“เส้นทางสายไหม” เคยเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญในอดีต ส่วนผ้าไหมสวยแต่ละผืนก็มีขั้นตอนสำคัญมากมาย ทีมข่าววิทยาศาสตร์พาทุกคนไปคุยกับผู้มีประสบการณ์ตรง เพื่อย้อนกลับไปดูที่มากว่าจะเป็นผ้าไหมอันทรงคุณค่าแต่ละผืนนั้น ต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง
นางประคอง บุญขจร หัวหน้ากลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทอผ้า ต.หนองบ่อ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า กว่าจะเป็นผ้าไหมแต่ละผืนต้องผ่านกระบวนการซับซ้อนเป็นจำนวนมาก ทำให้ผ้าไหมมีราคาแพงและต้องใช้เวลาการผลิตนานหลายเดือนหากเริ่มนับการผลิต ตั้งแต่ขั้นต้นที่เป็นส่วนของการเลี้ยงหนอนไหมไปจนถึงการทอเพื่อเพิ่มคุณค่า ผลิตภัณฑ์
ทว่าการเลี้ยงหนอนไหมคงดำเนินไปไม่ได้หากไม่มีอาหาร ฉะนั้นการดำเนินการขั้นแรกสุดสำหรับเส้นทางสายไหมจึงเป็นการ "เตรียมใบหม่อน" ซึ่งนางประคอง เผยว่า ผู้เลี้ยงไหมจะต้องปลูกไว้ทุกบ้านเรือน โดยจะเริ่มปลูกในเดือน มิ.ย. ถึง ก.ค. ซึ่งเป็นเดือนก่อนหน้าฝนแล้วรดน้ำพรวนดินอย่างดีให้ต้นหม่อนมีอายุประมาณ 8 เดือนขึ้นไปจึงจะเก็บใบมาใช้เลี้ยงหนอนไหมได้
จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอน "การทำไข่ไหม"โดยการนำเอารังไหมตัวผู้ ซึ่งมีลักษณะหัวท้ายแหลม และรังไหมตัวเมียซึ่งมีลักษณะปลายหนึ่งทู่ปลายหนึ่งแหลมมาอยู่ด้วยกัน จนพัฒนาเป็นผีเสื้อตัวเต็มวัยสีขาวบริสุทธิ์ที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า "บี้" แล้วจึงทิ้งระยะให้เกิดการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติจนตัวเมียตั้งท้อง
ผีเสื้อบี้จะออกไข่คราวละจำนวนมากนับล้านฟอง แต่จะมีไม่ถึงหมื่นฟองในแต่ละครั้งที่จะเจริญต่อไปได้จนเป็นตัวเต็มวัย โดยไข่ในระยะแรกจะมีสีขาวและเริ่มคล้ำขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 1 สัปดาห์จึงจะเริ่มแตกออกเป็นตัวอ่อนที่เรียกว่าไหมวัยอ่อน ซึ่งในระยะนี้จะเริ่มให้ใบหม่อนสับละเอียดเป็นอาหารเป็นเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นไหมวัยอ่อนจะเข้าสู่ระยะหนอนขี้ขนที่หนอนจะนอนอย่างเดียวโดยไม่กิน อาหารประมาณ 3-5 วันเมื่อหนอนตื่นจึงเริ่มให้ใบหม่อนชิ้นใหญ่ สลับทำแบบนี้ไเรื่อยๆ จึงหนอนพืนระยะการนอนครั้งที่ 3 จึงเริ่มให้ใบหม่อนทั้งใบเป็นเวลา 3 มื้อเหมือนคน
เมื่อหนอนมีอายุประมาณ 1 เดือนและได้รับอาหารเต็มที่ นางประคองกล่าวว่า อีกไม่เกิน 5-7 วันหนอนจะเริ่มสุกซึ่งสังเกตได้จากสีของลำตัวที่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้มนวล เหมือนขมิ้น ซึ่งในช่วงนี้ชาวบ้านจะต้องเร่งเก็บหนอนใส่จ่อที่มีลักษณะเหมือนรังเขาวงกต ทำจากไม้ไผ่สาน แล้วนำผ้าปิดไว้เพื่อให้ความอบอุ่นเป็นเวลา 3 วัน หลังครบกำหนดเปิดจ่อก็จะพบกับรังไหมสีเหลืองทองที่ปกคลุมตัวดักแด้ตัวกลมไว้ ภายใน ซึ่งในระยะนี้เหมาะสมที่สุดสำหรับการเก็บมาต้มเพื่อสาวเอาเส้นไหม เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้นานเกินไปจนดักแด้กลายเป็นผีเสื้อ เส้นไหมจะยุบตัวจนแฟบไม่สามารถสาวออกมาใช้งานได้
