แม้การอบรมดาราศาสตร์อาเซียน ครั้งที่ 1 ณ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว สปป.ลาว จะกินเวลาเพียงแค่ 2 วัน ทว่าประโยชน์ที่ครูลาวเห็นนั้นกลับไม่ใช่เพียงแค่แผ่นกระดาษหรือสื่อการเรียนการสอนที่ได้รับ เพราะมันคือเสาเข็มต้นสำคัญที่จะนำความสนใจใฝ่วิทย์มาสู่เยาวชนลาวรุ่นใหม่ ในยุคที่สังคมกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ความทันสมัย
ปิดฉากไปแล้วสำหรับการอบรมดาราศาสตร์อาเซียน โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ที่เลือกจัดนำร่องขึ้นเป็นครั้งแรก ณ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว เมืองเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตามวัตถุประสงค์ของสำนักงานเพื่อพัฒนาดาราศาสตร์ภายใต้การกำกับของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล เพื่อเสริมสร้างความตระหนักและความรู้ความเข้าใจในวิทยาศาสตร์ให้แก่นักเรียนนักศึกษาในภูมิภาคอาเซียนโดยมีไทยเป็นแกนนำ
ตลอดการจัดงานก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักเรียน นักศึกษา รวมถึงครูวิทยาศาสตร์กว่า 200 ชีวิตที่มาร่วมอบรม โดยในช่วงสุดท้ายทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ร่วมสนทนากับตัวแทนครูและตัวแทนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลาวถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการจัดกิจกรรมในครั้งนี้
เริ่มต้นที่ครูน้อย อย่างท้าวเวียงสะหวัน แก้วเกิดมี ครูประจำวิชาวิชาฟิสิกส์ระดับชั้น ม.7 โรงเรียน ม.ส.ดอนหนุน เมืองเวียงจันทน์ ที่เผยแก่ทีมข่าวว่า การมาร่วมกิจกรรมอบรมดาราศาสตร์ในครั้งนี้ทำให้ได้ความรู้ใหม่ๆ หลายอย่างสำหรับนำกลับไปสอนนักเรียน เช่น การใช้แผนที่ดาวหรือการประดิษฐ์เครื่องวัดมุมอย่างง่าย ซึ่งทางโรงเรียนก็น่าจะทำได้ เนื่องจากใช้เพียงอุปกรณ์เครื่องเขียนง่ายๆ ที่มีอยู่แล้ว
ที่ผ่านมาการเรียนการสอนไม่ว่าจะเป็นฟิสิกส์หรือดาราศาสตร์จะเรียนผ่านหนังสือทั้งหมด เนื่องจากไม่มีงบประมาณที่จะมาซื้ออุปกรณ์การทดลองราคาแพง ประโยชน์ที่ได้รับจากการอบรมครั้งนี้จึงจะตกอยู่กับนักเรียนโดยตรง เพราะเขาก็เป็นครูคนหนึ่งที่หวังจะยกระดับการเรียนวิทยาศาสตร์ในลาวให้ทันสมัย โดยมีความเชื่อมั่นว่าสักวันหนึ่งวิทยาศาสตร์ในสังคมลาวจะเข้มแข็งขึ้น โดยเขาจะนำความรู้ที่ได้รับไปสร้างความสนุกในบทเรียนเพื่อจุดประกายให้เด็กๆ มีความสนใจอยากเรียนวิทยาศาสตร์
เช่นเดียวกับ รศ.ดร.คำพุด พมมะสอน ผู้อำนวยการโรงเรียนพอนสะหวัน ที่กล่าวว่า โดยปกติทางโรงเรียนได้บรรจุวิชาดาราศาสตร์ไว้ในบทเรียนของนักเรียนชั้น ม.3 โดยปกติเนื้อหาที่สอนจะเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้ในชีวิตจริงเช่น จันทรุปราคาและสุริยุปราคา โดยจะสอนผ่านหนังสือให้นักเรียนได้พอรู้จัก และแนะนำให้นักเรียนไปค้นคว้าต่อเองจากอินเทอร์เน็ตในเว็บไซต์ของ สดร. แต่ไม่ได้สอนลงรายละเอียดลึกนัก เพราะไม่มีเครื่องมือและบุคลากรที่มีความรู้ดาราศาสตร์โดยตรง
ทำให้เมื่อมีการจัดกิจกรรมอบรมดาราศาสตร์ นักเรียนพอนสะหวันจึงสนใจมากดังจะเห็นได้จากมีตัวแทนนักเรียนเข้าร่วมอบรมทั้ง 2 วัน เพราะนักเรียนทราบว่าหากมีวิทยากรมาจากไทยพวกเขาจะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ และได้เห็นของจริง ซึ่งเขาก็คาดหวังว่าจะทำให้นักเรียนเก่งขึ้น และช่วยเสริมการรับรู้ได้ดียิ่งขึ้น เพราะสังเกตเห็นว่านักเรียนสนใจมาก มีคำถาม มีความสงสัยไปซักถามวิทยากรตลอดเวลา
ด้านผู้บริหารนโยบายวิทยาศาสตร์ระดับชาติ อย่างนางแก้วไพวัน ดวงสะหวัน หัวหน้าห้องการ สภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับความรู้ดาราศาสตร์ของประเทศลาว ต้องยอมรับว่าได้รับความช่วยเหลือจากราชอาณาจักรไทยมาก ทั้งการอบรมเพื่อยกระดับความรู้อาจารย์ นักเรียนโอลิมปิกวิชาการจากโรงเรียนพอนสะหวันก็ได้รับการฝึกอบรมจากเจ้าหน้าที่ สดร. รวมไปถึงความร่วมมือทางการวิจัยค้นคว้าก็มีการขยายตัวชัดเจน เช่นเดือน พ.ย.2557 ก็มีผู้แทนขั้นสูงจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ 2 ประเทศ มีการลงนามความร่วมมือ มีการมอบกล้องโทรทรรศน์จำนวน 3 ตัว
แต่ถ้าให้เทียบความรู้เกี่ยวกับดาราศาสตร์ของลาวแล้ว ทั้งทางด้านวิชาการ หรือข้อมูลข่าวสารที่ป้อนเข้าสู่ระบบการศึกษายังถือว่ามีน้อยอยู่ เช่นเดียวกับสถาบันที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ก็ยังมีไม่มากนัก เพราะฉะนั้นแผนการพัฒนาเกี่ยวกับดาราศาสตร์ในอนาคตอันใกล้สำหรับลาวจึงมีความสำคัญมาก เพราะเรามองว่าดาราศาสตร์เป็นจุดเริ่มต้นของความสนใจในวิทยาศาสตร์ ที่จะสร้างทรัพยากรมนุษย์ สร้างจิตสำนึกให้คนหนุ่มสาวของลาวมีความคิดแบบวิทยาศาสตร์ และเมื่อวิทยาศาสตร์ของประเทศเราแข็งแรง ก็อาจจัดตั้งให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบทางการค้นคว้าวิจัย
การฝึกอบรมในครั้งนี้จึงเป็นการสร้างจิตสำนึกให้กับคนรุ่นหน่มสาวของลาวเกิดความกะตือรือร้นอยากจะศึกษาวิทยาศาสตร์ เกิดความสนใจมากขึ้นโดยเฉพาะครั้งนี้ที่ไม่ใช่เพียงแค่การสอนใช้กล้องแต่ยังมีการบรรยายเกี่ยวกับจักรวาลและเอกภพโดยนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีมากๆ สำหรับนักเรียนนักศึกษาลาว
ส่วนการส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์ทางสปป.ลาว มีแผนที่จะขยายความรู้ทางดาราศาสตร์ไปยังพื้นที่อื่นๆ มากขึ้น เพราะปกติจะดูดาวกันอยู่ในเมือง แต่ในอนาคตจะนำไปให้กับพื้นที่ชนบท ซึ่งเราอาจจะต้องขอความร่วมมือจากไทยอีกเป็นระยะ ความรู้ที่นำมาให้จะได้ต่อเนื่องในวงกว้าง และนอกจากดาราศาสตร์ก็ยังมีอีกความรู้อีกหลายๆ เช่น พลังงานและอิเล็กทรอนิกส์ด้านที่ลาวให้ความสนใจและคาดหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากไทยอีก