ข่าวคราวการโจรกรรมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ยังคงมีออกมาให้เห็นไม่เว้นแต่ละวัน แต่ที่แย่ไปกว่านั้นคือสถิติการได้คืนมีน้อยมาก ครั้นจะรอให้ตำรวจช่วยแก้ไขอย่างเดียวคงไม่ทันการณ์ นักเรียน ม.6 โรงเรียนเขาสมิงวิทยาคม จ.ตราด จึงสร้าง “ระบบดับเครื่องยนต์ฉุกเฉิน” ขึ้น ด้วยการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์แบบง่ายๆ แต่ใช้ได้ผล แก้เผ็ดตีนแมวแบบชาญฉลาด
น.ส.สุรีรัตน์ สีดา นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนเขาสมิงวิทยาคม จ.ตราด กล่าวว่า ปัญหาการขโมยรถทั้งจักรยานยนต์และรถยนต์ เป็นปัญหาที่คนใกล้ตัวของเธอต้องประสบอยู่เป็นประจำ และจากข้อมูลของศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า เมื่อปี 2557มีจักรยานยนต์หายมากกว่า 8,500 คันซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมาก ในขณะที่ตัวเลขของการได้รถคืนมีเพียง 1,053 คันหรือคิดเป็นเพียง 12.38% เท่านั้น เมื่อต้องทำโครงงานอิเล็กทรอนิกส์ส่งอาจารย์ เธอและเพื่อนจึงตั้งใจที่จะสร้างระบบบางอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
“เราอยู่ต่างจังหวัด คนต่างจังหวัดจะใช้รถมอเตอร์ไซค์ในการเดินทางมากกว่ารถยนต์ บ้านแต่ละบ้านก็ไม่ได้อยู่ติดๆ กันหรือมีรั้วรอบขอบชิดเหมือนในกรุงเทพฯ ทำให้มีคดีรถหายอยู่บ่อยครั้ง จะซื้ออุปกรณ์กันขโมยมาติดก็ติดตั้งยากและมีราคาแพง ด้วยความที่กลุ่มเราชื่นชอบการประดิษฐ์เครื่องยนต์กลไกอยู่แล้ว จึงร่วมกันศึกษาโปรแกรมที่เกี่ยวข้องพวกบอร์ด, อาดูโนแล้วนำมาพัฒนาเป็นชิ้นงาน โดยเราได้พัฒนาระบบดับเครื่องยนต์ฉุกเฉินขึ้น แบบที่ติดตั้งไปกับสายไฟแล้วซ่อนไว้ในรถแต่ละคัน ที่หากมีการโจรกรรมเจ้าของรถ และคนร้ายกำลังขับรถไป เจ้าของจะสามารถสั่งการผ่านมือถือไปยังระบบที่ซ่อนไว้เพื่อให้รถหยุดวิ่ง อันจะเป็นการช่วยระงับเหตุได้อย่างทันท่วงที ” สุรีรัตน์ กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
สำหรับขั้นตอนการทำงาน นายชยภพ ทวีคูณ สมาชิกในกลุ่มอีกคน เผยว่า เขาเริ่มจากการออกแบบบอร์ดการทำงานของระบบควบคุมไฟในแผงวงจรและในรถจักรยานยนต์เสียก่อน จากนั้นจึงออกแบบโปรแกรมด้วยการเขียนภาษาซีใน ARDUINO แล้วเชื่อมต่อกับ MP3 Module, Relay และ GSM Module ที่เป็นเหมือนตัวรับสัญญาณ กลไกการทำงานเริ่มจากสมบัติของ GSM Module มีซิมการ์ด ทำให้การสั่งงานทำได้ง่ายเพียงแค่โทรเข้าไปตามเบอร์ของซิมการ์ด เมื่อ GSM ถูกกระตุ้นก็จะส่งสัญญาณไปยัง ARDUINO ที่จะส่งสัญญาณต่อไปยัง MP3 ซึ่งจะมีเสียงตอบรับกลับมาให้ผู้ใช้ออกคำสั่ง หากกด *1 แปลว่าดับเครื่องยนต์ กด #1 แปลว่ายกเลิกคำสั่งโดยการหยุดจะเป็นในรูปแบบที่ลดค่อยๆ ลดความเร็ว ไม่ใช่การหยุดกะทันหันจนเกิดอันตราย
ชยภพ สำทับว่า ขั้นตอนยุ่งยากที่กล่าวมาทั้งหมด เวลาทำงานจริงใช้เวลาไม่ถึง 3 วินาที โดยเมื่อพัฒนาโปรแกรมได้แล้วก็จะนำบอร์ดมาเชื่อมต่อเข้ากับระบบไฟในรถจักรยานยนต์เพื่อทดสอบการควบคุมจากโปรแกรมที่เขียนขึ้น ซึ่งจนถึงขณะนี้นับจากเพียรพัฒนามากว่า 1 ปี ได้นำระบบไปทดลองใช้แล้วกับรถจักรยานยนต์ส่วนตัว, รถครู, รถผู้ปกครอง และรถโรงเรียน รวมแล้ว 5 คัน ด้วยการนำไปติดตั้งเข้ากับท่อเหวี่ยงรถ, ไดชาร์ต, ไดสตาร์ท และกล่องดีซียูหรือกล่องไฟ ที่ช่างซ่อมรถยนต์ทุกคนสามารถทำได้ ซึ่งจากผลการศึกษาและทดสอบการทำงานพบว่า เมื่อติดตั้งอุปกรณ์ที่มีโปรแกรมสั่งงานเพื่อดับเครื่องยนต์ โปรแกรมสามารถรับคำสั่งจากผู้ใช้เพื่อดับเครื่องยนต์ และสามารถสั่งคำสั่งยกเลิกในการดับได้ 100%
อย่างไรก็ดีระบบดับเครื่องยนต์ฉุกเฉินยังคงต้องศึกษาและพัฒนาต่อ โดยในส่วนถัดไป สุรีรัตน์ กล่าวว่า จะพัฒนาให้มีระบบระบุพิกัดในตัวด้วย เพื่อให้สะดวกแก่การจับกุมและค้นหาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยต้นทุนการผลิตยังอยู่ในราคาหลักพันต้นๆ ซึ่งถ้ามีการนำไปต่อยอดใช้กับเครื่องยนต์จริงก็น่าจะช่วยลดปัญหารถหายได้บ้างไม่มากก็น้อย
ทั้งนี้ “ระบบดับเครื่องยนต์ฉุกเฉิน” ถูกนำมาจัดแสดงและร่วมแข่งขันในมหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย ที่จัดขึ้นโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และอีกหลายหน่วยงานพันธมิตร เมื่อช่วงกลางเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ณ หอประชุมมหิศร อาคารเอสซีบีปาร์ค ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)