายภาพใจกลางทางช้างเผือกจนถึงรุ่งเช้าแบบไม่ยอมหลับยอมนอนกันเลยทีเดียว เรียกได้ว่าทริปนี้คุ้มค่ากับการทรมานกันล่ะครับ

เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน








กำลังโหลดความคิดเห็น