อีกไม่กี่อึดใจเราก็จะได้เห็นสุริยุปราคากันแล้ว แต่คงไม่ดีแน่หากปรากฏการณ์สำคัญทางดาราศาสตร์ที่เฝ้ารอกลับสร้างอันตรายให้กับดวงตาของเรา เพราะในแสงจ้าของดวงอาทิตย์คือรังสียูวีและอินฟราเรดพลังงานสูงที่พร้อมทำลายเยื่อบุนัยตาได้ทันทีหากสังเกตดวงอาทิตย์ผิดวิธี วันนี้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงรวบรวมเทคนิคดีๆ สำหรับการสังเกต “สุริยุปราคา” แบบง่ายๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้
ข้อมูลจากเพจของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ระบุว่า การสังเกตสุริยุปราคาอย่างปลอดภัยแบ่งเป็น 2 แบบ คือ “สังเกตแบบทางตรง” และ “สังเกตแบบทางอ้อม” โดยวิธีสังเกตทางตรงต้องใช้กล้องโทรทรรศน์สำหรับดูดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ กล้องโทรทรรศน์ที่ติดฟิลเตอร์กรองแสง หรือแว่นสุริยะที่ทำจากแผ่นฟิล์มพอลิเมอร์ดำหรือฟิล์มไมลาร์ซึ่งเป็นฟิล์มสีดำทึบ
ส่วนการสังเกตทางอ้อมนั้นจะใช้ฉากรับแสง เพื่อสังเกตรูปร่างของเงาที่ทาบลงบนฉากนั้น ซึ่งสามารถใช้อุปกรณ์ใกล้ตัว เช่น กระดาษทึบ เจาะรูเล็ก ๆ ให้แสงลอดผ่าน แล้วทาบเงาลงบนพื้นผิวอื่น จะเห็นเงาที่ทอดลงเป็นวงกลมเว้าไปบางส่วน ซึ่งคล้ายกับหลักการของ “กล้องรูเข็ม” หรืออาจใช้กระชอนคั้นกะทิ, ลังถึง ไปจนถึงการอาศัยธรรมชาติอย่างร่มไม้ที่มีแสงแดดลอดลงมาเป็นจุดเล็กๆ ก็ได้
ด้านสมาคมดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย ก็ได้สอนวิธีการประดิษฐ์เครื่องมือสังเกตสุริยุปราคาแบบง่ายๆ ผ่านเพจของสมาคมฯ เช่นกัน โดยเป็นวิธีอาศัยการสังเกตเงาที่สะท้อนจากกระจก สำหรับอุปกรณ์ที่ต้องใช้ประกอบด้วย
กระจกส่องหน้ารูปแบบกลมหรือเหลื่ยมก็ได้ (ควรเป็นแบบมีขาตั้งที่ปรับระดับองศาได้) กระดาษขาว A4, กรรไกรและดินสอ โดยเริ่มต้นจากการวาดวงกลมตามขนาดกระจกลงบนกระดาษA4 จากนั้นหาจุดศูนย์กลางวงกลมแล้ววาดรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 1x1 เซนติเมตรลงไป แล้วตัดออกมาติดบนแผ่นกระจก แล้วนำไปวางกลางแจ้งให้กระจกทำมุมกับแสงอาทิตย์ ห่างจากผนังหรือฉากรับประมาณ 10 เมตรโดยให้แสงกระจกสะท้อนเข้าหาผนังตึก จนเห็นแสงสะท้อนเป็นวงกลมจากดวงอาทิตย์ ซึ่งถ้าขณะเกิดสุริยุปราคาบางส่วน จะสังเกตวงกลมนั้นเว้าแหว่งไปคล้ายกับการสังเกตโดยตรง