ในวันที่ 9 มีนาคม 2559 เกิดปรากกฏการณ์ สุริยุปราคา ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่น่าตื่นเต้นที่สุดในรอบปีนี้เลยก็ว่าได้ สำหรับในประเทศไทยจะสามารถสังเกตเห็นเป็นสุริยุปราคาแบบบางส่วน ตั้งแต่เวลา 6.30 – 8.30 น. โดยประมาณ ทางทิศตะวันออก พื้นที่ที่สังเกตเห็ยดวงอาทิตย์ถูกบังมากที่สุดคือ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ซึ่งทางตอนใต้ของประเทศจะสามารถเห็นการถูกบังได้มากที่สุด และที่ไม่ควรพลาดสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์แล้วหล่ะก็ ยิ่งไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
ในคอลัมน์นี้ผมจะมาแนะนำรูปแบบการถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนในแบบต่างๆ โดยก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับปรากฏการณ์สุริยุปราคาครั้งนี้กันก่อน
สุริยุปราคาเกิดขึ้นอย่างไร
สุริยุปราคาเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก โคจรมาเรียงอยู่ในแนวเดียวกันโดยมีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง เกิดขึ้นเฉพาะในวันที่ดวงจันทร์มีดิถีตรงกับจันทร์ดับ เมื่อสังเกตจากพื้นโลกจะเห็นดวงจันทร์เคลื่อนเข้ามาบดบังดวงอาทิตย์ โดยอาจบังมิดหมดทั้งดวงหรือบางส่วนก็ได้ ในแต่ละปีสามารถเกิดสุริยุปราคาบนโลกได้อย่างน้อย 2 ครั้ง สูงสุดไม่เกิน 5 ครั้ง
สำหรับประเทศไทย สามารถสังเกตอุปราคาครั้งนี้ได้ในเวลาเช้าของวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2559 ทั่วประเทศในลักษณะสุริยุปราคาบางส่วน โดยดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์มากที่สุดที่อำเภอเบตง, จังหวัดยะลา ที่ประมาณร้อยละ 69
แล้วสุริยุปราคาครั้งนี้เราจะถ่ายภาพกันแบบไหนได้บ้าง
เอาล่ะครับมาถึงตอนนี้เราก็มีข้อมูลการเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคากันพอแล้ว ทั้งเวลา สถานที่ ทีนี้เรามาดูว่าเราจะสามารถถ่ายภาพรูปแบบไหนกันบ้างสำหรับสุริยุปราคาแบบบางส่วน มาดูกันเลยครับ
สำหรับภาพแบบนี้หากใครที่ชอบก็ต้องมีเลนส์เทเลโฟโต้ ตั้งแต่ช่วงทางยาวโฟกัส 300 mm. เป็นต้นไป เพื่อเก็บภาพให้ได้ดวงอาทิตย์ที่ได้ลูกโตๆ และอีกอย่างที่สำคัญคือการหาฉากหน้าเพื่อนำมาเปรียบเทียบขนาดกับดวงอาทิตย์ ขณะเกิดปรากฏการณ์ด้วย ซึ่งในวันที่ 9 มีนาคม นี้ช่วงที่ดวงอาทิตย์ถูกบังมากที่สุดจะอยู่ที่เวลาประมาณ 7.30 น. โดยอยู่สูงจากขอบฟ้าประมาณ 15 องศา ดังนั้นหากใครต้องการถ่ายภาพแบบนี้ควรวางแผนเตรียมการหาสถานที่ไว้ล่วงหน้า รวมทั้งการวัดขนาดเชิงมุม ในการเปรียบเทียบขนาดของวัตถุที่เป็นฉากหน้ากับดวงอาทิตย์กันด้วยครับ สำหรับรายละเอียดตัวอย่างการถ่ายภาพสามารถอ่านตามลิงค์(http://goo.gl/X3dohz)
และในการการถ่ายภาพดังกล่าว หากบริเวณขอบฟ้ามีมวลอากาศ หรือฟ้าหลัวค่อนข้างมาก ก็จะช่วยกรองแสงให้ดวงอาทิตย์มีความเข้มแสงลดลง จนสามารถถ่ายภาพทั้งดวงอาทิตย์และรายละเอียดของฉากหน้าได้ในเฟรมเดียวกัน หรือหากในวันดังกล่าวท้องฟ้าใสเคลียร์ ภาพถ่ายที่ได้ก็อาจเป็นภาพถ่าย ซิลลูเอท (Silhouette) หรือ ภาพเงาดำ
อุปกรณ์ที่จำเป็นในการถ่ายภาพ
สำหรับการถ่ายภาพสุริยุปราคาแบบนี้ คงหนีไม่ไพ้นสิ่งแรกคือ Solar Filter ซึ่งก็มีให้เลือกใช้หลากหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบ Black polymer solar filter ซึ่งจะได้ดวงอาทิตย์สีส้ม หรือแบบ Mylar solar filter จะได้ดวงอาทิตย์สีขาว หรืออาจใช้ ND filter ที่มีขายทั่วไปตามร้านขายอุปกรณ์ถ่ายภาพ ซึ่งอาจต้องใช้เบอร์สูงๆ ที่มีความทึบแสงมากๆ
