xs
xsm
sm
md
lg

SuperSci: สาวไหมไฮสปีดด้วย "พลังงานแสงอาทิตย์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รู้ไหมกว่าจะทำผ้าไหมได้แต่ละผืน ทำไมจึงใช้เวลานาน เพราะการสาวไหม 1 กระด้งด้วยวิธีของชาวบ้านก็กินเวลาเต็มๆ ไปถึง 1 วัน นักวิจัยราชภัฏสุรินทร์จึงคิดค้นนวัตกรรมใหม่ช่วยชาวบ้านด้วยการผลิต "เครื่องสาวไหมพลังงานแสงอาทิตย์" เครื่องมือใช้ง่ายไม่สิ้นเปลืองไฟฟ้า ที่สาวไหมได้เร็วกว่าถึง 8 เท่า



SuperSci สัปดาห์นี้ขอพาทุกคนออกมาดูมิติใหม่แห่งวงการผ้าไหมไทย กับเครื่องสาวไหมพลังงานแสงอาทิตย์ โดยฝีมือของคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ที่วันนี้ยกสิ่งประดิษฐ์อันภาคภูมิใจมาสาวไหมให้ดูกันแบบสดๆ กลางงานมหกรรมงานวิจัยภูมิภาค ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เมื่อช่วงต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

นายเอกราช นาคนวล ผู้ช่วยนักวิจัย กล่าวว่า เครื่องสาวไหมพลังงานแสงอาทิตย์ที่นำมาจัดแสดงเป็นผลงานการประดิษฐ์คิดค้นของ รศ.ดร.ชูชาติ พยอม คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ และคณะ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อทุ่นแรงและทำให้การสาวไหมของชาวบ้านทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้นโดยไม่ต้องเสียค่าพลังงานไฟฟ้าด้วยการใช้แผงโซลาร์เซลล์ช่วยสะสมพลังงาน

เอกราช เท้าความว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เมื่อหนอนไหมสุกเป็นดักแด้และเริ่มพันไหมรอบตัวจนสมบูรณ์ ชาวบ้านจะนำรังไหมมาต้มในนำร้อน พร้อมกับตีด้วยไม้พายเพื่อเกี่ยวเส้นไหมให้ยืดยาวออกมาก่อนจะม้วนเก็บเข้าสู่อัก ด้วยการหมุนมือก่อนจะนำไปเข้าสู่กระบวนการอื่นๆ ในแต่ละวันจะทำได้เพียง 1 กระด้ง ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ

เมื่อประมาณ 5 ปีก่อน อาจารย์ของเขาจึงริเริ่มการประดิษฐ์เครื่องสาวไหมแบบใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขึ้น และพัฒนามาเรื่อยๆ จนในที่สุดได้เพิ่มระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามา ทำให้ในปีงบประมาณ 2546 โครงการวิจัยฯ ได้รับทุนอุดหนุนการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยภายใต้โครงการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยและนวัตกรรม จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

เอกราช อธิบายเพิ่มเติมว่า เครื่องสาวไหมพลังงานแสงอาทิตย์ทำขึ้นจากเหล็กทั้งตู้ มีน้ำหนักประมาณ 40 กิโลกรัม ประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญด้วยกัน ได้แก่ สวิตซ์ควบคุม เป็นสวิทซ์กุญแจที่ใช้เปิดปิดการทำงานของเครื่องสาวไหม, เกจวัดระดับพลังงาน เป็นเกจที่บอกถึงระดับของพลังงานในแบตเตอรี่ โดยเมื่อมีพลังงานเต็มไฟจะมีสีเขียว ส่วนสีแดงคือเตือนให้เริ่มชาร์ตไฟ

ส่วนที่ 3 คือ ชุดควบคุมความเร็วอักกรอ เป็นชุดสำหรับเพิ่มหรือลดความเร็วของอักตามชนิดของรังไหมแต่ละสายพันธุ์หรือแล้วแต่ความต้องการของผู้สาวไหม และชุดชาร์ตพลังงาน เป็นชุดที่ใช้สะสมพลังงานเข้าในแบตเตอรี่ โดยชาร์ตได้เป็น 2 ระบบ ได้แก่ ระบบชาร์ตด้วยแสงอาทิตย์โดยการเสียบปลั๊กเข้าที่ชาร์ตระบบไฟฟ้ากระแสตรง และระบบชาร์ตด้วยไฟฟ้าภายในบ้านที่ชาร์ตเข้ากับปลั๊กไปกระแสสลับ โดยการชาร์ตไฟแต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมง ต่อการใช้งานต่อเนื่อง 2 วัน

"ตอนนี้เราผลิตออกมาได้ 4 เครื่องแล้วครับ แล้วก็แจกจ่ายไปที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ วิทยาเขตวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมาทั้งหมด เพราะที่นั่นมีศูนย์ที่จะนำไปติดตั้งให้ชาวบ้าน สอนชาวบ้านใช้อีกที ซึ่งพอชาวบ้านได้ใช้เขาก็ชอบใจ เพราะมันใช้ง่าย คล้ายเครื่องเดิมที่เคยใช้อยู่ เพราะตอนออกแบบอาจารย์ก็ตั้งใจถอดมาจากเครื่องมือของชาวบ้านเลยเพื่อไม่ใช่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเขา ส่วนในอนาคตก็จะพัฒนาต่อเป็นเครื่องสาวไหมอีลี่ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการแต่สาวยากกว่า" เอกราช กล่าวทิ้งท้าย











เพิ่มมูลค่าพลอยเกรดต่ำด้วย "ลำไอออน" เทคโนโลยีอนุภาคความร้อนต่ำพลังงานสูงทางเลือกใหม่เอาใจคนรักอัญมณี ให้ประสิทธิภาพดีกว่าการเผา "ใสกว่า-สีสดกว่า-ทุ่นเวลา-ไม่ทำให้พลอยแตก" เพิ่มราคาเศษพลอยไร้ค่าได้ 10 เท่า อ่านต่อเพิ่มเติม www.manager.co.th/science #sciencenews #mgrscience #manageronline #jewelry #ion #chiangmai #university

A photo posted by AstvScience (@astvscience) on



กำลังโหลดความคิดเห็น