เยือนหอดูดาวฯ จ.ฉะเชิงเทรา บุกค่าย “ยุววิจัยดาราศาสตร์” ค่ายปั้นนักดาราศาสตร์รุ่นเยาว์จากโรงเรียนหัวกะทิส่วนภูมิภาค ค่ายแรกของ สดร. นักเรียน ม.5 จากสระแก้วคิดนำองศาดวงอาทิตย์วัดอายุปราสาทสด๊อกก๊อกธม ไขความสงสัยสถานที่สำคัญใกล้บ้านเกิด
"บ้านหนูอยู่ที่สระแก้วค่ะ อยู่ใกล้กับปราสาทสด๊อกก๊อกธม เห็นมาตั้งแต่เด็กแต่ไม่เคยรู้ว่าปราสาทมีอายุเท่าใดเพราะไม่มีประวัติบอก เห็นว่าเคยมีคนหาอายุปราสาทขอมจากองศาดวงอาทิตย์ได้ หนูเลยอยากทำบ้างโดยอาศัยความรู้ที่ได้จากค่ายค่ะ" ถ้อยคำหนึ่งของ น.ส.ธมลวรรณ ขอนดอน นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนอรัญประเทศ หนึ่งในเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการยุววิจัยดาราศาสตร์เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ถึงที่มาของงานวิจัย
ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 58 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ได้นำร่องโครงการค่ายยุววิจัยดาราศาสตร์ขึ้นเป็นครั้งแรก ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษาฉะเชิงเทรา อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนชั้นมัธยมศึกษาในจังหวัดทางภาคกลางและภาคตะวันออก 16 โรงเรียน 7 จังหวัด ที่มีความสนใจด้านการวิจัยทางดาราศาสตร์ ได้ทำโครงงานประหนึ่งนักวิจัยมืออาชีพด้วยตัวเองตั้งแต่การคิดหัวข้อ ดำเนินงานวิจัยด้วยการใช้โปรแกรมและอุปกรณ์วิจัยทางดาราศาสตร์ของจริง ไปจนถึงขั้นนำเสนอโดยมีนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญจาก สดร. เป็นผู้ฝึกสอน ซึ่งขณะนี้โครงการฯ ได้ดำเนินมาจนถึงระยะที่ 2 ระหว่างวันที่ 13-15 พ.ค. ที่เป็นการอบรมใช้เครื่องมือและเก็บข้อมูลจริง ซึ่งโอกาสนี้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ร่วมสังเกตการณ์ด้วย
นายชูชาติ แพน้อย รักษาการผู้อำนวยการหอดูดาวฯ ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า จุดมุ่งหมายของโครงการนี้ต้องการให้เยาวชนมีกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ มีการเรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น และที่สำคัญเพื่อยังเป็นการสร้างผู้ผลิตผลงานวิจัยรุ่นเยาว์ที่จะเติบโตเป็นนักวิจัยวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะด้านดาราศาสตร์ที่มีความรู้ความสามารถของประเทศต่อไปได้ โดยเบื้องต้นได้คัดเลือกนักเรียน 37 คนจาก16 โรงเรียนใน 7 จังหวัดทางภาคกลางและภาคตะวันออกมาเข้าร่วมโครงการเป็นกลุ่มแรก โดยใน 37 คนจะมีทั้งนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ และเด็กนักเรียนทั่วไปที่มีความสนใจซึ่งโรงเรียนคัดเลือกมา
