ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ ผมมีรูปแบบการจัดทริปการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์มาแนะนำ โดยทริปนี้ขออนุญาตตั้งชื่อว่า ทริป “Astrophotography Marathon” ที่ใช้ชื่อนี้เนื่องจากเป็นการถ่ายภาพที่เริ่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกดินไปตลอดทั้งคืนจนถึงช่วงรุ่งเช้าของอีกวันหนึ่ง ซึ่งหากใครที่คิดว่าตัวเองฟิตและแข็งแรงพอที่จะอดหลับอดนอนเพื่อบ้าถ่ายภาพแบบนี้แล้วล่ะก็ มาลองดูกันครับว่า เราจะเริ่มถ่ายอะไรแล้วต่อจากนั้นจะสามารถถ่ายอะไรและจบลงด้วยภาพอะไรนั้น ตามมาดูกันเลยครับ
สำหรับอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการถ่ายภาพ ในรูปแบบนี้ ก็ประกอบไปด้วย
1. กล้องถ่ายภาพดิจิทัล
2. ขาตั้งกล้องแบบมั่นคง
3. สายลั่นชัตเตอร์
4. แบตเตอรี่สำรอง (ก้อนเดียวไม่พอแน่นอน)
5. เมมโมรี่การ์ด (ถ้ามีอันเดียว ต้องเอาคอมฯ ไปโหลดรูปด้วยจะดีที่สุด)
6. อุปกรณ์ตามดาวแบบพกพา หรือ ขาตั้งกล้องแบบตามดาว (อันนี้ใครไม่มีก็ข้ามไปครับ)
เอาล่ะครับ เมื่อทุกอย่างพร้อม เราก็มาลุย! กันเลยครับ.....
18.00 – 19.00 น. เวลาแสงสนธยา (Twilight)
สำหรับภาพแรกกับทริปถ่ายภาพ Astrophotography Marathon เรามาเริ่มกันด้วยภาพแสงสนธยา (Twilight) ซึ่งเป็นช่วงหลังจากดวงอาทิตย์ตกไปแล้ว ประมาณ 10 – 15 นาที เมื่อแสงจากดวงอาทิตย์ที่ยังกระจายอยู่ในชั้นบรรยากาศชั้นบน ได้ส่องมายังชั้นบรรยากาศชั้นล่างและพื้นผิวโลก ทำให้ขณะนั้นเห็นท้องฟ้าบริเวณใกล้กับขอบฟ้าเป็นสีเหลือง ส้ม หรือแดง ซึ่งเป็นช่วงที่ท้องฟ้าเปลี่ยนสี ความสวยงามของการถ่ายภาพในช่วงแสงทไวไลท์ นั้นก็คือแสงของท้องฟ้าสีเหลือง ส้ม หรือแดงตัดกับแสงสีน้ำเงิน ให้ภาพมีสีสันโดดเด่นมากกว่าท้องฟ้าในตอนกลางวันหรือตอนฟ้ามืดสนิท
19.00 – 20.00 น. เวลาแสงจักรราศี (Zodiacal Light)
หลังจากหมดแสงสนธยาแล้ว ก็มาถึงช่วงเวลาที่ท้องฟ้าเริ่มมืดสนิท เราจะสังเกตเห็นแสงจักราศี (Zodiacal Light) เป็นแสงเรืองจางๆ เป็นโครงรูปสามเหลี่ยมหยาบๆ ที่ปรากฏบนท้องฟ้ายามค่ำคืนหลังจากที่แสงสนธยาของตะวันตกดินลับฟ้าไปแล้วโดยปรากฏอยู่ในแนวเส้นสุริยวิถี โดยปกติความสว่างจะน้อยกว่าทางช้างเผือก เกิดขึ้นจากอนุภาค ของฝุ่นละอองในอวกาศ หรือ ฝุ่นจากดาวหาง และดาวเคราะห์น้อย กระทบกับแสง จากดวงอาทิตย์ จะปรากฏอยู่ในแนวระนาบของเส้นสุริยะวิถี เราเห็น zodiacal light ได้จากท้องฟ้าที่มืดสนิทไม่มีแสงจันทร์ และมลภาวะทางแสงจากขอบฟ้ารบกวน ทางด้านทิศตะวันตกหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า และด้านทิศตะวันออกก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น
