xs
xsm
sm
md
lg

"ใบโพธิ์สีชมพู" เพราะผลัดใบหรือเป็นโรค ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ขอขอบคุณภาพจากเพจ Unseen Tour Thailand
นักพฤกษศาสตร์ชี้ "ใบโพธิ์สีชมพู" ไม่ใช่เรื่องประหลาด แต่ให้สาเหตุไม่ตรงกัน ฝ่ายหนึ่งเผยปกติไม้ผลัดใบเติบโตได้เหมือนปกติ อีกฝ่ายชี้กิ่งเป็นโรคพันธุกรรมไม่มียีนสร้างคลอโรฟิลล์ รอวันเฉาตาย

หลังเพจส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้นำภาพใบโพธิ์สีขาวแกมชมพูที่พบในวัดโพธิ์ทอง ถ.บางมูลนาก-ชุมแสง ต.เนินมะกอก จ.พิจิตร มาโพสต์ลงในเพจพร้อมระบุว่าเป็นต้นโพธิ์ทอง สูงประมาณ 1 เมตร โคนต้นแตกยอดอ่อนใบเป็นสีชมพู เมื่อใบแก่จะกลายเป็นสีขาว สร้างความประหลาดใจให้กับชาวบ้าน จนเกิดกระแสการส่งต่อในเชิงไสยศาสตร์ บ้างก็ตีเลขเด็ดต่างๆ นานา ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงติดต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์ เพื่อขอความเห็นเชิงวิชาการเกี่ยวกับลักษณะใบโพธิ์ดังกล่าว

ศ.ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น อดีตผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านพฤกษศาสตร์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า ต้นโพธิ์เป็นพืชผลัดใบเหมือนพืชเขตหนาว แม้ประเทศไทยจะไม่ได้อยู่ในเขตหนาวแต่ก็มีภูมิประเทศตั้งอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร พืชผลัดใบเขตหนาวจึงยังแสดงอาการผลัดใบ โดยปกติการผลัดใบจะเริ่มในช่วงต้นฤดูหนาวหรือประมาณปลายเดือน พ.ย. ทำให้ใบไม้ในช่วงนี้จะค่อยๆ เปลี่ยนจากสีเขียว มาเป็นสีเหลืองและร่วงหลุดไปในที่สุด

พอถึงช่วงปลายฤดูหนาวประมาณเดือน ก.พ. ถึง มี.ค. ก็จะเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ใบไม้จะค่อยๆ แตกยอดอ่อนเป็นใบใหม่ ทำให้ในช่วงนี้มักจะพบเห็นใบไม้สีแปลกๆ ได้ไม่ยาก เนื่องจากพืชเวลาผลิใบใหม่แต่ละพันธุ์จะให้สีของใบอ่อนต่างกัน เช่น โพธิ์จะให้ใบอ่อนสีชมพูและขาว พืชชนิดอื่นอาจมีใบอ่อนสีเทา ในขณะที่พืชในเมืองไทยที่พบได้ทั่วไปมีใบอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน ทำให้คนทั่วไปรู้สึกว่าใบที่เห็นแปลกประหลาดทั้งที่ความจริงแล้วไม่ใช่ โดยสีของใบจะถูกเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามลักษณะทางพันธุกรรมแต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือสีเขียวเข้มในช่วงหน้าร้อน หรือประมาณ เม.ย.-พ.ค. ที่กำลังจะมาถึง ซึ่งพืชผลัดใบเขตหนาวนอกจากโพธิ์แล้ว ก็ยังมีอีกหลายชนิด เช่น นุ่น, ไทร, หยวน, หนาน และกระโดน

"เป็นปกติของไม้ผลัดใบ บ้านเราจะไม่คุ้นแต่ถ้าบอกว่าเป็นคล้ายช่วงซากุระหรือใบไม้เปลี่ยนสีในยุโรปทุกคนคงเริ่มเข้าใจ แต่พืชปกติที่ไม่ใช่พืชผลัดใบบางทีก็เปลี่ยนสีได้หากแล้งจัดจนพืชดูดน้ำไปใช้ไม่พอ หรือในกรณีการเกิดโรคก็เปลี่ยนสีได้ โดยใบไม้เปลี่ยนสีเช่นนี้พบได้ทั่วไปทั้งภาคเหนือ อีสานและภาคกลาง ยกเว้นภาคใต้ที่ค่อนข้างชุ่มชื้น โดยต้นโพธิ์ที่จะผลัดใบได้ควรจะต้องมีลักษณะสูงใหญ่ มีอายุไม่ต่ำกว่า 10 ปีขึ้นไป" ศ.ดร.ปิยะ ให้ข้อมูลแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

ในขณะที่ ผศ.ดร.ศศิวิมล แสวงผล อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่กล่าวว่า ใบโพธิ์ลักษณะดังรูปเป็นสิ่งปกติในธรรมชาติที่พบเห็นได้บ่อย โดยสาเหตุที่ทำให้ใบอ่อนมีสีชมพูอ่อนไม่ใช่สีเขียวเช่นปกติ น่าจะเกิดจากการกลายพันธุ์แบบเฉพาะกิ่ง ทำให้ใบมีสีอ่อนลงเหมือนใบด่าง ซึ่งลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นได้กับพืชแทบทุกชนิด เช่น ไทร หรือมะม่วงโดยการด่างจะด่างได้ตั้งแต่ลำต้นจนถีงใบ

ผศ.ดร.ศศิวิมล ขยายความว่า การกลายพันธุ์เฉพาะกิ่งที่เกิดขึ้นมาจากล้กษณะทางพันธุกรรมที่บกพร่องทำให้ยีนส่วนที่สร้างคลอโรฟิลล์ในใบส่วนนั้นหายไป ซึ่งทำให้ใบมีสีชมพูหรือขาวสวยงาม แต่กลับไม่ใช่ผลดี เพราะใบที่ไม่มีคลอโพฟิลล์จะไม่แข็งแรง สร้างอาหารไม่ได้ และจะค่อยๆ เหี่ยวและตายไปในที่สุดเพราะถูกแสงแดดเมืองไทยที่ร้อนกว่า 40 องศาเซลเซียสเผาไหม้ ด้วยเหตุนี้เราจึงมักเห็นใบโพธิ์สีชมพูแค่บริเวณกิ่งแตกใหม่ ไม่เคยเห็นต้นโพธิ์สีชมพูแบบทั้งต้น

"ไม่ใช่เรื่องแปลกแล้วก็ไม่ใช่โพธิ์พันธุ์ใหม่ด้วย เป็นต้นโพธิ์ธรรมดาที่เป็นโรค จะเรียกว่ามันพิการเพราะมีการกลายพันธุ์เฉพาะที่จนไม่มียีนสร้างคลอโรฟิลล์ให้กับใบที่เกิดใหม่ก็ไม่ผิด เรื่องขยายพัรธุ์ไม่ต้องพูดถึง ใบลักษณะนี้อีกไม่นานก็ตาย เหมือนคนที่ป่วย ไม่มีแหล่งอาหาร แถมยังถูกแดดเผา ทั้งหมดเป็นเรื่องทางลักษณะทางพันธุกรรมของพืช แมลง เชื้อรา หรือศัตรูพืชอื่นๆ ไม่เกี่ยว" ผศ.ดร.ศศิวิมล กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ขอขอบคุณภาพจากเพจ Unseen Tour Thailand
ศ.ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น อดีตผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านพฤกษศาสตร์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
ผศ.ดร.ศศิวิมล แสวงผล อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล









กำลังโหลดความคิดเห็น