หลังได้รังไหมคุณภาพดี นางประคองกล่าวว่าขั้นตอนต่อไปคือการสาวเส้นไหมออกจากรัง ด้วยการนำรังไหมลงไปต้มในน้ำร้อนให้เส้นไหมค่อยๆ คลายตัวออกมา แล้วจึงกวักเข้าอักและตีเกลียวด้วยเครื่องมือแบบภูมิปัญญาที่ใช้สืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน เพื่อให้เส้นไหมมีความเหนียวนุ่มไม่ขาดง่ายเวลาใช้งาน ก่อนจะนำไปต้มในน้ำด่างเพื่อลอกเอากาวไหม ที่เป็นตัวกีดกันความสามารถในการย้อมติดสีออก และนำไปทอเป็นผืนไหมต่อไป
มากกว่าการอนุรักษ์ภูมิปัญญาดังกล่าวมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ นางประคองเผยว่า เธอยังได้ค้นคว้าตำราเพิ่มเติมเกี่ยวกับการนำเปลือกไม้และใบไม้มาย้อมสี จนเกิดเป็นสีย้อมไหมจากธรรมชาติแทนของเดิมที่นิยมใช้สีเคมีซึ่งเป็นอันตราย ต่อผู้ย้อมในระยะยาว โดยเธอเลือกใช้เปลือกไม้ในท้องถิ่นกว่า 10 ชนิดมาผ่านกรรมวิธีลับจนสร้างสีสันได้มากมาย อาทิ เปลือกมะโหดให้สีเหลืองสดใส เปลือกต้นก่อให้สีน้ำตาลแดง ใบต้นแก้วให้สีเขียว เปลือกสาบเสือให้สีเหลือง ใบ กระถินณรงค์ให้สีน้ำตาลทอง เปลือกคูณให้สีน้ำตาลไหม้ เปลือกยูคาลิปตัสให้สีน้ำตาล เปลือกเพกาให้สีเขียวขี้ม้า และเปลือกมะเกลือให้สีดำ ซึ่งการย้อมไหม 1 กิโลกรัมจะใช้เปลือกไม้สำหรับทำสีประมาณ 3 กิโลกรัม ส่วนใบไม้จะใช้ประมาณ 3-5 กิโลกรัม
ด้วยความสำเร็จของการลองผิดลองถูกเพื่อทดลองทำสีย้อมจากธรรมชาติของนางประคองดังกล่าว ทำให้ในปี 2553 ผศ.ดร.สุดาพร ตังควนิช อาจารย์สาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี สนใจนำงานวิจัยขั้นต้นไปต่อยอดด้วยการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชุดสีธรรมชาติให้ เป็นรูปแบบผงจากเดิมที่เป็นสีน้ำ เพื่อให้ใช้งานง่ายขึ้น เหมาะสำหรับงานพิมพ์สกรีน และงานผ้าบาติกสำเร็จรูปในชื่อการค้า "ใบบัว" ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าวได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในปีงบประมาณ 2555 ด้วย
เมื่อเร็วๆ นี้นางประคองยังได้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ผลิตไหมภายในบูธ “เส้นทางสายไหม” ซึ่งมีสารพัดเครื่องมือพร้อมผู้เฒ่าผู้แก่มาสาธิตวิธีผลิตเส้นไหมให้ชมอย่างอลังการ และเป็นส่วนหนึ่งของงานมหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ประจำปี 2559 ที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง วช., มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ภายใต้แนวคิด "วิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น" ณ หอประชุมไพรพะยอม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี
นอกจากนิทรรศการเส้นทางสายไหมภายในงานยังประกอบไปด้วยผลงานวิจัยจากหน่วยงาน เครือข่ายวิจัยภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่า 199 ผลงานจาก 42 หน่วยงาน ที่แบ่งออกได้เป็น 6 ด้านได้แก่ ด้านอาหารและการเกษตร, การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ, การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม, การศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่น, โครงการตามแนวพระราชดำริ และอาเซียน รวมไปถึงภาคการเสวนาในหัวข้อต่างๆ อาทิ การบริหารจัดการน้ำของจ.อุบลราชธานี พร้อมกันนี้ยังมีพื้นที่เจรจาธุรกิจเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้พบกับ นักวิจัยเพื่อต่อยอดงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์และสาธารณะด้วย