สำหรับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคที่ดำเนินงานโดยได้รับงบประมาณอุดหนุนผ่านสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่นเดียวกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคเมื่อ 29 พ.ค.55 และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพิ่งวางศิลาฤกษ์อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ไปเมื่อ 2 เม.ย.59 ที่ผ่านมา
สถานที่ตั้งของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ซึ่งภารกิจสำคัญของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคคือเป็นกลไกในการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ สถาบันอุดมศึกษาและภาคเอกชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานความรู้
อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ จะผลักดันให้เกิดการพึ่งตนเองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และพัฒนาขีดความสามารถของภาคเอกชน โดยจะทำหน้าที่ให้บริการการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม
รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่นรายงานว่า ตั้งแต่ พ.ศ.2549 มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเครือข่ายอีก 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี บริการวิชาการแก่ภาคอุตสาหกรรม ภายใต้โครงการจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
ทางด้าน รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกล่าวว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคมีอยู่ใน 3 ภาคคือเหนือ อีสานและใต้ ซึ่งเป็นเรื่องดีเพราะความเจริญกระจุกแค่ในเมืองใหญ่ไม่พอ โดยอุทยานวิทยาศาสตร์จะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างภาคการศึกษาซึ่งทำงานวิจัยกับภาคเอกชนซึ่งทำธุรกิจ
“การทำงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคนั้นจะไม่ให้ซ้ำซ้อน ภาคใต้จะเน้นเรื่องปาล์มน้ำมันและยางพารา ภาคเหนือจะเน้นเรื่องสมุนไพรและข้าว ในส่วนของอุทยานวิทยาศาสตร์อีสานจะเน้นเรื่องไก่ ไอทีและวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย มข.เป็นมหาวิทยาลัยที่มีครบทุกอย่างและโดดเด่นเรื่องการแพทย์ โดยเฉพาะงานวิจัยพยาธิใบไม้ในตับซึ่งถือเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาค และเมื่อการทำงานไม่ว้ำซ้อน งานของแต่ละที่จะโดดเด่นขึ้นมา ส่วนผู้ประกอบการที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีก็จะเป็นผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรม” รศ.ดร.วีระพงษ์กล่าว