นายชูชาติ เผยว่า การอบรมยุววิจัยดาราศาสตร์ในหนึ่งโครงการ จะแบ่งเป็น 3 ครั้งด้วยกัน โดยครั้งแรกซึ่งผ่านไปแล้วตั้งแต่ช่วงปลายปี 58 เป็นการอบรมความรู้พื้นฐานด้านดาราศาสตร์และวิธีการทำวิจัยดาราศาสตร์ ส่วนการอบรมครั้งที่ 2 หรือครั้งนี้จะเป็นการสอนเขียนโครงร่างงานวิจัย การสอนใช้อุปกรณ์หรือโปรแกรมเพื่อเก็บข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลงานวิจัยดาราศาสตร์ ส่วนครั้งที่ 3 ที่จะจัดขึ้นในช่วงเดือน ส.ค. จะเป็นการนำเสนอผลงานวิจัยที่แต่ละคนได้ทำขึ้น ซึ่งผลงานของยุววิจัยดาราศาสตร์ที่ผ่านเกณฑ์จะได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมนำเสนอภายในงานประชุมวิชาการดาราศาสตร์เพื่อเยาวชนระดับชาติซึ่งเป็นการรวบรวมงานวิจัยเกี่ยวกับดาราศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ณ จ.เชียงใหม่ด้วย
“เหตุที่หอดูดาวฯ ฉะเชิงเทรา ได้รับเลือกให้เป็นหอดูดาวที่ดำเนินการค่ายยุววิจัยดาราศาสตร์เป็นแห่งแรก เป็นเพราะหอดูดาวฯ ฉะเชิงเทราเป็นหอดูดาวภูมิภาคที่จัดตั้งขึ้นเป็นที่แรก เรามีนักวิจัย มีองค์ความรู้และอุปกรณ์ที่เพียบพร้อม ประกอบกับโรงเรียนเครือข่ายในละแวกเช่น โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ โรงเรียนแปลงยาววิทยาคม โรงเรียนไผ่แก้ว ก็เป็นโรงเรียนที่มีความเข้มแข็งด้านดาราศาสตร์ เราจึงค่อนข้างมั่นใจในประสิทธิภาพของเด็กและครูว่าจะสามารถรับความรู้เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นยุววิจัย หรือนักวิจัยรุ่นเยาว์ทางดาราศาสตร์ได้เป็นอย่างดี ส่วนในอนาคตก็อาจจะมีการขยายโครงการนี้ไปยังหอดูดาวภูมิภาคอื่นๆ ด้วยเช่นกัน” รักษาการ ผอ.หอดูดาวฯ ฉะเชิงเทรา กล่าว
สำหรับกิจกรรมภายในค่ายฯ ระยะที่ 2 ซึ่งเริ่มตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 13 พ.ค. จะเป็นการฝึกเขียนโครงร่างงานวิจัยและสืบค้นข้อมูลเพื่อเฟ้นหาหัวข้องานวิจัยที่น่าสนใจ ซึ่งหลังจากได้หัวข้อใหญ่ที่น่าสนใจแล้ว นักวิจัยจะพูดคุยกับเยาวชนเพื่อหาทิศทางการทำวิจัยที่เหมาะสม อันจะนำไปสู่หัวข้องานวิจัยที่มีประโยชน์และเป็นไปได้ซึ่งจะมีผลต่อการเลือกทำความเข้าใจและการจัดกลุ่มตามเครื่องมือที่ต้องใช้ในการวิจัย ซึ่งจะมีการอบรมในวันรุ่งขึ้น
ตลอดการอบรมของวันที่ 14 พ.ค. ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ได้เกาะติดอยู่กับ น.ส.ลักษิกา จันทร์สอน นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนวัดทรงธรรม จ.สมุทรปราการ ซึ่งเธอเผยว่าในช่วงครึ่งวันเช้า นักวิจัยจะสอนใช้โปรแกรมเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ผลทางดาราศาสตร์พื้นฐานประมาณ 3-4 โปรแกรม เช่น โปรแกรม Aperture Photometry ที่เป็นโปรแกรม วิเคราะห์ข้อมูลทางดาราศาสตร์ จากการประมวลผลภาพถ่ายจากกล้องถ่ายดาว โดยมันจะวิเคราะห์ค่าความสว่างของดาว, ค่าความสูงของวัตถุและอื่นๆ, โปรแกรม SAOImage ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันแต่ทำงานเชิงซ้อนได้ดีกว่า และอีกหลากหลายโปรแกรมพื้นฐาน โดยนักวิจัยจะสอนผ่านการนำเสนอสลับกับการปฏิบัติเพื่อให้เยาวชนเห็นภาพจริงเพราะข้อมูลจากเหล่านี้เป็นเครื่องมือพื้นฐานที่นักดาราศาสตร์จะต้องใช้ ทุกคนจึงต้องทำความเข้าใจและใช้โปรแกรมได้อย่างคล่องแคล่ว
ส่วนการบรรยายภาคบ่าย นักวิจัยจะแบ่งกลุ่มเยาวชนออกเป็น 4 กลุ่ม ตามลักษณะหัวข้องานวิจัยที่เยาวชนสนใจ เพราะการศึกษาทางดาราศาสตร์หรือวัตถุท้องฟ้าที่แตกต่างกันจำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่แตกต่างกัน โดยกลุ่มแรกเป็นกลุ่มวิจัยที่เกี่ยวกับดวงอาทิตย์ จะต้องแยกไปเรียนรู้การใช้กล้องโทรทรรศน์สังเกตดวงอาทิตย์ซึ่งตั้งอยู่บนอาคารดูดาวอันร้อนระอุ แต่เยาวชนทุกคนก็ไม่ละความพยายาม ตั้งใจฟังคำสอนจากนักวิจัยโดยตลอดแม้อุณหภูมิจะพุ่งไปสูงกว่า 43 องศาเซลเซียส
น.ส.ธมลวรรณ ขอนดอน นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนอรัญประเทศ ที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้องศาดวงอาทิตย์เพื่อหาอายุปราสาทสด๊อกก๊อกธม ซึ่งอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย เผยว่า ความจริงงานวิจัยของเธอไม่จำเป็นต้องใช้กล้องโทรทรรศน์สังเกตดวงอาทิตย์ เพราะใช้ข้อมูลจากแอปพลิเคชัน StarryNight ซึ่งมีการระบุพิกัดดวงอาทิตย์ในพื้นที่ต่างๆ มาใช้ในการวิเคราะห์ผล แต่การมาเข้าฐานเกี่ยวกับดวงอาทิตย์เช่นนี้ จะทำให้เธอเข้าใจองศาการเคลื่อนที่ และการสังเกตดวงอาทิตย์ได้ดียิ่งขึ้น โดยเธอวางแผนไว้ว่าจะลงพื้นที่เพื่อกำหนุดจุดศึกษาพิกัดที่ปราสาทสด๊อกก๊อกธมสัปดาห์ละ 1 ครั้งเพื่อเก็บค่าพิกัดดวงอาทิตย์ใหม่แล้วนำไปเปรียบเทียบกับค่าพิกัดดวงอาทิตย์ในสมัยก่อนด้วยโปรแกรมประมวลผล ซึ่งเธอคาดว่าน่าจะทำให้ประเมินอายุของปราสาทได้อย่างไม่ยากเย็น
ส่วนกลุ่มศึกษาที่ 2 จะเป็นการรวมเยาวชนที่เลือกหัวข้อการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับดาวคู่, เนบิวลา, ดาวแปรแสง และดาวฤกษ์นอกระบบสุริยะ ซึ่งจำเป็นต้องใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 เมตรในการเก็บข้อมูล ทั้งหมดจึงมารวมตัวกันในโดมทรงเปลือกหอยซึ่งเป็นที่ตั้งของกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศุนย์กลาง 0.5 เมตร ซึ่งถือว่าดีที่สุดและเป็นสัญลักษณ์ของหอดูดาวฯ เพื่อฟังคำชี้แนะจากนักวิจัยและทดลองควบคุมกล้องโทรทรรศน์ด้วยตัวเอง ซึ่งกลุ่มนี้จะต้องทำงานในช่วงกลางคืน
ด.ญ.ณัฐพร ทองไพจิตร นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ จ.ฉะเชิงเทรา หนึ่งในเยาวชนกลุ่มที่ใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ กล่าวว่า งานวิจัยของเธอเป็นการศึกษาเกี่ยวกับคาบการแปรของดาวแปรแสง HIP 87860 ว่าแต่ละคาบการสว่างจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร โดยเธอจะใช้โปรแกรมAperture Photometry , SAOImage และRegistax ที่นักวิจัยสอนในวันนี้ มาในการประมวลภาพดาวแปรแสงที่เธอถ่ายได้จากโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 เมตร
สำหรับกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่จัดอบรมภายในห้องประชุม โดยมีการสอนเกี่ยวกับการใช้กล้อง DSLR ทั้งการถ่ายและปรับค่าฟังก์ชันต่างๆ โดยฐานอุปกรณ์นี้จะเหมาะกับหัวข้อวิจัยที่เกี่ยวกับดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ โดยหลังจากบรรยายจบนักวิจัยยังได้เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ทดลองใช้กล้องด้วยตัวเองทุกคน
น.ส.ลักษิกา จันทร์สอน ซึ่งถูกจัดไว้ในกลุ่มนี้ได้เผยแก่ทีมข่าวฯ ว่า เธอตั้งใจที่จะศึกษาเส้นทางการเคลื่อนที่ของดาวศุกร์เมื่อมองจากโลก เพราะทุกวันนี้ที่คนรู้ว่าดาวเคราะห์ต่างๆ โคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงกลม หรือวงรีล้วนเป็นความรู้ที่เชื่อมาจากกฎของเคปเลอร์และใช้ดวงอาทิตย์เป็นหลัก ในฐานะที่เธอเป็นมนุษย์โลกจึงอยากสร้างความรู้ใหม่ด้วยการหาว่า หากมองจากโลกแล้วดาวศุกร์จะมีการเคลื่อนที่ในรูปแบบใดโดยเธอจะเก็บข้อมูลพิกัดของดาวศุกร์ในโปรแกรม Sterririum มาบันทึกผลในรูปกราฟเพื่อหาเส้นทางการโคจร
ส่วนกลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มขนาดเล็กที่ถูกจัดการอบรมไว้ในห้องประชุมเช่นกัน กลุ่มนี้จะมีการใช้อุปกรณ์ทางดาราศาสตร์พื้นฐานที่ดูไม่หวือหวา เท่า 2 กลุ่มแรก เช่น เครื่องลักซ์มิเตอร์ที่เป็นอุปกรณ์วัดความเข้มแสงดวงอาทิตย์ขนาดเล็ก ทว่าก็สร้างองค์ความรู้ให้กังานวิจัยได้เช่นกัน ซึ่งเยาวชนในกลุ่มนี้ได้เผยว่า เธอจะนำลักซ์มิเตอิร์ซึ่งสามารถวัดความเข้มแสงของดวงอาทิตย์ไปวัดแสงดวงอาทิตย์ในสถานที่หนึ่ง ตามแนวองศาต่างๆ เพื่อศึกษาว่าที่องศาใดได้รับรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์มากหรือน้อยที่สุด อันอาจนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมกันร้อนใหม่ๆ ในอนาคต
“การมาเข้าค่ายยุววิจัยดาราศาสตร์จะไม่เหมือนค่ายอื่น ค่ายนี้เน้นวิชาการ และเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ลงมือทำทุกอย่างเต็มที่ เป็นค่ายที่ตอบโจทย์กับความชอบด้านดาราศาสตร์ของตัวเอง ได้จับอุปกรณ์ ได้รู้อะไรล้ำๆ ที่คนอื่นอาจไม่ได้รับโอกาส อีก 3 เดือนที่เหลือจึงตั้งใจว่าจะทำโครงงานให้ดี เพราะทราบมาว่าหากทำดีจะมีโอกาสได้ไปร่วมการนำเสนอในเวทีระดับประเทศด้วย” ลักษิกา กล่าวทิ้งท้าย