การอ่านเป็นทักษะขั้นพื้นฐานที่จะทำให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงแหล่งความรู้และข้อมูลข่าวสารได้ดีที่สุด แต่สำหรับผู้พิการด้านการเคลื่อนไหวแล้วอาจไม่ใช่ เพราะถึงแม้ว่าเขาจะมีดวงตาที่ใช้งานได้ปกติแต่การที่ไม่สามารถจะพลิกหน้ากระดาษให้เป็นไปตามต้องการได้ด้วยตัวเอง กลับทำให้การอ่านที่เป็นเรื่องง่ายกลายเป็นเรื่องยากไปโดยปริยาย
SuperSci สัปดาห์นี้จะพาทุกคนมาชมนวัตกรรมเพื่อคนพิการฝีมือนักศึกษาไทย กับระบบช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในการเปิดอ่านหนังสือ หนึ่งในนวัตกรรมสุดเจ๋งใช้ได้จริงจากโครงการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย อันเป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 15 ที่จัดขึ้นโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (สวทช.) และหน่วยงานพันธมิตร เมื่อช่วงกลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา
น.ส.ฐิติชญาน์ รัตน์มังกรสกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ภาควิชาวิศวกรรมมัลติมีเดียและระบบอินเทอร์เน็ต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต กล่าวว่า นวัตกรรมที่เธอทำขึ้นมีชื่อว่า “ลอง อ่าน ดู” (Long Arn Du) เป็นนวัตกรรมที่ทำขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับผู้พิการแขน ขา หรืออัมพาตครึ่งซีกได้มีสิทธิ์เข้าถึงการอ่านหนังสือได้เหมือนกับคนปกติ
ฐิติชญาน์ เผยว่า จากการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลกับผู้พิการ ทำให้เธอรับรู้ปัญหาว่าผู้พิการแขนขาส่วนมากจะไม่อ่านหนังสือ เพราะเกรงใจที่ต้องให้ผู้อื่นมาคอยเปิดหน้ากระดาษให้ตลอด ทำให้มีโอกาสเข้าถึงข่าวสารบ้านเมืองหรือความรู้ต่างๆ น้อยกว่าตนทั่วไป ซึ่งมีผลต่อเนื่องไปถึงการสมัครงาน ที่แม้บางที่จะรับผู้พิการเข้าร่วม แต่ผู้พิการก็ไม่มีความสามารถพอ เพราะการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่จะทำให้เกิดความรู้ในด้านต่างๆ เหมือนคนทั่วไปยังคงเป็นนข้อจำกัด ทำให้เธอมีแนวคิดที่จะพัฒนานวัตกรรมช่วยเปิดหน้าหนังสือขึ้น ด้วยความหวังที่จะทำให้ผู้พิการเข้าถึงหนังสือได้ดีขึ้นไม่มากก้น้อย
ฐิติชญาน์ กล่าวว่า นวัตกรรมช่วยเปิดหนังสือที่เธอทำไม่ใช่นวัตกรรมใหม่เพราะในต่างประเทศเคยมีผู้พัฒนาแล้ว แต่เครื่องเดิมมีขนาดใหญ่ น้ำหนักมากและมีราคาแพง ทำให้ผู้พิการส่วนน้อยเท่านั้นที่จะสามารถเข้าถึง เพื่อให้ผู้พิการคนไทยได้ทดลองใช้นวัตกรรมดังกล่าว เธอจึงพัฒนาระบบขึ้นใหม่โดยยึดหลัก ใช้ง่าย น้ำหนักเบา ราคาถูกบนพื้นฐานของนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพดี
เจ้าของผลงานอธิบายแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า หลักการทำงานของระบบช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในการเปิดอ่านหนังสือ มีด้วยกัน 2 ส่วน ได้แก่ จอยสติ๊ก ที่เป็นระบบสั่งการจากการสัมผัสด้วยคาง เพราะการลงพื้นที่ทำให้เธอทราบว่าผู้พิการนิยมใช้คางในการสั่งงานหรือหยิบจับสิ่งของ โดยการเลื่อนของจอยสติ๊กจะเป็นตัวสั่งการเลื่อนไปทางซ้าย หรือทางขวาของก้านกรีดหนังสือ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับผู้พิการว่าต้องการเปิดหนังสือไปหน้าใด หากต้องการเปิดหนังสือหน้าซ้ายก็ให้เลื่อนซ้าย แต่ถ้าต้องการเปิดหนังสือหน้าทางขวาก็ให้เลื่อนขวา ซึ่งแต่ละครั้งของการเลื่อนจอยสติ๊กก็จะมีเสียงดัง “ตี่ ดี ดิ๊ด” คอยเตือนผู้ใช้ด้วย
อีกส่วนหนึ่งคือ ส่วนตัวเครื่องที่จะประกอบด้วยสมองกล รางสายพาน และไม้กรีดกระดาษ โดยฐิติชญาน์เผยว่าส่วนสมองกลที่ทำหน้าที่เป็นตัวสั่งการเธอเขียนด้วยโปรแกรมอาดูโน (Arduino) ส่วนรางจะใช้มอเตอร์ 3 ชนิดในการขับเคลื่อนสายพานให้สามารถเคลื่อนที่ในแนวแกน X และ Y ไว้ เช่นเดียวกับไม้กรีดกระดาษที่ทำงานด้วยการหมุนของมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรง
ฐิติชญาน์ เผยต่อไปอีกว่า ระบบที่เธอนำมาแสดงเป็นระบบตัวที่ 3 แล้วที่พัฒนาขึ้น เพราะ 2 ตัวแรกมีขนาดใหญ่ไม่เหมาะกับผู้พิการ จึงพัฒนาให้ฐานตั้งของระบบในรุ่นปัจจุบันเป็นไม้ ที่เบามีน้ำหนักประมาณ 3 กิโลกรัมแต่สวยงาม พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพในการกรีดกระดาษให้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ดีเครื่องก็ยังมีข้อจำกัดตรงที่สามารถใช้กับกระดาษ A4 และกระดาษมันที่มีความหนา 80-120 แกรมเท่านั้น ยังไม่สามารถใช้กับกระดาษชนิดอื่นได้ โดยในอนาคตมีเป้าหมายที่จะนำไปใช้เก็บข้อมูลในสถานที่จริง เช่น สถาบันผู้พิการ โรงพยาล และหอสมุดให้มากขึ้น เพื่อเก็บค่าสถิติและความพึงพอใจของผู้ใช้จริง ควบคู่กับการพัฒนารูปลักษณ์ให้สวยงามและน่าใช้ยิ่งขึ้น