สำหรับการถ่ายภาพแบบซีรีย์ เลนส์ที่นิยมนำมาใช้ถ่ายควรเป็นเลนส์ทางยาวโฟกัสประมาณ 50-70 mm. เพราะจะสามารถเก็บภาพได้ตลอดทั้งปรากฏการณ์ โดยในการถ่ายภาพควรวัดระยะเชิงมุมการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์จากจุดเริ่มต้น จนถึงจุดสิ้นสุดปรากฏการณ์ ซึ่งในสุริยุปราคาครั้งนี้ใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง หรือ ประมาณ 30 องศา โดยถ่ายภาพในแต่ละช่วงห่างกันประมาณ 3-4 นาที หรืออาจถ่ายทุกๆ 1 นาที เพื่อนำมาเลือกช่วงที่เหมาะสมได้ในภายหลังก็ได้
ทั้งนี้ควรวางแผนตรวจสอบแนวการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์จากโปรแกรมก่อน เพื่อใช้ในการจัดองค์ประกอบภาพ เช่น โปรแกรม Stellarium ซึ่งก่อนเริ่มถ่ายภาพควรถ่ายภาพฉากหน้าไว้ล่วงหน้า เพื่อใช้ในการรวมกับภาพดวงอาทิตย์อีกหลายสิบภาพในภายหลังอีกครั้ง (เนื่องจากภาพของดวงอาทิตย์ขณะเกิดปรากฏการณ์เราต้องถ่ายผ่าน Solar filter ซึ่งจะเห็นเพียงดวงอาทิตย์เท่านั้น) และหลังจากได้ทั้งภาพดวงอาทิตย์ทั้งซีรีย์ที่นำมาต่อเรียงกันแล้วก็นำไปซ้อนทับกับภาพฉากหน้าอีกครั้งใน Photoshop ก็จะได้ภาพสุริยุปราคาแบบซีรีย์ที่สวยงาม
อุปกรณ์ที่จำเป็นในการถ่ายภาพ
อุปกรณ์สำหรับการถ่ายภาพสุริยุปราแบบซีรีย์ ก็ไม่มีอะไรมากเพียงกล้องดิจิตอลกับเลนส์ทางยาวโฟกัส 50 mm. พร้อมกับ Solar Filter สักแผ่นก็สามารถออกไปเก็บภาพแบบนี้ได้แล้วครับ
สำหรับอีกรูปแบบหนึ่งของการถ่ายภาพปรากฏการ์สุริยุปราคา ก็คือการถ่ายภาพปรากฏการณ์แบบมุมแคบ ซึ่งการถ่ายภาพประเภทนี้จำเป็นต้องใช้เลนส์เทเลโฟโต้ที่มีทางยาวโฟกัสสูงๆ หรือการถ่ายภาพผ่านกล้องโทรทรรศน์ทางยาวโฟกัสตั้งแต่ 1,000 mm. ขึ้นไป ซึ่งจำเป็นต้องถ่ายภาพ Solar Filter เพื่อให้ได้รายละเอียดของจุดบนดวงอาทิตย์ (Sun spot) และช่วงต่างๆ ขนณะดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์บดบัง
อุปกรณ์ที่จำเป็นในการถ่ายภาพ
สำหรับแผ่นกรองแสงที่นักดาราศาสตร์นิยมใช้ในการถ่ายภาพดวงอาทิตย์ก็คือ แผ่นกรองแสงดวงอาทิตย์แบบ แบบ Black polymer solar filter
นอกจากการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอล SLR ผ่านกล้องโทรทรรศน์แล้ว ปัจจุบันยังมีผู้ผลิตอุปกรณ์เสริมสำหรับการถ่ายภาพในไทย (SUVIT-TELESCOPE (สุวิทย์ เทเลสโคป) ทางเฟสบุ๊ค) ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าไปสอบถามได้ตามช่องทางเฟสบุ๊ค ซึ่งผมได้นำตัวอย่างการใช้งานอุปกรณ์เสริมสำหรับถ่ายภาพด้วยกล้องสมาร์ทโฟน และกล้องดิจิตอลคอมแพค มาให้ชมเผื่อมีใครสนใจก็สามารถสอบถามสั่งซื้อ ไว้ใช้ถ่ายภาพสุริยุปราคากันได้ครับ
เอาล่ะครับมาถึงตอนท้ายนี้ผมก็หวังว่าหลายท่านคงคิดออกกันแล้วว่า เราจะวางแผนถ่ายภาพกันในรูปแบบ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการถ่ายภาพปรากฏการณสุริยุปราคาครั้งนี้ก็คือ ข้อควรระวังขณะถ่ายภาพ เพราะแสงของดวงอาทิตย์ที่ถูกดวงจันทร์บดบังเป็นเพียบบางส่วนเท่านั้น ความเข้มแสงยังคงมีความเข้มสูงมาก หากการถ่ายภาพไม่มีอุปกรณ์กรองแสงอย่างปลอดภัยก็จะทำให้เกิดอันตรายต่อดวงตา และอาจเกิดความเสียหายต่ออุปกรณ์ถ่ายภาพของเราได้นะครับ
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน