งานมาราธอนนี้ไม่มีผลแพ้ชนะ แต่สิ่งที่ได้คือทักษะในการเก็บภาพวัตถุท้องฟ้า ซึ่งไม่เพียงแต่ต้องมีความรู้พื้นฐานทางดาราศาสตร์ที่จำเป็น แต่ต้องมีสมรรถภาพร่างกายที่ทนต่อการอดหลับอดนอน และสภาพอากาศอันหนาวเย็นผิดไปจากฤดูร้อนอันระอุ
3 นาที 23 วินาทีคือเวลาที่ผู้สมัครเข้าร่วมกิจกรรม อบรมภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ "Astrophotography Marathon 2016) ครบเต็มจำนวน 80 คน
กิจกรรมถ่ายภาพดาราศาสตร์ดังกล่าว จัดขึ้นโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ในรูปแบบมาราธอน คือถ่ายภาพอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งคืน ระหว่างวันที่ 9-10 เม.ย.59 ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้ฟังเทคนิคการถ่ายภาพดาราศาสตร์แต่ละประเภทก่อนได้ลงมือปฏิบัติจริงจาก ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร.
ส่วนภาคปฏิบัตินั้นผู้เข้ารับการอบรมได้ลงพื้นที่ถ่ายภาพบริเวณพระมหาธาตุนภเมทนีดลและพระมหาธาตุนภพลภูมิ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ใกล้ๆ ยอดดอยอินทนนท์และหอดูดาวแห่งชาติ ซึ่งปกติไม่อนุญาติให้คนทั่วไปเข้าหลังเวลา 18.00 น.
กิจกรรมการถ่ายภาพดาราศาสตร์เริ่มขึ้นหลังจากดวงอาทิตยเริ่มลับขอบฟ้า โดยเริ่มจากการถ่ายภาพแสงจักรราศี (Zodiacal Light) บริเวณขอบฟ้าที่คล้ายแสงรบกวนจากแสงเมือง ทว่าเป็นแสงที่เกิดขึ้นจากอนุภาคของฝุ่นละอองในอวกาศ หรือฝุ่นจากดาวหาง และดาวเคราะห์น้อย กระทบกับแสงจากดวงอาทิตย์ จะปรากฏอยู่ในแนวระนาบของเส้นสุริยะวิถี มีลักษณะเป็นลำแสงสามเหลี่ยมพุ่งขึ้นจากขอบฟ้า
ช่วงเวลาของการภาพแสงจักรราศีมีเวลาถึง 20.00 น. แต่เนื่องจากมีเมฆรบกวนจึงไม่สามารถบันทึกภาพได้ จากนั้นจึงเข้าสู่ช่วงเวลาการถ่ายภาพเส้นแสงดาว (Star Trails) และวัตถุท้องฟ้า เช่น เนบิวลา ก่อนได้เวลาถ่ายภาพทางช้างเผือกซึ่งปรากฏให้เห็นหลังเที่ยงคืน
นรินทร์ เงินอ้น นักวิชาการคอมพิวเตอร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสมาชิกชมรมพรานดารา ซึ่งเข้าร่วมการอบรบครั้งนี้ด้วย บอกทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ปกติถ่ายภาพดาราศาสตร์อยู่แล้ว แต่มาอบรมเพราะอยากได้เทคนิคในการตั้งค่ากล้องให้เหมาะสมกับวัตถุท้องฟ้าประเภทต่างๆ รวมถึงการหาทิศทางของวัตถุท้องฟ้าแต่ละอย่าง
"ก่อนหน้านี้ก็ไปถ่ายที่โน้น ที่นั่นบ้าง แต่ที่นี่ (บริเวณพระมหาธาตุฯ) มาได้ยาก (ไม่เปิดให้คนทั่วไปเข้าตอนกลางคืน) พิกัดเหมาะสมและมืด มีชมรมคนรักมวลเมฆ แต่เราไม่ชอบ เพราะเมฆเยอะไม่ดีต่อการถ่ายภาพดาราศาสตร์" นรินทร์เล่า
การเข้าอบรมของนรินทร์นอกจากเพื่อเทคนิคถ่ายภาพและการเข้าถึงพื้นที่ถ่ายภาพที่ปกติเป็นพื้นที่หวงห้ามแล้ว เป้าสำคัญคือการถ่ายภาพทางช้างเผือก ส่วนเทคนิคการถ่ายภาพอื่นๆ อย่างการถ่ายเส้นแสงดาว สำหรับเขาแล้วไม่ยาก
