xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิทินคงวุ่นวาย...พบดาวเคราะห์ใหม่มีดวงอาทิตย์ 3 ดวง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจำลองจากมุมมองบนดาวเคราะห์ เอชดี 131399เอบี ที่โคจรใกล้ดาวฤกษ์ดาวใหญ่สุด และมีดาวฤกษ์คู่อีก 2 ดวงอยู่ไกลๆ (L. Calçada/ESO via AP)
ดวงอาทิตย์ดวงเดียวก็ร้อนแย่แล้ว แต่ดาวเคราะห์นอกระบบที่นักดาราศาสตร์เพิ่งค้นพบนั้นเป็นบริวารของดวงอาทิตย์ถึง 3 ดวง และใช้เวลาโคจรรอบดาวฤกษ์ของตัวเองถึง 550 ปี

อ้างตามรายงานของรอยเตอร์ทีมนักดาราศาสตร์เผยว่าได้พบโลกใหม่ที่แปลกประหลาดเพราะมีดวงอาทิตย์ถึง 3 ดวง เมื่อมองจากโลกตำแหน่งบนท้องฟ้าของดาวเคราะห์ดังกล่าวอยู่ในกลุ่มดาวคนครึ่งม้า (Centaurus)

เควิน แวกเนอร์ (Kevin Wagner) นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแอริโซนา (University of Arizona) ในทูซอน สหรัฐฯ ผู้ค้นพบและหัวหน้าทีมเขียนรายงานวิชาการ กล่าวว่าเขาขนลุกที่ได้เห็นความสวยงามของธรรมชาติที่ไม่มีใครเคยได้เห็นนี้

“ผมว่าธรรมชาติยังมีเรื่องน่าประหลาดใจเก็บไว้ในโกดังให้เราอีกตราบเท่าที่เรายังคงสำรวจต่อไป” แวกเนอร์เผยกับรอยเตอร์ผ่านทางอีเมล

สำหรับการค้นพบระบบดาวฤกษ์ 3 ดวงนั้นเป็นปรากฏหายาก และเชื่อว่าการค้นพบครั้งนี้เพิ่งเป็นครั้งที่ 5 แต่ดาวเคราะห์ก๊าซในระบบนี้ซึ่งมีมวลมากกว่าดาวพฤหัสบดีในระบบสุริยะถึง 4 เท่านั้น เป็นดาวเคราะห์ที่มีมวลมากที่สุดในระบบดาวฤกษ์หลายดวงที่เรารู้จัก

หากใช้มาตรวัดปีของโลกดาวเคราะห์ที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า เอชดี 131399เอบี (HD 131399Ab) นี้ ใช้เวลาโคจรรอบดาวฤกษ์ในระบบดวงที่สว่างที่สุดนานถึง 550 ปี (ซึ่งเป็นเวลา 2 เท่าที่ดาวเคราะห์แคระพลูโตใช้โคจรรอบดวงอาทิตย์) ส่วนดาวฤกษ์อีก 2 ดวงในระบบที่มีขนาดเล็กกว่าจะโคจรรอบกัน และต่างโคจรรอบดาวฤกษ์ที่เป็นพี่ใหญ่ในระบบด้วย

ในบางช่วงของวงโคจรดาวเคราะห์นั้นดาวฤกษ์ทั้ง 3 ดวงขึ้นและตกในวันเดียวกัน ทำให้บนดาวเคราะห์นั้นเห็นดวงอาทิตย์ 3 ดวงในกลางวันและมีช่วงเวลากลางคืน และมีช่วงเวลา 1 ใน 4 ของปีบนดาวเคราะห์เอชดี 131399เอบีหรือประมาณ 100-140 ปีบนโลก ที่เป็นกลางวันตลอด เนื่องจากดาวฤกษ์พี่ใหญ่ขึ้น-ตกสลับกับดาวฤกษ์แฝดผู้น้อง

“ด้วยดวงอาทิตย์ 3 ดวง ทำให้บนดาวเคราะห์ได้เห็นการผสมผสานอันพิศดารของการขึ้น-ตกดาวฤกษ์ที่แตกต่างกัน นี่เป็นระบบดาวฤกษ์หนึ่งที่ผมไม่อยากออกแบบปฏิทินเลย” แดเนียล เอพาย (Daniel Apai) นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแอริโซนา ผู้ร่วมเขียนรายงานวิชาการให้ความเห็น

นักดาราศาสตร์ใช้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์เวรีลาร์จ (Very Large Telescope) ของหอดูดาวซีกฟ้าใต้ยุโรป (European Southern Observatory) ในชิลี
ศึกษาจนค้นพบดาวเคราะห์ดวงนี้ที่อยู่ห่างจากโลก 320 ปีแสง

ดาวเคราะห์เอชดี 131399เอบีเป็นดาวเคราะห์นอกระบบเพียงไม่กี่ดวงที่ศึกษาได้จากภาพถ่ายโดยตรง เพราะดาวเคราะห์นอกระบบส่วนใหญ่ถูกจำแนกจาก “แสงหรี่” ของดาวฤกษ์ตามคาบโคจร ขณะดาวเคราะห์โคจรผ่านหน้าดาวฤกษ์เมื่อสังเกตจากโลก

ทีมนักดาราศาสตร์ผู้ค้นพบตีพิมพ์ผลงานลงวารสารวิชาการ “ไซน์” ซึ่งการตั้งชื่อดาวเคราะห์และลักษณะพื้นผิวดาวเคราะห์ตามลำดับอักษรนั้น เป็นไปตามระเบียบการตั้งชื่อของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (The International Astronomical Union) แต่ก็มีกลุ่มใหม่ๆ ที่ออกมารณรงค์สาธารณชนในการตั้งชื่อดาวเคราะห์ใหม่

“ผมก็หวังว่าเราจะได้ชื่อที่เจ๋งกว่านี้นะ” แวกเนอร์กล่าว ส่วนเอพายซึ่งตอบรอยเตอร์ผ่านอีเมลนั้นบอกว่า พวกเขาเรียกเชื่อดาวเคราะห์ใหม่นี้ว่า “เดอะพลาเนต” (The Planet) แต่เพราะมีว่าที่ดาวเคราะห์มากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาอาจต้องตั้งชื่อดาวเคราะห์ใหม่ในเร็วๆ นี้
ภาพจำลองวงโคจรของดาวเคราะห์ เอชดี 131399เอบี ที่มีดาวฤกษ์ 3 ดวง (ESO via AP)









กำลังโหลดความคิดเห็น