20.00 – 20.30 น. เวลากลุ่มดาว (Constellation)
เมื่อสิ้นแสงจักราศีไปแล้ว ทีนี้เราเปลี่ยนมุมกล้องมาทางทิศตะวันออกกันบ้าง ในทิศนี้เราจะสามารถสังเกตเห็นกลุ่มดาวสว่างที่น่าสนใจในช่วงฤดูหนาวต่างๆ เช่น กลุ่มดาวนายพราน กลุ่มดาวหมาใหญ่ กลุ่มดาวหมาเล็ก กลุ่มดาวคนคู่ กลุ่มดาวสารถี และกลุ่มดาววัว ซึ่งสามารถถ่ายภาพกลุ่มดาวสว่างต่างๆ เหล่านี้ได้ไม่ยาก ตัวอย่างเช่น หากเราถ่ายภาพกลุ่มดาวนายพราน เราก็จะได้ภาพที่มีสีสันของดาวฤกษ์ที่แตกต่างกัน รวมทั้งบริเวณกลุ่มดาวเดียวกันนี้ เรายังบันทึกภาพเนบิวลาสว่าง M42 และเนบิวลามืดไว้ได้อีกด้วย
20.30 – 21.00 น. เวลา Planetary Panorama
นอกจากการถ่ายภาพกลุ่มดาวต่างๆ แล้ว ภาพท้องฟ้ามุมกว้างในรูปแบบการถ่ายภาพด้วยเทคนิค พาโนรามา ก็สามารถนำมาสร้างเป็นภาพแนว Planetary Panorama ซึ่งจะได้ภาพที่อาจดูแปลกตา และก็ถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการถ่ายภาพท้องฟ้าในเวลากลางคืนที่ได้ภาพที่มีมุมมองที่แตกต่าง
21.00 – 23.00 น. เวลาวัตถุท้องฟ้าในห้วงลึก (Deep Sky Object)
วัตถุท้องฟ้าในห้วงลึก (Deep Sky Object) ที่อยากแนะนำให้ลองถ่ายกันก็คือ เนบิวลาสว่างใหญ่ในกลุ่มดาวนายพราน หรือที่มักเรียกกันคุ้นหูว่า เนบิวลา M42 โดยหลังจากช่วงเวลา 21.00 น. ไปแล้วนั้น ตำแหน่งของเนบิวลา M42 ก็จะอยู่ในบริเวณกลางท้องฟ้า ซึ่งเป็นเป็นตำแหน่งที่มีทัศนวิสัยของท้องฟ้าดีที่สุด และยังเป็นตำแหน่งที่นักถ่ายภาพดาราศาสตร์นิยมเลือกถ่ายวัตถุเพื่อให้ภาพที่ดีที่สุดอีกด้วย ซึ่งการถ่ายภาพประเภทนี้ผู้ถ่ายภาพนอกจากจะต้องมีอุปกรณ์ตามดาวหรือกล้องโทรทรรศน์แล้ว ยังจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับการตั้งขาตั้งกล้องให้ตามวัตถุได้อย่างแม่นยำอีกด้วย
23.00 – 03.30 น. เวลาเส้นแสงดาว (Star Trails)
หลังจากการถ่ายภาพในรูปแบบต่างๆ ในช่วงหัวค่ำจนถึงช่วงดึกแล้ว หลังจากนี้เราคงเหลือเวลาในการถ่ายภาพอีกครึ่งคืน ซึ่งถือเป็นเวลาที่เหมาะแก่การถ่ายภาพเส้นแสงดาว ซึ่งภาพรูปแบบนี้จำเป็นต้องใช้เวลาในการถ่ายภาพยาวนานกว่า 3-4 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย เพื่อให้ได้ภาพที่สวยงาม เราสามารถเลือกทิศทางในการถ่ายภาพได้หลากหลายทิศทางไม่ว่าจะเป็นทิศเหนือ หรือทิศใต้ ก็จะให้ได้ภาพดาวหมุน ทิศตะวันออกหรือตะวันตก ก็จะได้ภาพเส้นแสงที่มีทิศทางฟุ่งแบบเฉียงๆ โดยหลังจากการตั้งค่าการถ่ายภาพและลั่นชัตเตอร์ถ่ายภาพแบบต่อเนื่องแล้ว ก็ได้เวลารอคอยและใช้ช่วงเวลานี้ในการพักผ่อนกอย่างน้อยก็ได้พักสายตาสัก 3-4 ชั่วโมงครับ
หลังจากการถ่ายภาพเส้นแสงดาวเสร็จแล้ว เราควรถ่ายภาพ Dark Frame โดยการปิดฝาหน้ากล้องแล้วถ่ายภาพมืดๆ ต่ออีกสัก 30 นาที เพื่อให้ได้ภาพ Dark Frame ที่ถ่ายที่อุณภูมิใกล้เคียงกับการถ่ายภาพดาวมากที่สุด
03.30 – 05.30 น. เวลาทางช้างเผือก (Milky Way Galaxy)
ในช่วงก่อนรุ่งเช้าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เราสามารถสังเกตเห็นแนวทางช้างเผือกบริเวณใจกลางได้ทางทิศตะวันออก โดยในการสังเกตตำแหน่งของใจกลางทางช้างเผือกเราสามารถใช้กลุ่มดาวแมงป่องและคนยิงธนู ในการอ้างอิงตำแหน่ง โดยในช่วงแรกที่แนวใจกลางกำลังโผล่จากขอบฟ้านั้น เราอาจเริ่มถ่ายภาพทางช้างเผือกแบบพาโนรามากันก่อน และหลังจากที่ใจกลางอยู่สูงจากขอบฟ้ามากๆแล้ว ก็ตามด้วยการถ่ายภาพทางช้างเผือกแบบ 1 ช็อตเป็นการปิดท้ายภาพทางช้างเผือกในคืนนั้น ซึ่งในการถ่ายภาพไม่ว่าจะเป็นทาวช้างเผือกหรือภาพกลุ่มดาวบนท้องฟ้าบนขาตั้งกล้องที่นิ่งอยู่กับที่ ควรใช้สูตร Rule of 400/600 ในการคำนวณเวลาการเปิดหน้ากล้องร่วมด้วยเสมอเพื่อไม่ให้จุดดาวยืดเป็นเส้น
05.30 – 06.00 น. เวลาแสงสนธยายามเช้า (Twilight)
มาถึงช่วงเวลานี้ก็เช้าแล้วแสงแรกของวันเริ่มปรากฏขึ้นทางทิศตะวันออก ซึ่งหากร่างกายยังไหวไม่เพลียเสียก่อนแล้วล่ะก็ อย่าลืมเก็บแสงทไวไลท์ยามเช้าไว้เป็นอีกภาพหนึ่งของการถ่ายภาพ Astrophotography Marathon ก็ถือได้ว่ามีภาพที่ครบทุกมิติกันเลยทีเดียวสำหรับทริปการถ่ายภาพแบบ Marathon ตลอด 1 คืนเต็มๆ ที่เราต้องอดหลับอดนอน ท้าความหนาวกันตลอดทั้งคืน แต่ท้ายที่สุดหลังจากที่คุณหลับพักผ่อนและฟื้นคืนความฟิต เมื่อได้มาดูภาพจากที่ถ่ายมาตลอดทั้งคืน คุณก็จะหายเหนื่อยและได้เก็บภาพความประทับใจที่หลากหลายรูปแบบไว้ชื่นชม นอกจากนี้ เรายังสามารถนำภาพต่างๆมาสร้างสรรค์เป็นปฏิทิน สคส. หรือการ์ดอวยพรสุดเก๋ไม่ซ้ำใครได้อีกด้วยครับ
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน