จากกรณีเหตุระบบดับเพลิงชั้นใต้ดินอาคารเอสซีบีปาร์ค ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ถ.รัชดาภิเษก เขตจัตุจักร กทม. เกิดขัดข้อง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากตั้งแต่ช่วงดึกคืนวันที่ 13 มี.ค. ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนจำนวนมากเกิดความสงสัยเกี่ยวกับระบบการทำงานของถังดับเพลิงชนิดไพโรเจนที่ติดตั้งอยู่ภายใน ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าเป็นต้นเหตุของความเสียหาย ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงติดต่อไปยัง “รศ.ดร.วุฒิชัย เอื้อวิทยาศุภร ” อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเคมี เพื่อสอบถามเกี่ยวกับสารเคมีดัวกล่าวและกลไกปฏิกริยาที่เกิดขึ้น
รศ.ดร.วุฒิชัย เอื้อวิทยาศุภร อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากรายงานข่าวที่สื่อต่างๆ เผยแพร่ระบุว่าสาเหตุของการระเบิดที่เกิดขึ้นมาจากถังดับเพลิงระบบ “ไพโรเจน” ซึ่งไพโรเจน มีส่วนผสมของสารประกอบอนินทรีย์ชนิดหนึ่งเป็นหลัก ที่เกิดจากของผสมโพแทสเซียมไนเตรท 62.3% และสารอินทรีย์ ประเภทไนโตรเซลลูโลส 12.7% ผงถ่านคาร์บอน 9% และส่วนผสมอื่นๆ อีก 16 %
รศ.ดร.วุฒิชัย กล่าวว่า ตามที่เนื้อข่าวระบุว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเพราะอุบัติเหตุที่เกิดจากการกระตุ้นระบบการทำงานของถังเชื้อเพลิงอาจมีความเป็นไปได้ เพราะโดยปกติแม้ไม่มีคนอยู่ หากเกิดเหตุเพลิงไหม้ หรือมีความร้อนที่มากเกินพอเป็นเหตุสัญญาณของเพลิงไหม้ แล้วถังดับเพลิงชนิดนี้ก็จะทำงานได้เองโดยอัตโนมัติ เพราะมีระบบเซนเซอร์สัญญาณไฟฟ้า (electronic signal) ที่ติดตั้งอยู่ตรงบริเวณหัวถัง
รศ.ดร.วุฒิชัย อธิบายว่า หลังเซ็นเซอร์ถูกรบกวนด้วยความร้อนหรือมีกระแสไฟฟ้าเปลี่ยนแปลง ที่เซ็นเซอร์ จะกระตุ้นให้สารเคมีต่างๆที่กล่าวมาภายในถังเกิดปฏิกริยากันเองอย่างรวดเร็ว แล้วปลดปล่อยสารเคมีในรูปแบบใหม่ และมีความดันสูงขึ้น ที่เรียกว่า “แอโรซอล” ( Aerosol) ที่มีองค์ประกอบต่างไปจากสารดั้งเดิม 3 ชนิดที่กล่าวไปข้างต้น โดยจะเกิดเป็นสาร “โพแทสเซียมคาร์บอเนต” ซึ่งเป็นสารประกอบอนินทรีย์อีกตัวหนึ่ง ที่เมื่อถูกปลดปล่อยออกมาจากถังจะเป็นฝุ่นหมอกควันขาว สำหรับใช้หยุดปฏิริยาลูกโซ่ของการเผาไหม้ นอกจากนี้ยังมีแก๊สอื่นๆ ที่เกิดจากความดันภายในตัวถังที่สูงขึ้น ได้แก่ ไนโตรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงแก๊สพิษสำคัญอย่าง คาร์บอนมอนออกไซด์ ซึ่งแก๊สเหล่านี้จะไปทำให้สัดส่วนของปริมาณแก๊ส ออกซิเจนที่ใช้หายใจมีสัดส่วนที่ลดลงอย่างผิดปกติ
“เมื่อถังถูกกระตุ้นในห้องที่ปิดทึบ มีอากาศถ่ายเทไม่สะดวก หรือบริเวณที่มีอากาศเบาบางอย่างชั้นใต้ดินที่ไม่มีระบบระบายอากาศที่ดี และมีคนอยู่ เรื่องมันเลยเกิด เพราะตัวถังก็จะพ่นเอาโพแทสเซียมคาร์บอเนตที่เป็นเหมือนควันฝุ่นผงสีขาวบดบังวิสัยทัศน์ทำให้การหลบหนีหรือหาทางออกยากลำบาก แย่ไปกว่านั้นคือคนเราก็ต้องหายใจ แต่อากาศที่จะหายใจมีออกซิเจนในสัดส่วนที่น้อยมาก เขาก็ยิ่งต้องหายใจถี่ขึ้น ทีนี้ก็เหมือนกับการสูดสำลักฝุ่นผงโพแทสเซียมคาร์บอเนต สูดสารเคมีเข้าไปเต็มๆ ปอด คนที่ติดอยู่ภายในจึงสำลักควันและขาดอากาศเสียชีวิตในที่สุด เพราะไม่มีออกซิเจนและสูดฝุ่นเคมีเข้าไป ซึ่งผมคาดว่าความเข้มข้นน่าจะมากพอควร เพราะข่าวบางสำนักระบุว่าตัวถังดับเพลิงทำงานพร้อมกันหลายเครื่อง” รศ.ดร.วุฒิชัย กล่างแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
อย่างไรก็ดี รศ.ดร.วุฒิชัย ให้ความเห็นว่า ถังดับเพลิงทั่วไป มีมาตรฐานและมีหลายชนิด ทั้งแบบถังที่พ่นออกมาเป็นน้ำ, ถังพ่นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ ก๊าซเฉื่อยชนิดต่างๆ สำหรับถังพ่นแบบไพโรเจน ขึ้นอยู่กับลักษณะความต้องการใช้งาน โดยวิเคราะห์ว่า เหตุที่ภายในห้องดังกล่าวติดตั้งถังดับเพลิงแบบไพโรเจน เป็นเพราะเป็นห้องที่เก็บรวบรวมเอกสารสำคัญ ซึ่งไม่ต้องการความเปียก หากต้องระงับการเกิดอัคคีภัย ฉะนั้นถังดับเพลิงแบบไพโรเจนจึงเหมาะสมกับห้องเก็บเอกสารในลักษณะดังกล่าวแต่ต้องมีระบบระบายอากาศที่ดี ส่วนถังดับเพลิงตามอาคารบ้านเรือนทั่วไปจะเป็นถังแบบพ่นซึ่งเป็นแบบหัวบีบไม่ทำงานด้วยระบบเซ็นเซอร์อัติโนมัติ จึงมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป