xs
xsm
sm
md
lg

SuperSci: ส่อง "สุริยุปราคา" กลางกรุง 9 มี.ค.59

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุริยุปราคาบางส่วน ขณะบังเต็มที่
ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับเหตุการณ์สำคัญทางดาราศาสตร์อีกครั้ง กับการเกิด "สุริยุปราคาแบบบางส่วน" ที่ในครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างเวลา 6.38-8.32 น.ของวันที่ 9 มี.ค. 59 ซึ่งทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ลงพื้นที่เกาะเหตุการณ์แบบชิดติดขอบ ณ สวนเบญกิตติ สถานที่ที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เลือกใช้เป็นที่ให้บริการวิชาการแก่ประชาชนในกรุงเทพมหานคร



ดร.อุเทน แสวงวิทย์ นักวิจัยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กล่าวว่า สุริยุปราคาเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากการโคจรของดวงจันทร์ และโลกรอบดวงอาทิตย์ในมุมที่พอดีกัน ทำให้เกิดการซ้อนทับระหว่างเงาจนคนบนโลกสังเกตเห็นดวงอาทิตย์มืดดำสนิท หรือเว้าแหว่งในรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป โดยปกติสุริยุปราคาเกิดขึ้นบ่อย ทว่าคนบนโลกกลับมีโอกาสเห็นน้อยเพราะบางครั้งตำแหน่งสังเกตเหมาะสมอยู่ที่กลางมหาสมุทร หรือพื้นที่ไร้คนอยู่อาศัย นักดาราศาสตร์จึงยกให้สุริยุปราคาเป็นเหตุการณ์สำคัญอันดับต้นๆ ที่คนในแวดวงดวงดาวเฝ้าคอย เมื่อเทียบกับปรากฏการณ์จันทรุปราคาที่มีโอกาสสังเกตเห็นได้มากครั้งกว่า

ดังนั้นเมื่อมีการคำนวณว่าในช่วงเช้าของวันที่ 9 มี.ค. 59 คนที่อยู่ในประเทศไทยจะมีโอกาสเห็นสุริยุปราคาแบบบางส่วน สดร.จึงจัดกิจกรรมสังเกตสุริยุปราคาขึ้น 5 แห่งทั่วประเทศเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ยลโฉมปรากฏการณ์หาชมยากด้วยตาตัวเอง ทั้งที่ จ.เชียงใหม่ บริเวณศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล, จ.ฉะเชิงเทรา บริเวณหอดูดาวภูมิภาคเฉลิมพระเกียรติ 72 พระชนมพรรษา จ.ฉะเชิงเทรา, จ.นครราชสีมา บริเวณหอดูดาวภูมิภาคเฉลิมพระเกียรติ 72 พระชนมพรรษา จ.นครราชสีมา, จ.สงขลา บริเวณหาดสมิหลา และที่ กทม. บริเวณสวนเบญจกิติ ถ.รัชดาภิเษก

ดร.อุเทน เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ภายในงาน สดร.ได้เตรียมอุปกรณ์สังเกตสุริยุปราคามาให้ประชาชนได้ใช้บริการมากมาย ทั้งกล้องโทรทรรศน์แบบดอปโซเนียนที่ติดตั้งฟิลเตอร์กรองแสงอาทิตย์, กล้องโทรทรรศน์แบบทากาฮาชิ ที่ใช้สำหรับสังเกตดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ รวมไปถึงแผ่นฟิล์มกรองแสง, กระชอน, กระบอกเจาะรู, กล้องรูเข็มและอุปกรณ์ช่วยการสังเกตทางอ้อมอีกต่างๆ นานา โดยประชาชนที่ลงทะเบียนเข้าร่วมงานจะได้รับแจกแว่นสุริยะที่ผลิตจากฟิล์มชนิดพิเศษ พร้อมหนังสือระบบสุริยะ และคู่มือการสังเกตคนละ 1 ชุดแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย

สำหรับบรรยากาศในงานเป็นไปด้วยความคึกคัก มีทั้งประชาชนที่ตั้งใจเดินทางมาชม และประชาชนที่เดินทางมาออกกำลังกาย ณ สวนเบญจกิติเป็นประจำ แวะเวียนมาเยี่ยมชมปรากฏการณ์มากกว่า 500 คน ซึ่งส่วนใหญ่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ารู้สึกประทับใจกับภาพที่ได้เห็น โดยเฉพาะเยาวชนหลายๆ คนที่เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า นี่คือสุริยุปราคาแรกในชีวิตของพวกเขา ส่วนสุริยุปราคาในครั้งหน้า ดร.อุเทน เผยว่า สำหรับประเทศไทยต้องรอไปอีกประมาณ 3 ปีสำหรับสุริยุปราคาบางส่วน และอีก 53 ปีสำหรับสุริยุปราคาแบบเต็มดวง

"การจัดงานเพื่อสังเกตสุริยุปราคามีประโยชน์มากกว่าการให้คนจำนวนมากๆ มาส่องดวงอาทิตย์ด้วยกัน แต่เป็นการแสดงออกให้เห็นว่าเรากำลังสร้างสังคมวิทยาศาสตร์ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องความเชื่อกับคนไทยเป็นของคู่กัน ซึ่งบางคนจะโยงปรากฏการณ์นี้เข้ากับโหราศาสตร์ ทั้งที่ความจริงสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่ทุกวัน และที่สำคัญที่สุดผมยังหวังว่างานนี้จะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนรุ่นใหม่มีความรักในวิทยาศาสตร์ เพราะผมก็เป็นคนหนึ่งที่ได้แรงบันดาลใจอยากเป็นนักดาราศาสตร์จากการดูสุริยุปราคาเต็มดวงเมื่อปี 2538 เช่นกัน" ดร.อุเทน กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
สุริยุปราคาแบบบางส่วนจากหน้าจอแสดงผลของกล้องโทรทรรศน์
ภาพถ่ายดวงอาทิตย์จากแว่นสุริยะ
ประชาชนจำนวนมากทั้งชาวไทยและต่างประเทศสนใจเข้าร่วมกิจกรรมสังเกตสุริยุปราคา
ประชาชนกว่า 500 คนเข้าร่วมกิจกรรมที่สวนเบญจกิติ
ประชาชนจำนวนมากต่อคิวเข้าชมสุริยุปราคาผ่านกล้องอย่างเป็นระเบียบ
แผ่นฟิล์มกรองแสงช่วยถนอมสายตา
กล้องโทรทรรศน์แบบดอปโซเนียนกว่าสิบตัวถูกระดมมาวางให้ประชาชนได้ใช้
ประชาชนร่วมส่องดูสุริยุปราคาผ่านกล้องโทรทรรศน์ด้วยตัวเอง
ภาพดวงอาทิตย์เมื่อตกสู่ฉาก ช่วยให้การสังเกตปลอดภัย
ประชาชนส่องดูดวงอาทิตย์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่ติดฟิลเตอร์กรองแสง
เด็กหญิงส่องดวงอาทิตย์ด้วยแว่นสุริยะอย่างขะมักเขม้น
พี่สอนน้องใช้แว่นสุริยะ
นักวิจัย สดร. คอยให้คำแนะนำแก่ประชาชน
การสังเกตสุริยุปราคาทำได้เป็นบางช่วง เพราะฟ้ามีเมฆมาก
ดร.อุเทน แสวงวิทย์ นักวิจัยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)







เพิ่มมูลค่าพลอยเกรดต่ำด้วย "ลำไอออน" เทคโนโลยีอนุภาคความร้อนต่ำพลังงานสูงทางเลือกใหม่เอาใจคนรักอัญมณี ให้ประสิทธิภาพดีกว่าการเผา "ใสกว่า-สีสดกว่า-ทุ่นเวลา-ไม่ทำให้พลอยแตก" เพิ่มราคาเศษพลอยไร้ค่าได้ 10 เท่า อ่านต่อเพิ่มเติม www.manager.co.th/science #sciencenews #mgrscience #manageronline #jewelry #ion #chiangmai #university

A photo posted by AstvScience (@astvscience) on



กำลังโหลดความคิดเห็น