สวัสดีครับ ต่อเนื่องจากคอลัมน์ก่อนหน้าที่ผมได้แนะนำทริปการถ่ายภาพแบบมาราธอนกันไปแล้ว สำหรับกิจกรรมนี้ก็มีชื่อว่า Astrophotography Marathon งานนี้จัดขึ้นโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ร่วมกับกองทัพอากาศ และบริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง ประเทศไทย นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยก็ว่าได้ ที่มีการจัดในรูปแบบ “มาราธอน” ซึ่งเป็นการถ่ายภาพในรูปแบบต่างๆ ตามช่วงเวลาของท้องฟ้า โดยสถานที่สำหรับถ่ายภาพก็คือ บริเวณพระมหาธาตุนภเมทนีดลและพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ ซึ่งมีมุมในฝันของหลายๆ คนที่อยากขึ้นไปถ่ายสักครั้ง เนื่องจากปกติแล้ว บริเวณยอดดดอยอินทนนท์จะไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวอยู่หลังเวลา 18.00 น. เพราะอากาสบริเวณยอดดอยหนาวจัดมาก แต่งานนี้เราได้ขออนุญาตเป็นกรณีพิเศษ โดยทางกองทัพอากาศยังได้อำนวยความสะดวกและปิดไฟทั่วบริเวณซึ่งเป็นโอกาสของนักถ่ายภาพที่จะได้สัมผัสกับท้องฟ้าที่ใสเคลียร์และมีทัศนวิสัยที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
ในกิจกรรมนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับการแนะนำเทคนิคการถ่ายภาพในแต่ละประเภท ตามช่วงเวลา โดยกิจกรรมการถ่ายภาพเราเริ่มขึ้นตั้งแต่เวลา 18.00 น. เรียกได้ว่าอาหารยังไม่ทันย่อยก็เริ่มภารกิจถ่ายภาพแบบมาราธอนกันเลย กับสภาพอากาศหนาวเย็นกว่า 6 องศาเซลเซียสด้วยการถ่ายภาพแสงทไวไลท์ทางด้านทิศตะวันตก มุมที่ได้รับความนิยมกันมากที่สุดคือบริเวณจุดชมวิวด้านหน้าลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งจะมองเห็นพระมหาธาตุนภเมทนีดลและพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ และ ณ จุดนี้ความหนาวก็เริ่มกันที่ 6 องศาเซลเซียส กับแสงทไวไลท์ครับ
หลังจากหมดแสงทไวไลท์ ก็เป็นช่วงของการถ่ายภาพแสงจักรราศี (Zodiacal Light) ซึ่งความใสเคลียร์ของท้องฟ้ายอดดอยอินทนนท์ไม่ทำให้ทุกคนผิดหวัง หลังจากดวงอาทิตย์สิ้นแสงสักครู่ ท้องฟ้าทางทิศตะวันตกก็เผยแสงโครงรูปสามเหลี่ยม ปรากฏอยู่ในแนวเส้นสุริยวิถีอย่างชัดเจน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน และไม่พลาดครับทุกคนถ่ายภาพได้มาสวยงามและชัดเจนกันแทบทุกคน แต่ผมก็ยังเห็นบางคนที่ถ่ายติดแล้ว แต่มองไม่ออกว่าตัวเองถ่ายมาติดแล้ว หลายๆ คนที่เข้าร่วมก็มีน้ำใจช่วยกันอธิบายให้ฟังกันยกใหญ่ ก็ทำให้บรรยากาศการถ่ายภาพดูอบอุ่นขึ้นอีกมาก กับสภาพอากาศที่อุณภูมิ ลดต่ำลงอีก เหลือ 5 องศาเซลเซียส
เมื่อเข้าสู่ช่วงที่ท้องฟ้ามืดสนิท กลุ่มดาวต่างๆ ที่น่าสนใจบนท้องฟ้าก็สุกสว่างเต็มท้องฟ้า ก็มาสู่ช่วงเวลาการถ่ายภาพกลุ่มดาวต่างๆ โดยกลุ่มดาวแรกที่เราแนะนำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรมได้ทดลองถ่ายภาพคือ กลุ่มดาวนายพรานด้วยกล้องดิจิทัลบนขาตั้งกล้องแบบตามดาว กิจกรรมนี้ผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้เรื่องการเคลื่อนที่ของทรงกลมท้องฟ้าและเทคนิคการตั้งกล้องโทรทรรศน์เพื่อการถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าอีกด้วย
หลังจากช่วงเวลา 23.00 น. อุณหภูมิบริเวณยอดดอยลดต่ำลงอีกเหลือประมาณ 3 องศาเซลเซียส เราแนะนำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเริ่มหาจุดถ่ายภาพเส้นแสงดาว (Star Trails) กันได้แล้ว ซึ่งมุมที่ผู้เริ่มต้นถ่ายภาพประเภทนี้คงหนีไม่พ้นทางทิศเหนือ ส่วนเทคนิคในการจัดวางตำแหน่งของขั้วเหนือของท้องฟ้าให้อยู่ตรงตำแหน่งกลางภาพ หรือบริเวณที่ต้องการนั้น ผมให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทดลองดาวน์โหลดแอปพลิเคชันชื่อว่า Scope Help มาใช้ร่วมในการหาตำแหน่งขั้วเหนือจริงๆ จากตำแหน่งดาวเหนือที่ระบุในแอปพลิเคชันได้
เวลา 03.30 – 05.30 น. และแล้วก็มาถึงช่วงที่ทุกคนรอคอยกันมาตลอด คือช่วงเวลาแห่งการล่าทางช้างเผือกนั่นเอง ในช่วงเวลานี้ทุกคนที่แอบไปงีบ หรือหาที่นอนหลังตั้งกล้องถ่ายเส้นแสงดาว ช่างเป็นอะไรที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสนุกกับการถ่ายภาพกันมากที่สุด จนลืมเวลาและความหนาวกันเลยทีเดียว ทั้งที่อากาศ ณ ช่วงเวลานั้นมีอุณหภูมิต่ำกว่า 3 องศาเซลเซียส ซึ่งช่วงเวลาตั้งแต่ที่แนวทางช้างเผือกโผล่จากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้มา จนถึงช่วงเวลาที่ท้องฟ้าสว่างก็ใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง แต่มันช่างเป็นช่วงเวลาที่เร็วมาก ผมไม่เห็นใครปริปากบ่น หนาว ง่วง เบื่อ สักคำ ข้างๆหูผมได้ยิงแต่เสียงชัตเตอร์ที่ดังลั่นต่อเนื่องทั่วบริเวณ โดยบางคนก็ถ่ายไปท่องสูตรไป คำนวณเวลาการถ่ายภาพไป และอะไรอีก บลาๆๆๆ ...แต่สิ่งที่ผู้ร่วมกิจกรรมได้ไปก็คือ ภาพถ่ายดาราศาสตร์ประเภทต่างๆ ก็คงต้องใช้เวลา Process ภาพกันหลายอาทิตย์เลยก็ว่าได้
หลังจากอดหลับอดนอนโต้รุ่งกันมาทั้งคืน ก็ปิดท้ายกิจกรรมถ่ายภาพ Astrophotography Marathon ด้วยปรากฏการณ์น้ำค้างแข็งบนยอดดอยอินทนนท์ ให้เหล่านักล่าดาวทริปนี้ได้สัมผัสกัน ซึ่งผมเองระหว่างเก็บของจะเตรียมกลับ ก็แอบมองเห็นหลังคารถผู้เข้าร่วมกิจกรรมขาวโพลนเต็มไปด้วยน้ำแข็งเต็มหลังคา เลยเรียกผู้เข้าร่วมมาสัมผัสกัน ก็เป็นบรรยากาศที่สนุกสนาม ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การถ่ายภาพและการดูดาว ซึ่งกิจกรรมนี้ผมถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีมาก และคิดว่าอาจจะจัดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แต่จะเป็นช่วงไหน ลองตามกิจกรรมนักล่าดาวแบบนี้ทางเฟซบุ๊กในแฟนเพจ Astrophotography Workshop และ Night watch: Astrophotography and Nightscape photography Group กันได้ครับ
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน