xs
xsm
sm
md
lg

พบดาวเคราะห์นอกระบบที่น่าจะดำรงชีวิตได้อีก 2 ดวง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากนาซาจำลอง ดาวเคราะห์นอกระบบ 2 ดวงคือ ดาวเคราะห์ TRAPPIST-1b และ TRAPPIST-1c โคจรรอบดาวแคระแดงที่มีขนาดเล็กและเย็นกว่าดวงอาทิตย์ของเรามาก (Handout / NASA/ESA/STScI/J. de Wit (MIT) / AFP)
ทีมนักวิจัยนานาชาติร่วมประกาศการค้นพบ “ดาวเคราะห์นอกระบบ” อีก 104 ดวง ซึ่งมี 4 ดวงที่เป็นดาวเคราะห์หินคล้ายโลก โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงเดียวกันนอกระบบสุริยะที่อยู่ไกลออกไป 400 ปีแสง ในจำนวนนั้นมี 2 ดวงน่าจะเอื้อต่อการดำรงชีวิต

ทั้งนี้ข้อมูลเอเอฟพีรายงานว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติได้ใช้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ (Kepler space telescope) รวมถึงข้อมูลจากหอดูดาวภาคพื้นดิน ซึ่งมีหอดูดาว 4 แห่งบนยอดเขามัวนาคีในฮาวาย ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบ

อีวาน ไซนูกอฟฟ์ (Evan Sinukoff) จากมหาวิทยาลัยฮาวาย (University of Hawaii) ผู้มีส่วนร่วมในการค้นพบครั้งนี้ กล่าวว่าความหลากหลายของดาวเคราะห์นั้นเป็นสิ่งที่น่าประหลาดใจ โดยทีมของเขาได้ค้นพบดาวเคราะห์จำนวนมากที่มีขนาดเป็นสองเท่าของโลก ซึ่งโคจรในระยะประชิดดาวฤกษ์ดวงแม่ที่ร้อนกว่า 1,000 องศาเซลเซียส

ในจำนวนดาวเคราะห์นอกระบบที่พบเพิ่มนั้นเป็นดาวเคราะห์ 21 ดวงที่โคจรรอบดาวฤกษ์ของตัวเองในตำแหน่งที่เอื้อให้มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ (habitable zone) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีระยะห่างจากดาวฤกษ์เหมาะสมให้น้ำคงสถานะของเหลวและเอื้อต่อสิ่งมีชีวิต

มีดาวเคราะห์หิน 4 ดวงขนาดใหญ่กว่าโลกตั้งแต่ 20%-50% ซึ่งโคจรอยู่ใกล้ชิดดาวฤกษ์ดวงเดียวกันในระบบดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างจากโลก 400 ปีแสง และแม้ว่าจะโคจรอยู่ในระยะชิดกว่าดาวพุธโคจรรอบดวงอาทิตย์ แต่มีดาวเคราะห์ 2 ดวง ที่อาจจะมีอุณหภูมิพื้นผิวคล้ายโลก เพราะดาวฤกษ์ของดาวเคราะห์เหล่านั้นเย็นกว่าดวงอาทิตย์ของเรา

รายงานจากเอเอฟพีเพิ่มเติมการค้นพบของนักดาราศาสตร์ซึ่งอาศัยข้อมูลจากกล้องเคปเลอร์ว่า มีดาวเคราะห์นอกระบบ 2 ดวงคือ ดาวเคราะห์ TRAPPIST-1b และ TRAPPIST-1c โคจรรอบดาวแคระแดงที่มีขนาดเล็กและเย็นกว่าดวงอาทิตย์ของเรามาก พร้อมกันนั้นนาซายังได้เผยภาพวาดจำลองการค้นพบดาวเคราะห์ทั้งสองดวงด้วย

นับเป็นครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์ได้เริ่มค้นหาชั้นบรรยากาศโดยประมาณอุณหภูมิของดาวเคราะห์ที่มีขนาดใกล้เคียงกับโลกนอกระบบสุริยะของเรา และพบตัวบ่งชี้ที่บอกว่ามีโอกาสสูงที่ดาวเคราะห์นอกระบบทั้ง 2 ดวงนั้นจะเอื้อต่อการดำรงชีวิต

ปฏิบัติการเคปเลอร์ซึ่งลอยโดยไม่มีมนุษย์ขับเคลื่อนอยู่ในอวกาศนั้นได้สาดส่องดาวฤกษ์ถึง 150,000 ดวงในกลุ่มดาวหงส์ (Cygnus) เพื่อค้นหาสัญญาณวัตถุโคจรรอบดาวฤกษ์เหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างวัตถุอวกาศที่อาจจะเอื้อต่อการดำรงชีวิต

หลักการทำงานของกล้องโทรทรรศน์อวกาศดังกล่าวคือการสังเกตการหรี่ของแสงดาวฤกษ์หรือการผ่านหน้า (transit) ในทุกครั้งที่ดาวเคราะห์โคจรผ่านหน้าดาวฤกษ์เหล่านั้น

เมื่อปี 2013 กล้องโทรทรรศน์เคปเลอร์มีปัญหาเรื่องล้อปฏิกิริยา (reaction wheels)ที่รักษากล้องโทรทรรศน์ให้อยู่นิ่งทำงานไม่เต็มที่ นาซาจึงตั้งการทำงานของกล้องสู่ภารกิจใหม่ที่เรียกว่า เคทู (K2) เพื่อศึกษาซูเปอร์โนวา กระจุกดาว และกาแล็กซีที่อยู่ไกลโพ้น และยืนยันการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบล่าสุดว่าเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการเคทู

นับแต่ปี 2009 ที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์มูลค่าราว 20,000 ล้านบาทนี้ ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรได้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์แล้วกว่า 4,600 ดวง และได้รับการยืนยันว่าเป็นดาวเคราะห์จริงๆ 2,326 ดวง









กำลังโหลดความคิดเห็น