นรินทร์บอกด้วยว่าเขายังชอบถ่ายนก แต่การถ่ายภาพนกและถ่ายภาพดาราศาสตร์ก็มีความยากแตกต่างกัน ถ่ายภาพดาวง่ายกว่าตรงที่มีกำหนดเวลาและดาวไม่หนีไปไหน แต่นกไม่เข้ามาให้ถ่าย หากเข้าใกล้ก็หนี ส่วนการถ่ายภาพคนมีความตรงที่ผู้เป็นแบบสามารถวิจารณ์คนถ่ายภาพได้
ส่วน 2 นักศึกษาแพทย์จากมหาวิทยาลัยมหิดลอย่างรดาณัฐ วิจารณ์ และ ธนพล ประเทืองพงศ์ ซึ่งรวมกลุ่มกับเพื่อนมา 4 คนเพื่อเข้ารับการอบรมก็ตั้งใจมาถ่ายภาพทางช้างเผือกเช่นกัน โดยทั้งสองคนชอบการถ่ายภาพวิวตามแหล่งท่องเที่ยว และเคยถ่ายภาพทางช้างเผือกแต่ไม่ได้อย่างที่ตั้งใจ จึงตั้งใจเข้าอบรมเพื่อนำเทคนิคไปใช้
ด้าน วิรติ กีรติกานต์ชัย ผู้ประสานงานชมรมพรานดารา และผู้อำนวยการโรงเรียนเอกปัญญา โรงเรียนศิลปะการถ่ายภาพใน จ.เชียงใหม่ ได้รับเชิญจาก สดร. มาร่วมงานอบรมในฐานะผู้จัดร่วม และช่วยให้คำแนะนำแก่ผู้เข้ารับการอบรมคนอื่นๆ
วิรติบอกว่าถ่ายภาพดาราศาสตร์มา 4-5 ปีแล้ว โดยได้ความรู้จากการอบรมของ สดร.และเข้าร่วมกิจกรรมเรื่อยๆ จนกระทั่งได้จัดของชมรมเองบ้างเพื่อรวมกลุ่มผู้ที่สนใจในเรื่องเดียวกัน โดยก่อนหน้านี้ก็เคยจัดการอบรมถ่ายภาพมาราธอนคล้ายๆ กันนี้ จากเดิมมีสมาชิกเริ่มต้น 6-7 คน ตอนนี้ผ่านมา 3 ปีมีสมาชิกกว่า 5,000 คนแล้ว
สำหรับการอบรมครั้งนี้วิรติเห็นว่าผู้ร่วมส่วนใหญ่สนใจถ่ายภาพทางช้างเผือก ซึ่งเขาก็ช่วยให้คำแนะนำว่าจะดูเวลาทางช้างเผือกขึ้นและตกอย่างอย่างไร สังเกตกลุ่มดาวอย่างไร เพื่อเป็นความรู้พื้นฐานแก่ผู้สนใจนำไปใช้เพื่อนำไปถ่ายภาพด้วยตนเองในที่อื่นๆ มากกว่าพึ่งแค่แอปพลิเคชัน
ส่วนอุปสรรคในการถ่ายทางช้างเผือกและภาพดาราศาสตร์ที่ทำให้คนส่วนใหญ่ถ่ายไม่ได้นั้นวิรติมองว่าเป็นที่สภาพอากาศ การวางแผนถ่ายภาพ การเตรียมตัวและเตรียมพร้อมอุปกรณ์
"เพราะว่าสภาพท้องฟ้าส่งผลที่ได้ต่อภาพโดยตรง เช่น ครั้งนี้ฟ้าเคลียร์มาก อุปกรณ์ตัวไหนก็เก็บภาพได้หมด แต่ถ้าวันไหนที่ท้องฟ้าไม่ดีนัก คุณภาพก็แย่ไปตามสภาพอากาศ ถ้าเราใช้กล้องหรือเลนส์ที่มีศักยภาพไม่พอ ก็เก็บภาพไม่ได้"ผอ.โรงเรียนสอนถ่ายภาพชี้ปัญหาของการถ่ายภาพทางช้างเผือกและวัตถุท้องฟ้า
นอกจากนี้วิรติระบุด้วยความรู้เบื้องต้นทางดาราศาสตร์จำเป็นมาก เพราะเรายังติดตามปรากฏการณ์ดาราศาสตร์อื่นๆ ได้ นอกเหนือจากแค่ทางช้างเผือกซึ่งขึ้นตกทุกวัน และสังเกตเห็นได้ตลอดทั้งปีอยู่แล้ว
"วันนี้ก็มาเพื่อพูดกับเพื่อนๆ โดยตรงเลยว่ามีปรากฏการณ์อื่นๆ ที่น่าติดตามต่อไป ยกตัวอย่างเช่นวันนี้ กลางทางช้างเผือกของเราก็จะมีดาวหางด้วย และน่าจะมีบางคนถ่ายได้ จะเห็นเป็นภาพสีเขียวใจกลางทางช้างเผือก เมื่อวานทีมงานเราก็ถ่ายดาวหางนี้ได้ที่ดอยอ่างขาง" ผู้ประสายงานชมรมพรานดารากล่าว
วิรติระบุว่าโลกเดินทางเข้าไปในวงโคจรของดาวหางเป็นประจำ แหล่งกำเนิดของดาวหางอยู่บริเวณแถบไคเปอร์ ที่เลยจากดาวเนปจูนไป เหมือนแหล่งกำเนิดของดาวเคราะห์น้อย โดยตั้งแต่เลยเนปจูนไปถึงพลูโตจะเป็นดาวหางคาบสั้น ที่ผ่านเข้ามาบ่อยๆ และเลยจากแถบไคเปอร์ไปก็เป็นหมู่เมฆออร์ต ไกลออกไปอีกเป็นดาวหางคาบยาว ที่มีคาบนาน 100-200 ปี
วิรติบอกว่าเมื่อมีความรู้ดาราศาสตร์เบื้องต้นก็ทำให้มีเรื่องเล่า เช่น ดาวหางมีที่มาอย่างไร นักดาราศาสตร์เราเชื่อว่าดาวหางน่าจะนำบางอย่าง พวกสารอินทรีย์ สารชีวเคมีมาตกลงบนโลกทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์ อย่างโลกเราเชื่อว่ามีสภาพแวดล้อมเหมาะแก่สิ่งมีชีวิต เพราะเชื่อว่าต้นกำเนิดมาจากดาวหางด้วยเช่นกัน
"ครั้งนี้มือใหม่ค่อนข้างเยอะ เกือบครึ่ง เพราะว่าทางแคนนอนก็รับสมัครมือใหม่มา ซึ่งมือใหม่ในที่นี้คือมือใหม่เรื่องการถ่ายดาว แต่ว่าทุกคนเก่งเรื่องการถ่ายภาพอยู่แล้ว ซึ่งทั้งชมรมพรานดารา และ สดร. มีความตั้งใจอยากจะให้คนสนใจและเกิดกระแส เพราะว่า ภาพถ่ายจะบ่งบอกอะไรได้หลายอย่าง เช่น สภาพแวดล้อมในปัจจุบัน และเป็นการสื่อสารที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง บางทีเราพูดด้วยคำพูดเป็นศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ ทางวิชาการ คนอาจจะไม่ติดตามแต่เมื่อเราเห็นภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ เราจะเห็นเลยว่ามีความสวยงาม ตรงนี้มีความยากลำบากในการไปถ่ายนะ หรือเมืองไทยมีจุดดึงดูดน่าสนใจไม่ต่างจากต่างประเทศเลย" วิรติกล่าว
อย่างไรก็ตามผู้ประสานงานชมรมพรานดารากล่าวว่าปัจจุบันหาสถานที่ถ่ายภาพดาราศาสตร์ยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าสภาพแวดล้อมแย่ลง เช่นภาคเหนือมีปัญหาหมอกควัน เมื่อไปถ่ายภาพดาราศาสตร์ก็เห็นหลายที่มีปัญหาเหมือนๆ กัน แม้แต่ดอยอินทนนท์อยู่สูงที่สุดในไทยที่ระดับความสูงกว่า 2,400 เมตรก็ยังได้รับผลกระทบ จากปกติมีฟ้าหลัวขึ้นมาที่ระดับ 2,000 เมตร แต่ว่าปีนี้ขึ้นมาถึง 2,200 เมตร หรือบางวันมองไม่เห็นดอยหัวเสือเลย ทั้งที่อีกวันก่อนหน้านั้นมองเห็น
ส่วน ศศิ ธัญญกรรม นักศึกษาปี 1 สาขาการสื่อสารดิจิทัล คณะสาสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ บอกทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า เคยถ่ายภาพทางช้างเผือกกับพ่อที่ จ.ลำพูน ซึ่งเป็นบ้านเกิด แต่ไม่สวยเท่าไร จึงจากได้เทคนิคจากการอบรมกลับไปใช้ โดยรู้จักกิจกรรมนี้จากพ่อที่แนะนำให้เข้าร่วม
"หนูก็เรียนสายถ่ายภาพด้วย จึงคาดหวังจะได้คำตอบว่า ทำอย่างไรให้ได้ภาพดาราศาสตร์อย่างที่เราเห็น ตั้งใจว่าจะถ่ายภาพทางช้างเผือกกลับไป ตอนสมัครพ่อส่งลิงค์มาให้ พ่อชอบติดตามเรื่องแบบนี้ ตอนสมัครก็จ้องหน้าจอไม่ห่าง" ศศิเล่า
การอบรมครั้งนี้ศศิเข้าร่วมการอบรมพร้อมพ่อ และตั้งใจจะนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายภาพทางช้างเผือกอีกครั้งที่สะพานทางชมพู จ.ลำพูนหรือที่คนทั่วไปเรียกว่าสะพานขาว
ด้าน ศุภฤกษ์ซึ่งเป็นวิทยากรหลักในการอบรมครั้งนี้เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า รู้สึกพอใจกับการอบรมครั้งนี้ ซึ่งผู้เข้าอบรมส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์ที่จะถ่ายภาพทางช้างเผือกให้ได้เป็นครั้งแรก บางคนอยากจะถ่ายภาพทางช้างเผือก "ดุๆ" (ชัดๆ) ท่ามกลางสภาพท้องฟ้าที่ใสเคลียร์
"เรายังมีกิจกรรมอื่นด้วย เช่นการถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้า การถ่ายกลุ่มดาวด้วยอุปกรณ์ตามดาว ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่นักดาราศาสตร์ใช้เก็บข้อมูลดาราศาสตร์ หลายคนได้เรียนรู้การตั้งค่าอุปกรณ์ดาราศาสตร์" ศุภฤกษ์กล่าว
แม้จะพอใจกับภาพรวมกิจกรรมแต่ศุภฤกษ์ให้คะแนนกิจกรรมนี้ 70% เนื่องจากสภาพอากาศไปเป็นใจในช่วงหัวค่ำ ทำให้พลาดโอกาสบันทึกภาพแสงจักราศี และบางช่วงกลุ่มดาวขาดๆ หายๆ แต่กิจกรรมก็เป็นไปตามกำหนด โดยเขาตั้งใจสิ้นสุดกิจกรรมตอน 05.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมีเมฆหมอกปกคลุมตามสภาพอากาศฤดูร้อน
"ถึงจะมีอุปสรรคเรื่องสภาพอากาศ แต่เมื่อเทียบกับข้างล่าง ในตัวเมืองเชียงใหม่มีพายุลูกเห็บ (ค่ำที่ 9 เม.ย.) แต่ข้างบนนี้ (ดอยอินทนนท์) เราถ่ายภาพได้ แสดงให้เห็นว่าที่นี่เป็นสถานที่เหมาะแก่การถ่ายภาพดาราศาสตร์ เรากำลังถ่ายภาพท้องฟ้าที่นักดาราศาสตร์เลือกใช้ทำงาน" หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าว
ศุภฤกษ์กล่าวว่ากิจกรรมนี้สร้างความตื่นตัวทางดาราศาสตร์ผ่านการถ่ายภาพ ทั้งมือใหม่และมือโปรต่างถ่ายภาพได้ตามที่ต้องการ โดยครั้งหน้าจะจัดขึ้นอีกครั้งในเดือน ก.พ.60 แต่ต้องเรื่องเวลา สภาพอากาศ รวมถึงวัตถุท้องฟ้าในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย
ศุภฤกษ์ยังฝากคำแนะนำไปถึงผู้สนใจกิจกรรมครั้งต่อไปว่า อยากให้ผู้สนใจฝึกฝนการถ่ายภาพเบื้องต้นมากๆ และศึกษาวิธีดูดาวเบื้องต้น และเตรียมอุปกรณ์ที่ต้องใช้ร่วมกับการถ่ายภาพให้พร้อม เช่น กล้องดิจิทัล ขาตั้งกล้อง สายลั่นชัตเตอร์
"ถ้าปีต่อไปหนาวจัดต้องเตรียมอุปกรณ์กันหนาวให้รัดกุมกว่านี้ สำหรับปีนี้ยังถือว่าทุกคนถ่ายภาพในอากาศที่เย็นสบาย (ทว่ามีหลายคนที่ไม่ได้เตรียมพร้อมรับความหนาวอย่างเพียงพอ) เมื่อเทียบกับปีที่แล้วเราจัดช่วงเดือน มี.ค.อากาศหนาวจัดกว่านี้ และกว่าจะได้ถ่ายทางช้างเผือกต้องรอถึงตี 3 แต่ปีนี้ถ่ายได้ตั้งแต่เที่ยงคืนจนถึงตี 5 ซึ่งเป็นเวลาที่แสงทไวไลท์ขึ้นและมีเมฆมาตามปกติของฤดูร้อน" ศุภฤกษ์ให้คำแนะนำ