ทะลุ 40 องศาเซลเซียสไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับอากาศเมืองไทย ยิ่งช่วงใกล้วันสงกรานต์แบบช่วงนี้ ยิ่งร้อนระอุจนไม่น่าเยื้องกรายออกจากเคหะสถาน แต่สำหรับบางบ้าน บางอาคารภายในก็ร้อนไม่ต่าง เพราะมีกระจกหลายบานคอยรับความร้อนจากภายนอก นักวิจัยนาโนเทค จึงคิดค้นนวัตกรรมสู้ร้อนด้วยการพัฒนา "สารเคลือบกระจกแบบเปลี่ยนสีตามความเข้มแสง"
ดร.คมสันต์ สุทธิสินทอง นักวิจัยห้องปฏิบัติการวัสดุนาโนเฉพาะทางและโครงสร้างพื้นผิว ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้พัฒนากระจกเปลี่ยนสีอัจฉริยะสำหรับกรองแสงและความร้อน กล่าวว่า นวัตกรรมที่เขาพัฒนาขึ้น มีแรงบันดาลใจมาจากอุณหภูมิรอบตัวที่ร้อนระอุประกอบกับห้องปฏิบัติการของเขามีความเชี่ยวชาญด้านแสงและสีเป็นทุน ตั้งแต่ปี 2557 จึงเริ่มโครงการพัฒนากระจกเปลี่ยนสีอัจฉริยะ โดยการคิดค้นสารเคลือบผิวที่เปลี่ยนสีได้ซึ่งมีหลักการทำงานคล้ายกับเซ็นเซอร์แสง
ดร.คมสันต์ กล่าวว่า สารเคลือบกระจกที่พัฒนาขึ้น มีส่วนประกอบของวัสดุประเภท photocromic ที่เป็นสารดูดกลืนแสงอัลตร้าไวโอเล็ตเป็นหลัก เมื่อได้รับแสงอาทิตย์จึงสามารถดูดกลืนแสงและเปลี่ยนสีได้ตามอัตราส่วนของวัสดุ โดยถ้าหากได้รับแสงที่มีความจ้า หรือมีความเข้มแสงมากสารเคลือบผิวก็จะเปลี่ยนเป็นสีเข้มทำให้กระจกมีสีเข้มเปลี่ยนไปจากเดิม ในทางตรงข้ามหากแสงอ่อน หรือมีความเข้มน้อย สีของกระจกกระจกเปลี่ยนไปในเฉดอ่อนๆ หรือไม่เปลี่ยนไปจากเดิม
จากคุณสมบัติดังกล่าวทำให้กระจกเปลี่ยนสีได้อัจฉริยะมีความโดดเด่นมากกว่าฟิล์มกรองแสงทั่วไป เพราะนอกจากจะกรองแสงและป้องกันแสงอัลตร้าไวโอเล็ต ที่ช่วยลดความร้อนได้ ยังให้ความสวยงามแปลกตา และที่สำคัญไม่บดบังทัศนียภาพภายนอก จึงเหมาะกับอาคาร บ้านเรือนทั่วไปที่ต้องการประหยัดพลังงานจากการเปิดเครื่องปรับอากาศ หรือต้องการลดความร้อนภายในตัวบ้าน
"ที่สำคัญคือราคาไม่แพง ตกอยู่ที่ตารางเมตรละ 1,000 บาทซึ่งจะถูกลงอีกหากมีการขยายผลจากห้องปฏิบัติการ ในขณะที่ฟิล์มกรองแสงทั่วไปราคาจะอยู่ที่ประมาณ 1,200 บาทเพื่อแลกกับห้องที่ดำมืดเพราะไม่ว่าจะแสงมากแสงน้อย ฟิล์มกรองแสงก็กรองเท่าเดิม ดำเท่าเดิม เป็นการบดบังทัศนวิสัย และนอกจากการพัฒนาสารเคลือบแล้ว เรายังนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้กับการเคลือบด้วย" ดร.คมสันต์ กล่าว
อย่างไรก็ดี ดร.คมสันต์ เผยว่า งานวิจัยดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับห้องปฏิบัติการยังผลิตได้จำนวนไม่มาก เฉลี่ยใช้เวลา 10 นาทีต่อ 1 แผ่น ก้าวต่อไปจึงเป็นการยกระดับการวิจัยจากห้องปฏิบัติการไปสู่ระดับโรงงานขนาดย่อม และจะพัฒนาให้เปลี่ยนสีได้หลากหลายขึ้นจากปัจจุบันที่พัฒนาสารเคลือบกระจกได้ 2 เฉดสี คือ สีน้ำเงินฟ้าและสีชมพูม่วง โดยคาดว่าปี 2561 จะสามารถส่งต่อเข้าสู่ภาคเอกชนเพื่อพัฒนาไปสู่เชิงพาณิชย์ได้
ทั้งนี้งานวิจัยกระจกเปลี่ยนสีอัจฉริยะสำหรับกรองแสงและความร้อน เป็นส่วนหนึ่งในงานวิจัยกว่าร้อยผลงานที่นำมาจัดแสดงในงานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2559 (NAC 2016) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มี.ค. ถึง 2 เม.ย. 2559 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย จ.ปทุมธานี