นาซาใช้จังหวะ “ดาวพุธ” ผ่านหน้าดวงอาทิตย์เมื่อ 9 พ.ค.ศึกษาการการระเหยของพื้นผิวดาวเคราะห์เพื่อนบ้านในระบบสุริยะ คาดอาจเป็นปัจจัยให้ดาวเคราะห์ชั้นในหดตัวลงเรื่อยๆ
เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2016 ดาวพุธซึ่งเป็นดาวเคราะห์ชั้นในที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด เพิ่งผ่านหน้าดวงอาทิตย์ศูนย์กลางของระบบสุริยะ โดยในเมืองไทยสามารถสังเกตปรากฏการณ์ดังกล่าวได้นาน 25 นาที
รอยเตอร์รายงานว่า “ดาวพุธผ่านหน้าดวงอาทิตย์” เป็นปรากฏการณ์ที่ทศวรรษหนึ่งจะเกิดขึ้นสักครั้ง โดยล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 พ.ค.2016 ซึ่ง “การผ่านหน้า” จะปรากฏให้เห็นเป็นจุดสีดำเล็กๆ ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ตั้งแต่เวลา 18.12 น.ตามเวลาประเทศไทย
ดาวพุธซึ่งเดินทางด้วยความเร็ว 48 กิโลเมตรต่อวินาทีใช้เวลาผ่านหน้าอาทิตย์ทั้งหมด 7 ชั่วโมง ซึ่งปรากฏการณ์นี้เคยเกิดขึ้นล่าสุดเมื่อปี 2006 และในรอบ 100 ปีจะเกิดขึ้นทั้งหมด 13 ครั้ง
ทว่าการผ่านหน้าดวงอาทิตย์ของดาวพุธครั้งนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกตั้งแต่องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ส่งยานอวกาศเมสเซนเจอร์ (MESSENGER) ขึ้นไปโคจรรอบดาวพุธตั้งแต่ปี 2011-2015 เพื่อศึกษาหลุมอุกกาบาตและพื้นผิวของดาวเคราะห์
พื้นผิวของดาวพุธนั้นมีอุณหภูมิสูงถึง 427 องศาเซลเซียส ซึ่งร้อนพอที่จะละลายตะกั่ว แต่ดาวเคราะห์ดวงนี้ก็ยังมีหลุมอุกกาบาตลึกจนดวงอาทิตย์ส่องแสงไม่ถึง และยังเป็นหนึ่งในสถานที่หนาวเย็นที่สุดในระบบสุริยะซึ่งมีน้ำแข็งตัวอยู่และยังมีองค์ประกอบอินทรีย์ด้วย
ด้าน จิม กรีน (Jim Green) หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ของนาซากล่าวว่า ระหว่างการผ่านหน้าดวงอาทิตย์ของดาวพุธนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์คาดหวังว่า ยานเมสเซนเจอร์จะได้ค้นพบอะไรเพิ่มเติมจากการศึกษาการระเหยของก๊าซจากพื้นผิวดาวเคราะห์ และก๊าซที่ระเหยออกไปจากดาวเคราะห์อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ดาวพุธหดเล็กลงก็ได้
นอกจากนี้นักดาราศาสตร์ยังใช้โอกาสนี้ปรับเทียบเซนเซอร์ของกล้องโทรทรรศน์ศึกษาดวงอาทิตย์ที่อยู่ในอวกาศด้วย รวมถึงปรับเทคนิคการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะให้ละเอียดขึ้น
“เมื่อดาวเคราะห์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ จะเป็นเหตุให้ความสว่างของดวงอาทิตย์ลดลง นักวิทยาศาสตร์จะสามารถวัดความสว่างที่ลดลงนี้ได้จากดาวฤกษ์อื่นๆ เพื่อหาดาวเคราะห์ที่โคจรอยู่รอบๆ ได้” นาซาระบุ
ทั้งนี้ ดาวพุธจะผ่านหน้าดวงอาทิตย์อีกครั้งในปี 2019 หลังจากนั้นต้องรอไปอีกจนถึงปี 2032 จึงจะได้เห็นปรากฏการณ์นี้อีกครั้ง