xs
xsm
sm
md
lg

“ไก่บ้านพันธุ์เนื้อ-พันธุ์ไข่” งานวิจัยเด่นแดนอีสาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ่อไก่ไข่มุกอิสาน เด่นเรื่องให้เนื้อ
เพราะไทยต้องนำเข้าพันธุ์ไก่ไข่และไก่เนื้อจากต่างประเทศแต่ละปีในปริมาณมหาศาล แล้วยังต้องเลี้ยงลูกเจี๊ยบอย่างประคมประหงมภายในโรงปิดและกินอาหาร นักวิจัย มข.จึงพัฒนาไก่เนื้อ-ไก่ไข่พันธุ์ไทยที่แข็งแรง เลี้ยงดูง่าย ซึ่งพร้อมปล่อยสู่ตลาดภายใต้แผนธุรกิจที่เป็นธรรมต่อเกษตรกร

ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้เยือนการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น ซึ่งตั้งอยู่ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) พร้อมกับการชมตัวอย่างผลงานวิจัยเด่นที่นำเสนอโดย รศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มข.

รศ.ดร.มนต์ชัยกล่าวว่า มข.มีความเชี่ยวชาญเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์ไก่ และจากปัญหาเรื่องไทยไม่มีพันธุ์ไก่ไข่และไก่เนื้อ จนต้องนำเข้าจากต่างประเทศและสูญเสียเงินตราออกนอกประเทศมหาศาล จึงเป็นที่มาของการพัฒนาสายพันธุ์ของไทยเอง โดยตั้งต้นจาก “ไก่พื้นเมือง” หรือไก่บ้านที่มีความทนต่อสภาพแวดล้อมและเลี้ยงดูง่าย

“ไก่เนื้อและไก่ไข่ที่เลี้ยงกันในปัจจุบันต้องนำเข้าอย่างเดียว เราสูญเสียเงินตราไปกับการนำเข้าพันธุ์ไก่ในแต่ละปีมหาศาล เราไม่มีไก่เนื้อ-ไก่ไข่พันธุ์ไทย แต่ในฐานะที่ มข.มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการปรับปรุงพันธุ์ไก่ จึงตั้งเป้าว่าเราต้องสร้างเองให้ได้ และต้องเป็นไก่ไทยพันธุ์ใหม่” คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มข.บอกถึงเป้าหมายการพัฒนาพันธุ์ไก่

การพัฒนาไก่เนื้อ-ไก่ไข่ดำเนินการโดย “ศูนย์เครือข่ายวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ ไก่พื้นเมือง” ของ มข.ซึ่งได้นำพ่อไก่พันธุ์ประดู่หางดำซึ่งเป็นไก่พื้นเมืองแท้ มาผสมกับแม่ไก่พันธุ์ชี พัฒนาเป็นไก่ไทย KKU50 ซึ่งมี 4 สายพันธุ์ที่แตกต่างกัน

ไก่ไทย 4 สายพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นได้แก่ ไก่พันธุ์แก่นทอง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ให้ไข่ดก ไก่พันธุ์ไข่มุกอิสาน ซึ่งเป็นไก่ให้เนื้อและโตเร็ว ไก่สายพันธุ์สร้อยเพชรและไก่สายพันธุ์สร้อยนิล เป็นไก่ที่มีคุณสมบัติทั้งให้เนื้อและให้ไข่ ซึ่งทั้งหมดไม่ต้องเลี้ยงภายในโรงเรือนปิด สามารถเลี้ยงปล่อยให้ออกไปหากินเองตามธรรมชาติ

“ตรงนี้ช่วยเกษตรกรได้มาก เกษตรกรรายเล็กรายน้อยสามารถเข้าถึงได้ เพราะในการเลี้ยงไก่ภายใต้โรงเรือนปิดนั้นต้องมีงบสร้างโรงเรือนอย่างน้อย 2 ล้านบาท และไก่พันธุ์ต่างประเทศยังอ่อนแอต่อโรค กินอาหารจำเพาะ ส่วนไก้ไทยพันธุ์สามารถหากินเองได้ มีความแข็งแรง ลดต้นทุนในการเลี้ยงดู” รศ.ดร.มนต์ชัยกล่าว

การปรับปรุงพันธุ์ไก่ไทยซึ่งพัฒนามาได้ 5 ชั่วรุ่นจนได้สายพันธุ์ที่คงที่นั้น รศ.ดร.มนต์ชัยระบุว่า ยังได้ใช้เทคโนโลยีทางด้านอณูพันธุศาสตร์มาใช้ร่วมด้วย โดยได้ตรวจดีเอ็นเอของไก่เพื่อคัดกรองว่ามียีนของคุณสมบัติที่ต้องการหรือไม่ เช่น ยีนไข่ดก ยีนให้เนื้อ รวมถึงการตรวจเลือกเพศตั้งแต่ยังเป็นลูกเจี๊ยบ

ส่วนของการสร้างตลาดให้ไก่เนื้อและไก่ไข่พันธุ์ไทยนั้น มข.ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนไทยรายหนึ่งภายใต้การสนับสนุนของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาตตะวันออกเฉียงเหนือสร้างรูปแบบทางธุรกิจที่มีต่อยืดหยุ่นต่อเกษตรกรมากกว่าการเกษตรพันธสัญญาแบบเดิม ซึ่งต้องเลี้ยงและส่งไก่ขายในราคาที่ตกลงเท่านั้น

รศ.ดร.มนต์ชัยอธิบายว่า ระบบพันธสัญญาแบบใหม่นัน้จะให้เกษตรกรมีส่วนร่วมมากขึ้น และไม่จำเป็นต้องจำหน่ายไก้ทั้งหมดให้แก่บริษัทเอกชนคู่สัญญา โดยสามารถนำไก่ไปจำหน่ายเองในท้องถิ่นเมื่อได้ราคาดีกว่า แต่ต้องแจกแก่บริษัทว่านำออกไปเท่าไหร่ เพื่อให้บริษัทวางแผนการตลาดได้

ปัจจุบัน มข.ได้เริ่มกระจายพันธุ์ไก่ไทยให้แก่เกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด โดยจำหน่ายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไก่แก่เกษตรกรที่รวมกลุ่มกันเข้าร่วมโครงการเพื่อนำไปเลี้ยงและผลิตไก่เอง
แม่ไก่พันธุ์สร้อยเพชร เด่นเรื่องให้ไข่ให้เนื้อ
ลูกไก่ KKU50 พันธุ์เนื้อพันธุ์ไข่
เจาะเลือดตรวจดีเอ็นเอเพื่อคัดกรองลักษณะที่ต้องการ
วิเคราะห์ดีเอ็นเอแยกเพศลูกเจี๊ยบ
 รศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา









กำลังโหลดความคิดเห็น